KTAM Focus : หมดโปรโมชั่น

โดย…ณัฏฐะ มหัทธนา
ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์
บลจ.กรุงไทย

 
 
ดัชนีหุ้นสหรัฐ S&P 500 ปิดสูงสุดประวัติการณ์ 7 วันติดต่อกัน ท่ามกลางบรรยากาศดีๆที่ทำเนียบขาวและสภาคองเกรสบรรลุดีลลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure bill) $5.79 แสนล้าน ซึ่งตลาดรับรู้มานานแล้วว่าจะเล็กกว่าข้อเสนอแรก $2 ล้านล้านของไบเดน ทั้งสองฝ่ายยังต้องหารือเรื่องแผนจัดหาเงินภายใต้เงื่อนไขของรีพับลิกัน “ห้ามแตะ” อัตราภาษีนิติบุคคล ส่วนฝั่งเดโมแครตก็ไม่ยอมให้ขึ้นภาษีเชื้อเพลิง/ค่าธรรมเนียมผู้ใช้รถ EV เช่นกัน

แผนใช้จ่ายเดินหน้าทว่ายังไร้ข้อสรุป “วิธีหาเงิน” ขณะกลไกควบคุมหนี้ debt ceiling จะกลับมาบังคับใช้ 1 สิงหาคม รัฐมนตรีคลัง Janet Yellen “รู้คิว” ออกโรงเตือนนักการเมืองล่วงหน้าให้เตรียมเปิดฝ้าเพดานรอไว้เลย เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ ***เอาจริงๆสหรัฐไม่มีทางเบี้ยวหนี้หรอก*** แม้เกมยื้อยุดฉุดกระชากลากถูในสนามการเมืองเคยเล่นกันแรงถึงขนาดเลยเส้นตายยังไม่ได้ดีลจนโดน S&P หั่นเครดิตก่อวิกฤตย่อยๆมาแล้วในปี 2011 …ปัจจุบันครบรอบ 1 ทศวรรษพอดิบพอดีนับจากนั้น “ไม่น่ามีปัญหา” เพราะพรรคเดียว (เดโมแครต) ครองหมดทั้งทำเนียบขาวและสองสภา

อะไรคือความเสี่ยงหลักครึ่งปีหลัง? คงเป็นคำถามสำคัญคาใจผู้ลงทุนจำนวนมาก เราตอบว่า “เงินเฟ้อ” นั่นแหละ! ทำไมล่ะ? ทั้งที่ KTAM Focus ประกาศกร้าวเป็นเจ้าแรกๆ “เลิกกลัวเงินเฟ้อ” (23 พ.ค.) คำอธิบายค่อนข้างซับซ้อนดังนี้

ตลาดลดความคาดหวังเงินเฟ้อ “ระยะไกล” อีกหลายปีข้างหน้า (breakeven inflation ในตลาดบอนด์ปรับตัวลง) เพราะเงื่อนไขการตัดสินใจของเฟด (reaction function) ย้ำว่า “คุมอยู่” ถ้าเงินเฟ้อพุ่งแรงเกินคาดนานๆก็จะขึ้นดอกเบี้ย/ลด QE ตลาดจึงมั่นใจว่า “เงินเฟ้อระยะไกล” อย่างไรก็ต่ำ แต่ปัจจัยหนุนเงินเฟ้อของเศรษฐกิจจริงปัจจุบัน ดีมานด์พุ่งสวนทางซัพพลายที่ติดขัดขาดแคลน ดูเหมือนจะยังไม่คลี่คลายง่ายๆ หลักฐานปรากฏในเสียงสะท้อนมากมายจากบรรดาผู้ประกอบการตามรายงานทั้ง PMI และ ISM ฉบับล่าสุด (มิ.ย.) ดังนั้นหากราคาสินค้า/บริการยังพุ่งขึ้นไม่หยุดสักทีจนกลไกของเฟดทำงาน ก็อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อตลาดหุ้นและสินทรัพย์เสี่ยงทั่วไปเป็นวงกว้างอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก

Mohamed El-Erian นักเศรษฐศาสตร์แถวหน้า แสดงความวิตกอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับท่าทีของเฟด ที่ไม่ค่อยตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาเงินเฟ้อ เรียกได้ว่า behind the curve ปรับนโยบาย “ตามหลัง” ไม่ทันการณ์ เพิ่มความเสี่ยงอนาคตข้างหน้าอาจต้องกลับลำลุกลี้ลุกลนเร่งขึ้นดอกเบี้ยฉุดเศรษฐกิจถดถอย ดังเช่นบทเรียนในอดีต

CNBC Global CFO Council เผยผลสำรวจบริษัททั่วโลก (เก็บข้อมูล 1-16 มิ.ย.) ชี้บรรดา CFO กังวลต้นทุนและค่าจ้างสูงขึ้น บริษัทอเมริกันส่งสัญญาณขึ้นราคาถ้าเงินเฟ้อยังพุ่ง แถมไม่ค่อยเชื่อมั่นว่าเฟดจะช่วยคุมระดับราคาได้

