Technical Workshop : สอนตีกราฟเทรด TFEX ภาคปฏิบัติ

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ต้องการสร้างพอร์ตให้เติบโตในตลาดอนุพันธ์ ความรู้เรื่องการตีกราฟเป็นเทคนิคพื้นฐานที่สามารถช่วยคุณได้ TFEX Trading Space 2021 ที่จัดขึ้นโดย TFEX ปีนี้ จึงมี Workshop ที่จะเผยเคล็ดลับการตีกราฟเทคนิค เพื่อให้ผู้ลงทุนได้นำไปพลิกแพลงและสร้างกลยุทธ์เพิ่มโอกาสทำกำไรในช่วงภาวะตลาดผันผวน โดยได้เชิญ คุณจินณะ สินส่ง (อ.จิม) Full-Time Trader ในหุ้น TFEX ทองคำ และเจ้าของ Fanpage : เล่นพื้นฐาน อ่านเทคนิค มาเป็นวิทยากรพิเศษสอนทั้งผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นศึกษาและผู้ลงทุนที่ใช้กราฟเทคนิคอยู่แล้วให้ได้ทบทวนกัน ในหัวข้อ “Technical Workshop : สอนตีกราฟเทรด TFEX ภาคปฏิบัติ”

สำหรับผู้ลงทุนที่ใช้ปัจจัยด้านเทคนิค เครื่องมือที่จำเป็นตัวนึงก็คือโปรแกรมดูกราฟราคาย้อนหลัง ซึ่งในตลาดมีหลายตัวให้เลือกใช้ โดย อ.จิม ได้แนะนำโปรแกรม EFIN ของ E-FINANCE สำหรับผู้เริ่มต้น ถือเป็นอีกโปรแกรมหนึ่งที่ใช้งานง่าย เหมาะกับนักเทรดมือใหม่ที่กำลังฝึก “การตี Trend” และ “การหาจุดกลับตัว (Reversal)” สองหลักการที่เป็นหัวใจหลักของการตีกราฟเทรด TFEX

กลยุทธ์ของการเทรด TFEX คือการมองเทรนด์ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วตลาดมักจะเป็น Sideway 70-80% นาน ๆ ทีถึงจะมีเทรนด์ชัดเจนทางใดทางหนึ่งเกิดขึ้น ดังนั้นความแม่นยำของการตี Trend ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเมื่อลากเส้นเชื่อมตั้งแต่ 3 จุดขึ้นไป ยิ่งจำนวนตกกระทบยิ่งมากเทรนด์ก็ยิ่งแข็งแรง เช่นเดียวกับ Time Frame คือ Time Frame ที่ใหญ่กว่าจะมีนัยยะกว่า Time Frame ที่เล็ก และเส้นเทรนด์ที่ยาวก็จะแม่นยำและแข็งแรงมากกว่าเส้นเทรนด์ที่สั้น การหาจุดกลับตัวจะช่วยให้เราสามารถตีเส้น Trend จากจุดเหล่านั้นได้ ดังนั้นพยายามหาจุดให้ได้ 3 จุดแล้วขีดเชื่อม จะใช้แท่งเทียนส่วน Body-Body หรือ หาง-หาง ก็ได้ แต่หลีกเลี่ยงการตี Trend ทะลุ Body

หลักการตี Trend Line และการเข้าออก Position ที่ อ.จิม ได้แนะนำใน Workshop ครั้งนี้
1. มองภาพใหญ่ก่อนภาพเล็ก
2. ดูกราฟราคาย้อนหลังจนเจอจุดเริ่มกลับตัวของแต่ละช่วง แล้วใช้จุดนั้นเริ่มตีเทรนด์
3. เลือกใช้ Time Frame ที่ใหญ่ก่อน
4. หาจุดเชื่อมที่ครบ 3 จุด
5. หากเจอจุดเชื่อมเพียง 2 จุด โดยราคายังไม่หลุดจากเส้น สามารถตีเส้น Speed Line จากจุดเชื่อมที่ 2 เพิ่มได้เพื่อดูภาพย่อย
6. การเข้า Position หรือเปิดสถานะที่ Trend Line ความชันระดับไหน ให้ออกที่ความชันระดับเดิม ไม่ว่าจะเป็นการปิดสถานะทำกำไร หรือเป็นการ Stop Loss ก็ตาม อย่ารีรอหรือคิดว่าว่ามีเส้น Trend Line อีกระดับรออยู่ ต้องมีวินัยในการ Action ต่าง ๆ

การวิเคราะห์รูปแบบการกลับตัวจาก Single Candlestick
– Hammer
การจะเกิด Hammer Pattern ขึ้นได้ เทรนด์ก่อนหน้าต้องเป็น Down Trend ลงมา เราใช้ Hammer เพื่อหาจุด Reversal เป็นจุดเริ่มตีเส้นหาเทรนด์กลับตัวขึ้นในภาพใหญ่หากเข้าเงื่อนไข แต่ถ้าหากเริ่มเจอ Hammer ย้ำ ๆ หลายแท่งโดยยังไม่กลับเป็นแนวโน้มขาขึ้น เราสามารถตีเส้น Horizontal Line คู่ขึ้นมาเพื่อใช้เป็นแนวรับได้ โดยใช้จุดนี้เป็นจุดตัดสินใจ Stop Loss ซึ่งหลักในการดูว่าเป็น Hammer ไหมคือ
1. ไส้ของแท่งเทียนจะต้องยาวกว่า Body อย่างน้อย 2 เท่า
2. Trend ก่อนหน้าต้องเป็นรูปแบบลงมาก่อน
3. ไม่สนใจสีของ Candlestick

