9 เดือน “กองทุนน้ำมัน”ผลตอบแทนสูงสุด 65% ลุ้นเปิดเมืองหนุนเงินเข้ากองหุ้นไทย

HoonSmart.com>> “มอร์นิ่งสตาร์” เปิดผลตอบแทนเฉลี่ยกองทุน 9 เดือนปี 64 “กองทุนน้ำมัน” สูงสุด 64.70% หลังราคาน้ำมันดิบพุ่งแรง “กองทุนหุ้นจีน” ติดลบหนักสุด 10% ด้านกองทุนหุ้นไทยขนาดกลางและเล็กติดชาร์ตอันดับ 4 แจกกำไร 22% ส่วนกองทุนหุ้นไทยขนาดใหญ่ทำได้ 12.50% ลุ้นเปิดประเทศ นักท่องเที่ยวเข้าไทย หนุนกองทุนหุ้นไทยน่าสนใจขึ้น ดึงเงินไหลเข้าลงทุน

น.ส.ชญานี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาส 3/2564 ที่ผ่านมา สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ในประเทศไทยเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าช่วงกลางปี ทำให้ภาครัฐมีการผ่อนคลายมาตรการ หลายภาคธุรกิจเริ่มกลับมาเปิดให้บริการ ซึ่งจะนำไปสู่แผนการเปิดประเทศในช่วงเดือนพ.ย. ที่อาจส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวที่เป็นส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยซึ่งตรงกับช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงในช่วงต้นของไตรมาส 3/2564 และปรับตัวขึ้นไปปิดที่ระดับสูงกว่าไตรมาสที่ 2 เล็กน้อย โดย SET Index ปิดที่ 1,605.68 จุด โดย SET TR 3 เดือนอยู่ที่ 2.1% และรอบ 9 เดือนอยู่ที่ 13.8%

สำหรับภาพการลงทุนต่างประเทศมีปัจจัยลบที่สำคัญจากจีนมาตั้งแต่เดือนก.ค.เช่น ความปลอดภัยของข้อมูลกรณีบริษัท Didi การห้ามให้โรงเรียนติวเตอร์แสวงหากำไรจากการทำธุรกิจ มาจนถึงประเด็นผิดนัดชำระหนี้ของบริษัท China Evergrande ที่สะท้อนไปยังผลตอบแทนการลงทุนในหุ้นจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะเดียวกันทางฝั่งสหรัฐฯ ที่มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและสะท้อนไปยังอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ส่งผลต่อบอนด์ยีลด์ให้เริ่มขยับขึ้นและทำให้ตลาดหุ้นจีนปรับตัวลดลง

ด้านผลตอบแทนเฉลี่ยรายกลุ่มกองทุนตั้งแต่ต้นปี 2564 ถึง 30 ก.ย.2564 กองทุนน้ำมัน (Commodities Energy) ทำได้สูงสุด 64.70% และ 1 ปีย้อนหลังสูงสุดเช่นเดียวกันอยู่ที่ 87.10% รองลงมากองทุนหุ้นอินเดีย ผลตอบแทน 29.40% กองทุนหุ้นอาเซียน 16% กองทุนหุ้นไทยขนาดกลางและเล็ก (Equity Small/Mid-Cap) 22% กองทุนหุ้นยุโรป (Europe Equity) 18% กองทุนหุ้นสหรัฐฯ (US Equity) 15.50% กองทุนหุ้นไทยขนาดใหญ่ (Equity-Largecap) 12.50% เป็นต้น ขณะที่กองทุนหุ้นจีน ผลตอบแทนติดลบสูงสุดอยู่ที่ 10.30% เฉพาะไตรมาส 3/2564 ติดลบ 13.9%

“การลงทุนในกองทุนน้ำมัน ราคามีความผันผวนค่อนข้างสูง ซึ่งปัจจุบันราคาปรับตัวขึ้นมาสูงสุดในรอบหลายๆ ปีและอนาคตการใช้น้ำมันเป็นพลังงานอาจไม่สูงมากเหมือนในอดีต นักลงทุนจึงไม่ควรดูเพียงผลตอบแทนจากปัจจุบัน อีกทั้งที่ผ่านมาเม็ดเงินลงทุนในกองทุนน้ำมันมีสัดส่วนที่น้อยมาก ปัจจุบันกองทุนน้ำมันมีมูลค่าทรัพย์สิน 3.5 พันล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี 2563 อยู่ที่ 4.2 พันล้านบาท ขณะเดียวกันพบเงินไหลออกจากกองทุนน้ำมันไตรมาส 3/2564 กว่า 874 ล้านบาท และ 9 เดือนไหลออกกว่า 2,860 ล้านบาท อาจเป็นเพราะนักลงทุนบางคนติดลบอยู่นานแล้ว พอผลตอบแทนปรับตัวขึ้นมาจึงขาย เช่นเดียวกับกองทุนทองคำที่เงินยังไหลออก”น.ส.ชญาณี กล่าว

