HoonSmart.com>>กนง.มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ต่อปี ส่วนเศรษฐกิจไทยปี 2564 คาดโต 0.7% ปี 2565 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยโต 3.9%
นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ว่า คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5%ต่อปี และประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2564 และปี 2565 ขยายตัวใกล้เคียงกับที่คาดไว้ในการประชุมครั้งก่อนที่ปีนี้โต 0.7% ส่วนปี 2565 โต3.9% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับประมาณการครั้งก่อนที่ 3.7% แม้ไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาดและการส่งออกที่ชะลอลงกว่าคาด แต่การกระจายและการฉีดวัคซีนที่ดีขึ้นชัดเจนและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดที่เร็วกว่าคาด จะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นและการบริโภคภาคเอกชนในช่วงที่เหลือของปี 2564
ส่วนปี 2565 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวจากการใช้จ่ายในประเทศ ตามความเชื่อมั่นที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะทยอยฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัด เกินดุลเล็กน้อยที่ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากปี2564 ที่ขาดดุล 15,300 ล้านดอลลาร์ ขณะที่การส่งออกยังได้รับผลกระทบจากปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และเซมิคอนดักเตอร์ขยายตัวลดเหลือ 3.7%
ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯมีการเคลื่อนไหวผันผวนมากขึ้นจากช่วงก่อนหน้าจากการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักและแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและไทยอย่างใกล้ชิด รวมถึงผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง
ซึ่งโจทย์ที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน คือ การดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดที่เอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและรายได้ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยมาตรการภาครัฐต้องเร่งสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ด้านมาตรการการเงินต้องเร่งผลักดันการกระจายสภาพคล่องและปรับโครงสร้างหนี้ของกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ได้แก่ พัฒนาการของมาตรการควบคุมการระบาดในประเทศ รวมทั้งความเพียงพอของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น
“เศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยยังต้องติดตามแนวโน้มการระบาดและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด ความเชื่อมั่นของภาคเอกชน รวมถึงแรงสนับสนุนจากมาตรการของภาครัฐ ซึ่งจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป” นายทิตนันทิ์ กล่าว