– Shooting Star
คือรูปแบบกลับทิศของ Hammer โดยเทรนด์ก่อนหน้าต้องเป็น Up Trend ขึ้นมาก่อน พอเกิดรูปแบบ Shooting Star จะเป็นสัญญาณกลับตัวเพื่อเตรียมเป็นขาลง เช่นเดียวกัน หากเกิด Shooting Star ย้ำ ๆ ก่อนที่จะกลับตัวลง เราสามารถตีเส้น Horizontal Line ควบคู่ขึ้นมาเป็นแนวต้านได้ ซึ่งเส้นที่ย้ำกันหลายๆ รอบ จะมีนัยยะและแข็งแรงมาก ไม่ว่าจะเป็นแนวรับหรือแนวต้าน หลักในการดูว่าเป็น Shooting Star หรือไม่จะคล้าย ๆ กันคือ
1. หางไส้เทียนต้องยาวกว่าส่วน Body อย่างน้อย 2 เท่า
2. Trend ก่อนหน้าต้องเป็นรูปแบบขึ้นมาก่อน
3. ไม่สนใจสีของ Candlestick

เสริมในเรื่องการตีเส้น Parallel Line เราสามารถใช้เพื่อมองกรอบการเทรดได้ เช่น ใน Up Trend เราตีเส้นด้านล่างลากจุดสัมผัส 3 จุดได้แล้ว ก็ตีเส้นเป็นกรอบด้านบนโดยใช้ความชันเดียวกัน เพื่อมองกรอบ Sideway Up ที่เกิดขึ้น และอย่าลืมมองเรื่อง Risk Reward ถ้าเราเทรดถูกทาง ไม่จำเป็นต้องมองเป็นการเทรดทีละครั้งว่าต้องปิดทำกำไรทั้งหมด เราสามารถปิด Position บางส่วนเพื่อรับกำไรมาก่อน แล้วส่วนที่เหลือก็ดูตามสัดส่วนความเสี่ยงที่เรารับได้ ยิ่งหากเป็นช่วง Sideway ยิ่งควรพิจารณา
ส่วนเรื่องการเปิด/ปิด Gap หากเราเทรดโดยอ้างอิง Gap ที่เกิดขึ้นเพราะมองว่ามีแรงซื้อ/ขายมาก สามารถเปิด Position ตามได้ โดยใช้จุดที่เปิด Gap เป็นจุด Stop Loss ซึ่งถ้าหากราคากลับมาทดสอบ จนราคาปิดแท่งมิด Gap ที่เคยเกิดขึ้นได้ ก็ต้องมองว่าเทรนด์มีสิทธิ์เปลี่ยน

การวิเคราะห์รูปแบบการกลับตัวจาก Indicator
– MACD

ตัว Indicator นี้เกิดจากเส้น EMA 12 และ EMA 26 นำมาตัดกัน ค่าความต่างระหว่าง EMA12 กับ EMA26 เรียกว่าเส้น MACD เมื่อเส้นนี้ตัดขึ้นมากกว่า 0 จะหมายความว่า EMA 12 กำลังวิ่งตัดเส้น EMA 26 ขึ้นมา และประกอบกับเส้นที่เรียกว่า Signal อีกเส้นหนึ่ง ซึ่งเป็นค่า EMA ของ MACD นั่นเอง โดยการที่เป็นเส้นค่าเฉลี่ยของเส้น MACD จึงทำให้เส้น Signal จะเคลื่อนตัวช้ากว่า หลักการใช้ที่นิยมกันของ MACD คือเมื่อเส้น MACD ตัดเส้น Signal ขึ้นจะเริ่มเป็นสัญญาณซื้อ นับเป็น Buy Setup โดยใช้ราคาต่ำสุดก่อนหน้าเป็นจุด Stop Loss ทีนี้เราก็จะมองความเสี่ยงออกว่าจะควรจะเทรดไหม หรือจะรอราคาปิดของกราฟแท่งเทียนถัดไป ว่ามากกว่าแท่งก่อนหน้าหรือไม่ เพื่อเป็นการยืนยัน ส่วนสัญญาณขายก็จะกลับกันคือจะเกิดขึ้นเมื่อเส้น MACD ตัดเส้น Signal ลง

ทุกครั้งในการตัดสินใจลงทุนไม่ควรรีบร้อนตัดสินใจใช้กลยุทธ์ เพราะบางครั้งกราฟที่เห็นอาจจะหลอกตาเราอยู่ก็เป็นได้ ดังนั้นนักลงทุนควรศึกษากราฟเทคนิคประเภทต่างๆ ให้ได้หลายรูปแบบ รวมทั้งเลือก Time Frame ให้หลากหลายเพื่อที่จะได้เห็นมุมมองใหม่และเข้าใจกราฟได้มากขึ้น เพราะสุดท้ายแล้วดังคำพูดของ คุณจินณะ สินส่ง ที่กล่าวไว้ว่า “โอกาสทำกำไรในตลาดผันผวนอย่าง TFEX ไม่มีอะไรที่แน่นอนหรือถูก 100% วินัยและการสั่งสมประสบการณ์จะเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จที่ดีที่สุดของเทรดเดอร์ในตลาด TFEX”

รับชม TFEX Trading Space 2021 ฉบับเต็มย้อนหลังได้ที่นี่ https://setga.page.link/8wJqDX5YRUdDTrRH7