KTAM Focus : เลิกกลัวเงินเฟ้อ

โดย…ณัฏฐะ มหัทธนา
ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์
บลจ.กรุงไทย

รายงานประชุม FOMC 27-28 เม.ย. เผยเจ้าหน้าที่เฟด “จำนวนหนึ่ง” อยากเริ่มหารือแผนลด QE ในการประชุมครั้งถัดๆไป ถ้าเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวดีจนมีแนวโน้มเข้าสู่เป้าหมายของเฟดอย่างรวดเร็ว

จังหวะแรกที่รายงานออกมาใหม่ๆ (คืนวันพุธ) ตลาดดูตึงเครียดเพราะนักลงทุนจำนวนไม่น้อยมองเฟดส่งสัญญาณ “เข้มงวด” กว่าคำมั่นสัญญาที่ย้ำตลอดมาว่า อยากเห็นการจ้างงานและเงินเฟ้อ “เข้าเป้า” แบบจะๆก่อนเริ่มปรับนโยบาย …แต่หลังจากนั้นไม่กี่อึดใจ… ดัชนีหุ้นสหรัฐรีบาวด์จนปิดใกล้จุดสูงสุดของวัน Nasdaq เหลือลบนิดเดียวและ outperform โดยหุ้นเติบโตสูงกลุ่ม technology และ communication services เป็นเพียง 2 sectors ที่ปิดบวก ตีความได้ว่าตลาดไม่กลัวเฟดลด QE ขณะ “inflation winners” อย่าง energy และ materials ลงไปรั้งบ๊วยร่วงแรงสุด ตอกย้ำคำยืนยันของเราว่า ณ จุดนี้นักลงทุนควร “เลิกกลัวเงินเฟ้อ” กันได้แล้ว

เฟดใช้เพียง 1 ประโยคสยบ 2 สิ่งที่ตลาดวิตก เราขอ “ซูฮก” วิธีสื่อสารอันเหนือชั้นในรายงานประชุม FOMC ฉบับนี้ โดยเฉพาะการบรรจงเขียนข้อความสำคัญที่คลี่คลายความกลัวเงินเฟ้อ ขณะเดียวกันก็ช่วยปลอบนักลงทุนว่าเฟดจะไม่รีบลด QE ด้วย! เฟดสามารถบรรลุ 2 วัตถุประสงค์ซึ่งสวนทางกัน 180 องศาได้อย่างไร? ไปดูประโยคนั้น…

“A number of participants suggested that if the economy continued to make rapid progress toward the Committee’s goals, it might be appropriate at some point in upcoming meetings to begin discussing a plan for adjusting the pace of asset purchases”

ทั้งประโยคเคลียร์ชัด “เลิกกลัวเงินเฟ้อกันได้แล้ว” เพราะเฟดดูแลอยู่โดยขู่ลด QE ถ้าเศรษฐกิจร้อนแรง …ทีนี้จะทำอย่างไรไม่ให้ตลาดหันไปกังวลว่าเฟดจะลด QE เร็วอีกล่ะ? มาเจาะ 2 วลีสำคัญ

continued to make rapid progress สร้างความมั่นใจว่า “เฟดลด QE ยากมาก” หากเห็นการฟื้นตัวช้าหรือไม่ต่อเนื่อง นักลงทุนรู้ดีว่าภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว “ความไม่แน่นอน” จะทำหน้าที่เสมือนโซ่ล่ามเหนี่ยวรั้งไม่ให้เฟดปรับนโยบายง่ายๆ

begin discussing a plan แม้เศรษฐกิจฟื้นเร็วต่อเนื่องเฟดก็แค่ “เริ่มคุยวางแผน” ไม่ใช่เริ่มลด QE

“ภาวะขาดแคลน” หนุนราคาสินค้าพุ่งอันเป็นต้นตอของเงินเฟ้อ แต่ถ้าของแพงเกินหรือขาดสต็อกจนถึงขั้นมีเงินก็ซื้อไม่ได้ นอกจากจูงใจผู้ผลิตให้ขยาย capacity เพิ่มอุปทานแล้ว ยังกดดันให้ผู้บริโภคลดการใช้หรือมองหา “สินค้าทดแทน” (substitutions) ณ จุดหนึ่งราคาจึงหยุดขึ้นแล้วเริ่มกลับลงมา ตัวอย่างเช่น วิกฤตน้ำมันแพงเมื่อสิบกว่าปีก่อนเพราะคนกลัว “น้ำมันหมดโลก” ช่วยเพิ่มความคุ้มค่าของการพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) จนเข้าสู่กระแสหลักในปัจจุบัน …น้ำมันไม่หมดโลกและราคาไม่เคยกลับขึ้นไปใกล้จุดสูงสุดเดิมอีกเลย… เซมิคอนดักเตอร์กำลังขาดแคลน ผลักดันให้บรรดาผู้ผลิตชิปลงทุนมหาศาลขยาย production เพิ่มซัพพลายในอนาคต ขณะเดียวกัน “ผู้ซื้อ” ก็ปรับตัว อาทิ บางค่ายรถเสนอส่วนลดจูงใจให้ลูกค้าตัดออปชั่นที่ไม่จำเป็นออกไปเพื่อลดการใช้ชิป ช่วยเร่งการผลิตและส่งมอบให้เร็วขึ้น เป็นต้น

ปัจจัยกระตุ้นเงินเฟ้ออาจเบากว่าที่เคยคาดไว้ ทำเนียบขาว “ลดขนาด” ข้อเสนอแพคเกจโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure bill) เหลือ $1.7 ล้านล้าน (เดิม $2.25 ล้านล้าน) โดยตัดการลงทุนบรอดแบนด์และถนน/สะพานบางส่วนออกไป เพื่อเพิ่มโอกาสให้ดีลผ่านสภาฯ แต่ก็ยัง “ห่างเป็นวา” จากระดับที่ฝ่ายรีพับลิกันรับได้ซึ่งต่ำกว่านี้มาก

ตลาดคลายกังวลเงินเฟ้อ เฟดไม่รีบลด QE สนับสนุนการกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ของ “ตราสารหนี้”

KT-CHINABOND เริ่มซื้อขายปกติวันแรกจันทร์นี้ 24 พ.ค. เปิดรับโอกาสจากตลาดตราสารหนี้จีนอันกว้างใหญ่และกำลังดึงดูดเม็ดเงินของนักลงทุนทั่วโลกซึ่งแสวงหายีลด์ที่สูงขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน ” CHINABOND ” 2 พ.ค.)

คำเตือน: ความเห็นส่วนบุคคล ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน คู่มือการลงทุน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน