หุ้นเสี่ยงถอยไป 1,530-1,520 จุด ค่าเงินอ่อนแตะ 33 บาทสัปดาห์หน้า

HoonSmart.com>>บล.กสิกรไทยคาดหุ้นแกว่งตามสถานการณ์โควิดทั้งใน-ต่างประเทศ การกระจายวัคซีน กำไรบจ. ส่วนค่าเงินบาท ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบที่ 32.40-33.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังเผชิญแรงขายอย่างหนัก แตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 15 เดือนที่ 32.73 บาทสัปดาห์ที่ผ่านมา

บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย มองหุ้นสัปดาห์ถัดไป (12-16 ก.ค.64) ดัชนีมีแนวรับที่ 1,530 และ 1,520 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,560 และ 1,570 จุด ตามลำดับ

บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โควิด 19 ตลอดจนความคืบหน้าในการกระจายวัคซีนโควิด 19 ในประเทศและต่างประเทศ ประเด็นการเมือง การทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาส 2/64 ของบจ.

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิตและผู้บริโภค ยอดค้าปลีกและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมิ.ย. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ การประชุม BOJ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมิ.ย. ของยูโรโซน ตลอดจนตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/64 และข้อมูลเศรษฐกิจเดือนมิ.ย. ของจีน

หุ้นร่วงลงแรงจากสัปดาห์ก่อน โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,552.09 จุด ลดลง 1.67% ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 81,282.17 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.22% ส่วนดัชนี mai ลดลง 3.27% มาปิดที่ 488.97 จุด

ช่วงต้นสัปดาห์หุ้นปรับตัวขึ้น รับแรงหนุนจากมติครม. ที่มีการสั่งซื้อวัคซีนต้านโควิดเพิ่มเติม ก่อนจะร่วงลงแรง ตามแรงขายในหุ้นหลายกลุ่ม นำโดยกลุ่มธนาคารและพลังงาน หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ทำให้นักลงทุนมีความกังวลต่อการประกาศใช้มาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มข้นมากขึ้น ประกอบกับมีปัจจัยลบจากรายงานข่าวเกี่ยวกับแนวคิดการเก็บภาษีซื้อขายหุ้นจากนักลงทุน อย่างไรก็ดีหุ้นฟื้นตัวกลับมาได้เล็กน้อยช่วงปลายสัปดาห์

สำหรับค่าเงินบาทสัปดาห์ถัดไป (12-16 ก.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหว ที่ 32.40-33.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ

เงินบาทเผชิญแรงขายอย่างหนัก โดยแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 15 เดือนที่ 32.73 บาทต่อดอลลาร์ฯ ท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์โควิด ทางการไทยต้องยกระดับมาตรการควบคุมสถานการณ์ ความเสี่ยงจากโควิดที่ยืดเยื้อยังมีผลกระทบต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะที่เหลือของปีด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดีภาพการอ่อนค่าของเงินบาทยังสอดคล้องกับทิศทางสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ซึ่งต่างก็เผชิญกับวิกฤตโควิดกลายพันธุ์เช่นเดียวกัน

ในวันศุกร์ (9 ก.ค.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 32.55 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 32.21 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (2 ก.ค.)