HoonSmart.com>> “มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช” ชี้นักลงทุนทยอยลงทุนกองทุนต่างประเทศต่อเนื่อง ไตรมาส 3/64 เงินไหลเข้าสุทธิไม่รวมเทอมฟันด์กว่า 5.6 หมื่นล้านบาท หนุน 9 เดือนเงินไหลเข้าสุทธิ 2.5 แสนล้านบาท ด้าน “กองทุนหุ้นจีน” ยังครองแชมป์ 7.8 หมื่นล้านบาท ไม่หวั่นความไม่แน่นอนกฎระเบียบทางการจีนฉุดหุ้นจีนร่วง ดึงผลตอบแทนกองหุ้นจีนไตรมาส 3/64 ติดลบเกือบ 14% ฟากนักลงทุนมองโอกาสลงทุน เงินไหลเข้าซื้อกว่า 7.5 พันล้านบาท
น.ส.ชญานี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ภาพรวมกองทุนรวมต่างประเทศ (ไม่รวม Term Fund) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.9% จากไตรมาส 2 หรือ 50.3% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยไตรมาสล่าสุดมีเงินไหลเข้าสุทธิ 5.6 หมื่นล้านบาท รวม 9 เดือนเป็นเงินไหลเข้าสุทธิ 2.5 แสนล้านบาท
ตลาดหุ้นต่างประเทศอาจมีความผันผวนมากขึ้นในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา แต่ในภาพรวมนักลงทุนยังทยอยลงทุนต่อเนื่อง โดยในไตรมาสล่าสุดมีเงินไหลเข้าสุทธิกองทุนหุ้นต่างประเทศ 4.7 หมื่นล้านบาท รวม 9 เดือน 2.3 แสนล้านบาท ด้านกองทุนตราสารหนี้มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 9.7 หมื่นล้านบาท ลดลง 2.5% จากไตรมาสก่อนหน้า มีเงินไหลออกสุทธิ 3.6 พันล้านบาท ทำให้มีสัดส่วนลดลงต่ำกว่า 9% ของการลงทุนกองทุนต่างประเทศ (ไม่รวม term fund)
น.ส.ชญานี กล่าวว่า จากการที่กองทุนต่างประเทศมีมูลค่ากองทุนหุ้นจีนเป็นสัดส่วนสูง ปัจจัยเชิงลบที่เกิดขึ้นกับหุ้นจีนไม่ว่าจะเป็นประเด็นความปลอดภัยของข้อมูลที่เกิดขึ้นกับ Didi การออกกฎให้สถาบันการศึกษาเป็นหน่วยงานที่ไม่แสวงหากำไรที่ส่งผลโดยตรงกับสถาบันกวดวิชาหลายแห่ง การจำกัดเวลาเล่นเกมส์กับเยาวชนจีน มาจนถึงการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัท China Evergrande ทำให้บรรยากาศการลงทุนหุ้นจีนได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก โดยในช่วงไตรมาสที่ผ่านมากองทุนหุ้นจีนมีผลตอบแทนต่ำที่สุดหรือเฉลี่ย -13.9% และ 9 เดือนปี 2564 ผลตอบแทนเฉลี่ย -10.30% ติดลบหนักสุดเมื่อเทียบกลุ่มกองทุนทั้งหมด
อย่างไรก็ดีนักลงทุนอาจมองเป็นโอกาสการลงทุน ทำให้ในไตรมาสที่ผ่านมามีเงินไหลเข้าสุทธิ 7.5 พันล้านบาท มูลค่าทรัพย์สินลดลง 10.7% จากไตรมาสก่อน ไปอยู่ที่ 1.7 แสนล้านบาท หรือลงมาอยู่อันดับที่สองในหมวดกองทุนต่างประเทศ ขณะที่ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ 3 ปียังคงเป็นบวก โดยผลตอบแทนเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลังอยู่ที่ 5.30% ต่อปี ผลตอบแทนเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง 4.90% ต่อปีและผลตอบแทนฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปีอยู่ที่ 5.40% ต่อปี
อย่างไรก็ตาม 2 ใน 3 ของเงินลงทุนหุ้นจีนมูลค่า 1.7 แสนล้านบาทนี้เป็นเงินลงทุนใน 5 บลจ. นำโดย บลจ. กสิกรไทย 3.9 หมื่นล้านบาท โดยมีเงินไหลเข้าในปีนี้รวม 2.4 หมื่นล้านบาท ตามมาด้วย บลจ.กรุงไทย มูลค่ารวม 2.7 หมื่นล้านบาท จากเงินไหลเข้าสุทธิ 1.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินไหลเข้าในไตรมาสแรกและเริ่มมีเงินไหลออกในไตรมาสล่าสุด ด้าน บลจ.ทหารไทย มีมูลค่าทรัพย์สินอันดับ 3 และมีเงินไหลเข้าน้อยกว่า บลจ. อื่นใน 5 อันดับแรก อีกทั้งผลตอบแทนที่ติดลบในปีนี้ส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินหดตัวลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