กองทุนหุ้นไทย (ไม่รวม LTF, RMF, SSF) มีมูลค่าทรัพย์สินรวม 2.3 แสนล้านบาท ลดลง 0.7% จากไตรมาสที่ 2 แต่ยังสูงกว่าสิ้นปี 2563 อยู่ 1.3% ซึ่งเป็นผลจากผลตอบแทนหุ้นไทยที่เพิ่มขึ้นในช่วง 9 เดือนแรก โดย SET TR อยู่ที่ 13.8% นับตั้งแต่การยกเลิกกองทุน LTF ซึ่งโดยปกติจะเป็นแรงซื้อหุ้นไทยในช่วงที่ตลาดปรับตัวลง ประกอบกับความนิยมการลงทุนต่างประเทศที่สูงขึ้น ทำให้กองทุนหุ้นไทย (ไม่รวม LTF RMF SSF) ยังคงมีแรงขายออกอย่างต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 7 โดยในไตรมาสล่าสุดมีเงินไหลออกสุทธิ 4.1 พันล้านบาท สะสม 9 เดือนของปีนี้เป็นเงินไหลออกสุทธิ 1.8 หมื่นล้านบาท แต่ด้วยผลตอบแทนที่เป็นบวกทำให้มูลค่าทรัพย์สินทรัพย์าทรงตัวในปีนี้ หากไม่รวมมูลค่าทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นจากผลตอบแทนจะพบว่าขนาดของกองทุนยังหดตัวลง

“หากเริ่มเปิดประเทศและเศรษฐกิจมีทิศทางที่ดีขึ้น น่าจะส่งผลให้มีเงินลงทุนไหลกลับเข้ามาในกองทุนหุ้นไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าผลตอบแทนกองทุนหุ้นไทยเมื่อเทียบหุ้นต่างประเทศอาจไม่น่าสนใจมากนัก ทำให้การลงทุนต่างประเทศยังได้รับความสนใจจากนักลงทุน มีเม็ดเงินไหลเข้าไปลงทุนมากขึ้น ดังนั้นการเปิดประเทศอาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยทำให้หุ้นไทยน่าสนใจขึ้นได้ แต่กว่าจะเห็นผลน่าจะเป็นปี 2565 ช่วงที่เหลือของปีนี้จึงอาจยังทรงๆ จึงต้องรอดูว่าเปิดประเทศแล้วนักท่องเที่ยวกลับมาหรือไม่”น.ส.ชญานี กล่าว

สำหรับกองทุนลดหย่อนภาษีอย่างกองทุนเพื่อการออม (SSF) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 2.8 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.1% จากไตรมาสก่อนหน้า และมีเงินไหลเข้าสุทธิ 1.7 พันล้านบาท รวมสะสม 9 เดือนที่ 3.9 พันล้านบาท คาดแนวโน้มไตรมาส 4/2564 หากมีเงินไหลเข้าใกล้เคียงกับปีที่แล้วที่ระดับ 9,600 พันล้านบาท จะทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิรวมทั้งปีที่ราว 1.3 หมื่นล้านบาท หรือสูงกว่ายอดรวมปีที่แล้วราว 2-3 พันล้านบาท (นับเฉพาะส่วนของกองทุน SSF หรือตั้งแต่เดือนก.ค.2564) ขณะที่เฉพาะไตรมาส 3/2564 มีเงินไหลเข้าลงทุน 1,700 ล้านบาท เมื่อเทียบงวดเดียวกันของปีก่อนไหลเข้าเพียง 600 กว่าล้านบาท

กองทุนหุ้นไทย Equity Large-Cap มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 4.7% จากไตรมาสก่อนหน้าไปอยู่ที่ 1.0 หมื่นล้านบาท และยังคงเป็นกลุ่มที่มีมูลค่าทรัพย์สินสูงสุดในหมวดกองทุนเพื่อการออม ในรอบไตรมาสล่าสุดมีเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิระดับ 300 ล้านบาทค่อนข้างใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน รวม 9 เดือนเป็นเงินไหลเข้าสุทธิ 700 กว่าล้านบาท หรือสูงเป็นอันดับ 3 ในรอบ 9 เดือน ทั้งนี้กองทุนกลุ่มนี้ผลตอบแทนเฉลี่ย 3 เดือนสูงสุดที่ 1.9%

แม้กองทุนต่างประเทศส่วนใหญ่จะมีผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบ แต่ยังมีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าการลงทุนในประเทศ เช่นกลุ่ม Global Equity มีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 11% ไปอยู่ที่เกือบ 6 พันล้านบาท จากเงินไหลเข้าสุทธิ 549 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่ากลุ่มอื่นในไตรมาสที่ผ่านมา รวม 9 เดือนไหลเข้าสุทธิ 1.4 พันล้านบาท

กองทุนหุ้นจีนมีเงินไหลเข้า 402 ล้านบาท เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสที่ 2 รวม 9 เดือนมีเงินไหลเข้าสุทธิสูงเป็นอันดับที่ 2 ด้วยมูลค่า 765 ล้านบาท ผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบถึง 13.8% อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนมองเป็นโอกาสการลงทุนระยะ 10 ปีได้

กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ 3.6 แสนล้านบาท ทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้าและสูงกว่าสิ้นปี 2563 อยู่ 4.6% โดยในไตรมาสล่าสุดมีเงินไหลออกสุทธิ 3.6 พันล้านบาท รวม 9 เดือนมีเงินไหลออกสุทธิจากกองทุน LTF แล้วทั้งสิ้น 1.4 หมื่นล้านบาท

ส่วนกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 3.6 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 1.0% มีเงินไหลเข้าสุทธิ 3.2 พันล้านบาท รวมเงินไหลเข้าสุทธิสะสมกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพในปีนี้ 5.0 พันล้านบาท ซึ่งสูงกว่างวดเดียวกันของปีก่อนเงินไหลเข้า 4.2 พันล้านบาท

 
 
อ่านข่าว

กองทุนนอก 9 เดือนเงินไหลเข้า 2.5 แสนล. “หุ้นจีน” ร่วงแรง Q3/64 ลุยซื้อต่อเนื่อง

เงินไหลซบกองตราสารหนี้ระยะสั้น Q3/64 กว่า 2.1 หมื่นลบ.กังวลดอกเบี้ยขาขึ้น