HoonSmart.com>>กสิกรไทย ย้ำปัจจัยในประเทศ เศรษฐกิจที่ชะลอและการแพร่ระบาดของโควิด กดดันเงินบาทอ่อนค่า ตั้งแต่ต้นปีอ่อนค่ามากสุดที่ 10.35% ช่วง 1 เดือนยังเป็นประเทศเดียวที่อ่อนค่าแตะ 0.27%
นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวถึงทิศทางค่าเงินบาทของไทยว่า ตั้งแต่ต้นปียังมีทิศทางที่อ่อนค่า โดยเมื่อเทียบช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา เงินบาทอ่อนค่าอยู่ที่ 10.35% เป็นสกุลเงินที่อ่อนค่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับ เงินวอนของเกาหลีใต้ที่อ่อนค่า 7.57% เงินเยนญี่ปุ่น อ่อนค่า 5.96% และริงกิตของมาเลเซียที่อ่อนค่า 4.02%
และหากเปรียบเทียบในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาจะพบว่า เงินบาท ยังเป็นสกุลเดียวในเอเชียที่อ่อนค่าในระดับ 0.27% ขณะที่ค่าเงินสกุลอื่นในเอเชียปรับแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น เงินวอนเกาหลีใต้แข็งค่าขึ้น 0.37% เงินเยนญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้น 0.12% เงินริงกิตของมาเลเซียที่แข็งค่าขึ้น 1.16%
ซึ่งการอ่อนค่าของเงินบาทเกิดจากปัจจัยในประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงกว่าที่คาดการณ์และการกระจายวัคซีนที่ทำได้ล่าช้า ทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง จากธุรกิจการท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลักของประเทศได้รับผลกระทบจากการเปิดประเทศได้ช้า รวมทั้งการใช้จ่ายในประเทศที่ลดลง ส่งผลกระทบกระทบต่อดุลบริการและดุลบัญชีเดินสะพัด นอกจากนี้การซื้อกิจการในต่างประเทศของภาคธุรกิจ ทำให้มีการนำเงินออกไปลงทุน
“การแพร่ระบาดของโควิดที่รุนแรง กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องโดยตั้งแต่ต้นปีเงินบาทอ่อนค่ามากที่สุดในเอเชีย และในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมาก็ยังเป็นประเทศเดียวที่สกุลเงินอ่อนค่า ขณะที่ค่าเงินประเทศเพื่อนบ้านปรับตัวแข็งค่าขึ้นแล้ว สะท้อนว่าการอ่อนค่าของเงินบาทเกิดจากปัจจัยในประเทศ แต่ยังเชื่อว่า เมื่อรัฐบาลคุมการระบาดของโควิดได้ จะทำให้สิ้นปีเงินบาทแข็งค่าขึ้นแตะที่ 32.75 บาทได้” นายกอบสิทธิ์ กล่าว