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) อัพเกรดประมาณการ GDP สหรัฐปีนี้ จากเดิม +4.6% เป็น +7.0% โตแรงสุดตั้งแต่ 1984 ส่วนปี 2022 ปรับเพิ่มจาก +3.5% เป็น +4.9% สะท้อนการฟื้นตัวจากโควิด ภายใต้สมมุติฐาน รัฐบาลไบเดนจะผลักดันแพคเกจโครงสร้างพื้นฐาน (American Jobs Plan) และแผนใช้จ่ายด้านสังคม (American Families Plan) ได้สำเร็จ เพราะทั้งสองโครงการสอดคล้องกับข้อเสนอแนะของ IMF ที่อยากให้เพิ่มผลิตภาพ (productivity) พัฒนาการศึกษา และเปิดทางให้ผู้หญิงเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น พร้อมกันนี้ยังคาดการณ์ด้วยว่าเงินเฟ้อ PCE จะพุ่งสูงสุดถึง 4% ในช่วงครึ่งปีหลังก่อนที่จะเริ่มชะลอลง โดยชี้จำนวนคนว่างงานเยอะช่วยจำกัดการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างรวมถึงเงินเฟ้อในระยะยาว

IMF “ไฟเขียว” เฟดขึ้นดอกเบี้ยปีหน้า! องค์กรหลักด้านเศรษฐกิจซึ่งทำหน้าที่เสนอความเห็นแก่บรรดาผู้กำหนดนโยบายทั่วโลกแนะ เฟดอาจจำเป็นต้องเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยปลายปี 2022 – ต้นปี 2023 เพราะการใช้จ่ายภาครัฐยังคงหนุนเงินเฟ้อสูงกว่าระดับเป้าหมาย นอกจากนี้ แถลงการณ์ระบุด้วยว่า เฟดน่าจะเริ่มลด QE ช่วงครึ่งแรกของปีหน้า

ตลาดอาจเข้าสู่ช่วง “หมดโปรโมชั่น” ผลตอบแทนง่ายๆจากเงินที่ธนาคารกลางพิมพ์ให้ฟรีๆคงหายากกว่าเดิม เมื่อไฟเขียวหลายดวงเปิดทางเฟดขึ้นดอกเบี้ย/ลด QE สัญญาณเตือนทยอยมา อาทิ หุ้นสหรัฐเดินหน้า all-time highs เจ้าหน้าที่เฟดหลายคน (ทำเป็น) แตกแถวอยากถอนมาตรการผ่อนคลาย และเสียงกระตุ้นจาก IMF เราระมัดระวังมากขึ้น พยายามลดสถานะลงทุนที่อ่อนไหว “ไม่พร้อม” เผชิญการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และในทางตรงข้ามจึงหันไปเพิ่มน้ำหนักสินทรัพย์ที่มีความพร้อมรับมือ “เฟดขึ้นดอกเบี้ย/ลด QE” มากกว่า

KT-HEALTHCARE หุ้นสไตล์ defensive growth น่าจะ “พร้อม” รับมือความไม่แน่นอนเกี่ยวกับเงินเฟ้อได้ดีกว่ากลุ่มอื่นๆ (อ่านเพิ่มเติม “ฉีดวัคซีนให้พอร์ตด้วย HEALTHCARE” 13 มิ.ย.)

KT-CHINABOND “พร้อม” รับมือการปรับนโยบายของเฟด เพราะจีนเริ่มกระบวนการ normalization ทยอยถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมานานก่อนใคร ยีลด์พันธบัตรจีนก็สูงกว่าของสหรัฐมาก แถมตั้งอยู่บน 2 แนวโน้มใหญ่ระดับ megatrends คือ (1) Open Up จีนเพิ่งเปิดประตูต้อนรับทุนโลกมาได้ไม่นาน ต่างชาติยังถือครองน้อย fund flows จึงมีแนวโน้มไหลเข้าตลาดบอนด์จีนอย่างต่อเนื่อง (2) Adoption เงินหยวนถูกนำไปใช้หมุนเวียนในตลาดโลกมากขึ้นเรื่อยๆ IMF เผยสถิติทุนสำรองระหว่างประเทศล่าสุด เงินหยวนครองส่วนแบ่งตลาด (market share) เพิ่มขึ้น 5 ไตรมาสติดต่อกัน (อ่านเพิ่มเติม “CHINABOND” 2 พ.ค.)


คำเตือน: ความเห็นส่วนบุคคล ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน คู่มือการลงทุน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

 
 
บทความอื่น
KTAM Focus : เลิกกลัวเงินเฟ้อ
KTAM Focus : QE Taper-วิ่ง
KTAM Focus : ดรีมทีม