ในช่วงที่เกิดข่าวเชิงลบเกี่ยวกับจีนนั้นแต่ละกองทุนอาจได้รับผลกระทบที่มากน้อยแตกต่างกัน หากอ้างอิงกลุ่มกองทุนของ Master fund สามารถแบ่งได้ ดังนี้ EAA Fund China Equity (จีนและฮ่องกง) ซึ่งมีมูลค่าทรัพย์สิน 5.6 หมื่นล้านบาท , EAA Fund China Equity – A Shares มูลค่าทรัพย์สิน 7.2 หมื่นล้านบาท, EAA Fund Greater China Equity (จีน ฮ่องกง และไต้หวัน) มูลค่าทรัพย์สิน 2.6 พันล้านบาท และ US Fund China Region ซึ่งเป็น ETF ในสหรัฐ มูลค่าทรัพย์สิน 8.4 พันล้านบาท โดยกองทุนที่เน้นลงทุนหุ้น A-shares จะได้รับผลกระทบที่น้อยกว่าหรือมีผลตอบแทนเฉลี่ยรอบไตรมาสล่าสุดที่ -9.1% ขณะที่กองทุนที่ลงทุนในฮ่องกงด้วยจะมีผลตอบแทนแย่กว่า และกลุ่ม ETF จะมีผลตอบแทนติดลบมากที่สุดเฉลี่ย -19.3% เนื่องจากเป็นการลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีของจีน นอกจากนี้มีกองทุนที่ไม่ใช่ feeder fund มูลค่า 3.2 หมื่นล้านบาท
ด้านกองทุนกลุ่ม Global Equity แม้แรงซื้อจะแผ่วลงบ้างในช่วงเดือนมิ.ย.-ส.ค. แต่ต่อมาในเดือนก.ย.กลับมามีแรงเข้าซื้อมากขึ้น ทำให้ในไตรมาสล่าสุดมีเงินไหลเข้าสุทธิรวม 1.7 หมื่นล้านบาท นำโดยเม็ดเงินกองทุน SCB Global Experts A รวม 4.5 พันล้านบาท ซึ่งเป็นกองทุนเปิดใหม่ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีการลงทุนในกองทุนหลัก (Core fund) คือ Julius Baer Global Excellence Equity และกองทุนอื่น ๆ เป็นกองทุนเสริม (Satellite fund) โดยรวมกองทุนกลุ่ม Global Equity มีเงินไหลเข้าสะสมรอบ 9 เดือนทั้งสิ้น 6.8 หมื่นล้านบาท มูลค่าทรัพย์สินสุทธิเพิ่มขึ้น 7.3% จากไตรมาสก่อนหน้าและเข้าใกล้ระดับ 2 แสนล้านบาท ทั้งนี้กองทุนกลุ่มนี้มีผลตอบแทนเฉลี่ย 3 เดือนล่าสุดที่ -1.8%
ด้านกองทุนกลุ่ม Global Bond มีมูลค่าทรัพย์สินลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยไตรมาสล่าสุดมีเงินไหลออกสุทธิอีก 4.9 พันล้านบาท ทำให้เป็นกลุ่มที่มีเงินไหลออกสุทธิสะสมสูงสุดของปีนี้ 2.4 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้เม็ดเงินไหลออกเป็นเงินจากหลาย บลจ. โดย บลจ.ธนชาตและบลจ.ทหารไทยมีเงินไหลออกสุทธิรวมกัน 1.4 หมื่นล้านบาท
กองทุน K Global Allocation เป็นกองทุนต่างประเทศที่มีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุดในรอบไตรมาสที่ 3 ด้วยมูลค่า 5.7 พันล้านบาท หรือกว่าครึ่งของมูลค่าทั้งหมดที่ไหลเข้ากลุ่ม Global Allocation กองทุน BCAP Global Multi Asset เป็นกองทุนเปิดใหม่ในไตรมาสที่ผ่านมาที่มีเงินไหลเข้าถึง 3.1 พันล้านบาท ด้านกองทุน Principal Vietnam Equity A เป็นกองทุนขนาดใหญ่ที่สุดที่ลงทุนหุ้นเวียดนามซึ่งได้รับความนิยมสูง มีผลตอบแทนสะสมตั้งแต่ต้นปีเกือบ 50% และมีการจดทะเบียนเพิ่มทุนเมื่อไม่นานมานี้
สำหรับกองทุนที่มีเงินไหลออกสุทธิสูงสุดในไตรมาสล่าสุดคือกองทุน MFC Renewable Energy D มูลค่า 3.6 พันล้านบาท ทำให้มูลค่าทรัพย์สินลดลงเหลือ 2.1 พันล้านบาท ด้านกองทุน ONE Ultimate Global Growth RA มีเงินไหลออก 2.4 พันล้านบาท โดยรอบไตรมาสที่ผ่านมามีผลตอบแทนติดลบ 5.5% กองทุน K Positive Change Equity-A(A) ถือเป็นกองทุนโดดเด่นในรอบปีที่แล้วก็เริ่มมีเงินไหลออกเช่นกัน โดยในรอบ 9 เดือนมีผลตอบแทนสะสม 19.0%