รมว.คลังสั่งถอนใบอนุญาต”เอเชียประกันภัย 1950”

HoonSmart.com>>รมว.คลัง เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 ฐานะไม่มั่นคงหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินกว่า 1.5 พันล้านบาท  คปภ. เร่งรัดการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เอาประกันภัยได้กว่า 13,000 ราย เป็นเงินกว่า 800 ล้านบาท ตั้งกองทุนประกันวินาศภัย เป็นผู้ชำระบัญชี จับมือ 13 บริษัทประกันวินาศภัยเข้าดูแล ย้ำเป็นปัญหาฐานะการเงินบริษัทไม่กระทบระบบ

ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยบริษัท เอเชียประกันภัย 1950 ตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค. 2564 เป็นต้นไป เนื่องจากบริษัทฯ มีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน มีฐานะการเงินไม่มั่นคง ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด มีการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน และไม่มีความสามารถและความพร้อมที่จะรับประกันภัยและประกอบธุรกิจประกันภัย

ถ้าให้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยต่อไป จะทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนหรือผู้เอาประกันภัย และความน่าเชื่อถือของธุรกิจประกันภัย ซึ่งการเพิกถอนใบอนุญาตบริษัท เอเชียประกันภัยเป็นปัญหาฐานะการเงินและการจัดการภายในของบริษัทฯ จึงไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเงินหรือสภาพคล่องของบริษัทประกันวินาศภัยอื่น หรือธุรกิจประกันภัยในภาพรวม

คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ซึ่งได้อาศัยอำนาจกฎหมายแต่งตั้งให้กองทุนประกันวินาศภัย เป็นผู้ชำระบัญชี และเตรียมมาตรการช่วยเหลือผู้เอาประกันภัย เพื่อมิให้ผู้เอาประกันภัยได้รับผลกระทบไว้แล้ว ดังนี้
1.บูรณาการความร่วมมือกับกองทุนประกันวินาศภัย (ในฐานะผู้ชำระบัญชี) และบริษัทประกันวินาศภัย จำนวน 13 บริษัท
(1) ผู้เอาประกันภัยที่ได้รับความเสียหายและได้ยื่นเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนไว้กับบริษัทฯ แล้ว ให้ติดต่อกองทุนประกันวินาศภัย โดยกองทุนประกันภัยวินาศภัยจะเข้ารับช่วงจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามที่ได้มีการอนุมัติค่าสินไหมทดแทนไว้แล้ว
(2) ผู้เอาประกันภัยที่ได้รับความเสียหายแล้ว แต่ยังไม่ได้ยื่นเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนไว้กับบริษัทฯ ให้ยื่นเรียกร้อง ค่าสินไหมทดแทนจากกองทุนประกันวินาศภัย ซึ่งจะพิจารณาค่าสินไหมทดแทนตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย

(3) ผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยทุกประเภท สามารถที่จะดำเนินการในส่วนของกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว ดังนี้
– ขอรับคืนเบี้ยประกันภัยที่เหลือจากกองทุนประกันวินาศภัย โดยกองทุนประกันวินาศภัยจะคืนเบี้ยประกันภัย ให้ตามส่วนระยะเวลาตามความคุ้มครองที่เหลืออยู่ หรือ
– นำเบี้ยประกันภัยที่จะได้รับคืนไปใช้แทนเงินสดในการเลือกซื้อประกันภัยได้จากบริษัทประกันวินาศภัยที่เข้าร่วมโครงการ ได้ทุกประเภทกรมธรรม์ประกันภัย

(4) ผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สามารถนำเบี้ยประกันภัย ไปซื้อความคุ้มครอง COVID-19 จากบริษัท ทิพยประกันภัย ซึ่งจะให้ความคุ้มครองเฉพาะภาวะโคม่า ในวงเงินความคุ้มครอง 300,000 บาท เบี้ยประกันภัย 300 บาท หรือนำเบี้ยประกันภัยไปซื้อความคุ้มครองกับบริษัทประกันวินาศภัยที่เข้าร่วมโครงการ โดยจะได้ส่วนลดเบี้ยประกันภัยเพิ่มอีก 10% ของกรมธรรม์ใหม่ แต่ไม่เกิน 500 บาท ยกเว้นกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของบริษัท ทิพยประกันภัย และกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.)

นอกจากนี้ได้จัดตั้งศูนย์ให้คำแนะนำ รับเรื่องร้องเรียน และอำนวยความสะดวกในการรับคำขอรับชำระหนี้ รวมทั้งการสนับสนุนบุคลากรในการรับคำขอรับชำระหนี้ ทั้งที่สำนักงาน คปภ. ส่วนกลางและสำนักงาน คปภ. ส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อให้บริการแก่ ผู้เอาประกันภัยและประชาชนเป็นไปอย่างรวดเร็วและทั่วถึง

สำนักงาน คปภ. ได้พัฒนา Web Application โดยเฉพาะขึ้น เพื่อให้สามารถติดต่อสื่อสารกับผู้เอาประกันภัยได้รวดเร็วขึ้น โดยระบบจะแจ้งข้อมูลไปยังผู้เอาประกันภัยทางออนไลน์ และ บูรณาการความร่วมมือกับกองทุนประกันวินาศภัยและสมาคมประกันวินาศภัยไทย จัดเตรียมหมายเลขโทรศัพท์รวม 47 คู่สาย เพื่อตอบข้อซักถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยจะเพิ่มเป็น 100 คู่สาย ในระยะถัดไป

“ที่ผ่านมาคปภ. เร่งรัดการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยได้กว่า 13,000 ราย เป็นเงินกว่า 800 ล้านบาท ซึ่งทรัพย์สินของบริษัทฯ ก็ยังไม่เพียงพอที่จะดูแลค่าเคลมที่ทยอยเข้ามาเรื่อย ๆ ได้ โดย ณ วันที่ 30 ก.ย.2564 บริษัทมีสินทรัพย์รวม 3,713.48 ล้านบาท และมีหนี้สินรวม 5,256.54 ล้านบาท จึงมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน 1,543.06 ล้านบาท และบริษัทฯ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาฐานะการเงินได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเพิกถอนใบอนุญาต เพื่อให้กองทุนประกันวินาศภัยเข้ามาดูแล โดยใช้เงินกองทุนฯดูแลผู้เอาประกันภัย” เลขาธิการ คปภ.กล่าว

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิด และประกันภัยโควิดก็ได้รับความนิยม ทำให้ยอดขายทำลายสถิติประกันภัยประเภทอื่น โดยตั้งแต่กลางเดือนเม.ย. ถึง มิ.ย. 2564 มีคนซื้อกรมธรรม์มากถึง 15 ล้านกรมธรรม์ แต่ปัจจุบันยอดการเคลมประกันภัยสถานการณ์ดีขึ้น ถือว่าผ่านจุดสูงสุดแล้ว ซึ่งการปิดบริษัทเอเชียประกันภัย ทุกฝ่ายได้พยายามแก้ปัญหาอย่างดีที่สุดแล้ว โดยเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง