HoonSmart.com>> “มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช” เผยนักลงทุนกังวลดอกเบี้ยขาขึ้น ไตรมาส 3/64 เงินไหลเข้าสุทธิกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นกว่า 2.1 หมื่นล้านบาท หนุน 9 เดือนรวมเกือบ 5 หมื่นล้านบาท ชี้เป็น “กองทุนในประเทศ” กลุ่มเดียวติดท็อปเทนเงินไหลเข้าสูงสุด ด้าน “บลจ.กสิกรไทย” เงินไหลเข้าสูงสุด 3.4 หมื่นล้านบาท ไม่รวมเทอมฟันด์ ด้านบลจ.ไทยพาณิชย์ ไหลออกสูงสุด 2.7 หมื่นล้านบาท
น.ส.ชญานี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า การลงทุนตราสารหนี้ในช่วงที่ผ่านมาอาจมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้ผู้ลงทุนเลือกที่จะลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีความเสี่ยงต่อทิศทางดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า โดยกองทุน Short Term Bond มีเงินไหลเข้าสุทธิต่อเนื่องอีกไตรมาส 3/2564 ที่ 2.1 หมื่นล้านบาท รวม 9 เดือนเป็นเงินไหลเข้าสุทธิเกือบ 5 หมื่นล้านบาท หรือสูงสุดเป็นอันดับ 3 และเป็นกองทุนที่ลงทุนในประเทศกลุ่มเดียวที่ติด 1 ใน 10 อันดับกองทุนเงินไหลเข้าสูงสุด
สำหรับกองทุน Mid/Long Term Bond มีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 38.9% จากปีที่แล้ว หรือ 11.6% จากไตรมาส 2/2564 ในส่วนของเม็ดเงินนั้น จากไตรมาสแรกที่เป็นเงินไหลออก 1.6 หมื่นล้านบาท กลับเป็นเงินไหลเข้าหลังจากนั้น โดยไตรมาสล่าสุดนี้เป็นกลุ่มที่มีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุด 2.2 หมื่นล้านบาท รวม 9 เดือนเป็นเงินไหลเข้าสุทธิ 1.0 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ดีเม็ดเงินไหลเข้าถือว่าค่อนข้างกระจุกตัวไปที่กองทุนจาก บลจ.กสิกรไทย เช่น K Fixed Income ที่มีเงินไหลเข้าสุทธิปีนี้แล้วเกือบ 8 พันล้านบาท
น.ส.ชญานี กล่าวว่า ภาพรวม 10 อันดับกลุ่มกองทุนตาม Morningstar Category มีการเปลี่ยนแปลงไปในไตรมาส 3/2564 โดยกองทุนหุ้นขนาดใหญ่ (Equity Large-Cap) กลับขึ้นมาเป็นกลุ่มกองทุนขนาดใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรม ในขณะที่กองทุนหุ้นจีน (China Equity) มีมูลค่าลดลงทำให้ตกไปอยู่ที่ลำดับที่ 8 จากที่ 6 ในไตรมาสก่อนหน้า และผู้ลงทุนยังนิยมตราสารทุนต่างประเทศมากกว่าตราสารทุนในประเทศ ดังที่จะเห็นได้จาก 10 อันดับเม็ดเงินไหลเข้าสูงสุดรอบไตรมาสที่ผ่านมาที่ประกอบด้วยกลุ่มหุ้นต่างประเทศถึง 7 กลุ่ม
ก่อนหน้านี้กองทุน Money Market รั้งอันดับ 1 กลุ่มกองทุนขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมมาตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 ด้วยมูลค่าสูงถึง 7.6 แสนล้านบาท แต่หลังจากนั้นเริ่มมีแรงทยอยขายออกมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2563 เป็นต้นมา และในไตรมาสล่าสุดกองทุน Money Market มูลค่าลดลงไปอยู่ที่ 6.3 แสนล้านบาท จากเม็ดเงินไหลออกสูงสุดช่วง 9 เดือนรวม 1.2 แสนล้านบาท
กองทุนรวมหุ้นขนาดใหญ่ (Equity Large-Cap) มีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 14.9% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากผลตอบแทนเฉลี่ย 1.7% จากหุ้นไทยที่เป็นบวกถูกหักล้างด้วยเม็ดเงินที่ไหลออกไปจากกองทุนมูลค่า 7.3 พันล้านบาท รวม 9 เดือนมีเงินไหลออกทั้งสิ้น 3.2 หมื่นล้านบาท หรือไหลออกมากที่สุดรองจากกองทุน Money Market
ด้านบลจ.กสิกรไทยมีเป็นบลจ.ที่มีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุดติดต่อกัน 2 ไตรมาสรวมรอบ 9 เดือนเป็นมูลค่า 3.4 หมื่นล้านบาท (ไม่รวมกองทุนตราสารหนี้ประเภท term fund) ตามมาด้วยบลจ.กรุงไทยที่มีเงินไหลเข้าสุทธิทั้ง 3 ไตรมาส รวมมูลค่า 3.2 หมื่นล้านบาท ที่ถือว่ามีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม เช่นเดียวกับ บลจ.เกียรตินาคินภัทร และ บลจ.วรรณ ทำให้มีอัตราการเติบโต (Organic growth) ที่ 12%-40%
ด้านบลจ.ที่มีเงินไหลออกมากที่สุดในรอบ 9 เดือนคือ บลจ.ไทยพาณิชย์รวม 2.7 หมื่นล้านบาท โดยมาจากช่วงไตรมาสแรกเป็นหลัก เช่นเดียวกับบลจ.บัวหลวงที่มีเงินไหลออกในไตรมาสแรกระดับ 1 หมื่นล้านบาทจากทั้งหมด 1.6 หมื่นล้านบาทของช่วง 9 เดือนแรก
อ่านข่าว
9 เดือน “กองทุนน้ำมัน”ผลตอบแทนสูงสุด 65% ลุ้นเปิดเมืองหนุนเงินเข้ากองหุ้นไทย