KTAM Focus : ทีมจีน

โดย…ณัฏฐะ มหัทธนา
ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์
บลจ.กรุงไทย

ธนาคารกลางจีน (People’s Bank of China: PBOC) เพิ่มอัตราการเสริมสภาพคล่องแก่ตลาดเงินครั้งแรกตั้งแต่ มี.ค. เมื่อวันพฤหัสฯ (24 มิ.ย.) PBOC อัดฉีด 3 หมื่นล้านหยวนผ่านธุรกรรมซื้อโดยมีสัญญาขายคืน (reverse repo) อายุ 7 วัน เทียบกับ 1 หมื่นล้านหยวนที่ครบอายุจึงถือว่า “ฉีดสุทธิ” (net injection) 2 หมื่นล้านหยวนเข้าสู่ระบบ นับเป็นการปรับจูนนโยบายเชิง “ผ่อนคลาย” ครั้งสำคัญหลังจาก 3 เดือนที่ผ่านมาฉีดสภาพคล่องเพียงวันละ 1 หมื่นล้านหยวน

ทั้งนี้ PBOC ยังคงฉีดสุทธิต่อเนื่องอีก 2 หมื่นล้านหยวนในวันศุกร์ (ฉีด 3 หมื่นล้าน – ครบอายุ 1 หมื่นล้าน แบบเดียวกับวันพฤหัสฯ) ช่วยกดดอกเบี้ยข้ามคืนระหว่างธนาคาร (overnight interbank funding costs) เหลือ 1.54% ต่ำสุดในรอบกว่า 1 เดือน

จีนทยอยถอนมาตรการกระตุ้นและเริ่มปรับนโยบายเข้าสู่ภาวะปกติ (normalization) นำหน้าสหรัฐ ช่วยให้จีน “เตรียมพร้อม” ลดผลกระทบหากเฟดลด QE หรือขึ้นดอกเบี้ย Bloomberg นำเสนอบทความระบุว่า ถึงแม้เงินเฟ้อผู้ผลิต (PPI) สูงแต่เงินเฟ้อผู้บริโภค (CPI) ของจีนยังคงต่ำ เปิดทางสะดวกให้ PBOC ค่อยๆจำกัดการขยายตัวของสินเชื่ออย่างระมัดระวังเพื่อมิให้เศรษฐกิจสะดุด สวนทางกับสหรัฐซึ่งรัฐบาลไบเดนอัดสารพัดแพคเกจกระตุ้น หนุนเงินเฟ้อสหรัฐพุ่งแรงกว่าคาด จนเฟดต้องขยับคาดการณ์วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นเร็วกว่าเดิม และเริ่มพูดคุยถึงแนวทางการหารือเรื่องลด QE

จีนวันนี้ “แกร่ง” กว่าสมัยเฟดขึ้นดอกเบี้ยรอบที่แล้วมาก 6 ปีก่อน (2015) ดอกเบี้ยจีนต้องขึ้นตามสหรัฐเพื่อชะลอกระแสทุนไหลออก (capital outflows) แต่ปัจจุบันมันตรงข้าม! เงินต่างชาติมีแนวโน้มไหลเข้าจีนยาวและชัดเจน ดังนั้น พอถึงเวลาที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย/ลด QE เงินหยวนมีโอกาสอ่อนค่าบ้างแต่ไม่น่ารุนแรงและผู้กำหนดนโยบายของจีนก็คงยิ้มรับ (PBOC เคยบ่นว่าหยวนแข็งค่าเร็วไป) เพราะส่งผลดีต่อการส่งออกตลอดจนเศรษฐกิจจีนภาพรวม โดยถึงแม้เงินหยวนอ่อนค่าลงราว 1% หลังประชุมเฟด แต่ก็ยัง +1.1% ในปีนี้และแข็งค่าเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย

นักเศรษฐศาสตร์หลายรายคาด “จีนยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยปีนี้” ส่วนหนึ่งเพราะ PBOC “เข้มงวด” นำหน้าใครๆไว้เยอะตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังปี 2020 แถมตัวเลขเศรษฐกิจจีนล่าสุดส่งสัญญาณ “ชะลอ” (ยังเติบโตแต่ช้าลง) โดยเฉพาะการบริโภค เปิดทางให้ PBOC ฉีดสภาพคล่องเพิ่มขึ้นดังที่กล่าวไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ความต้องการหยวนจากภาคธุรกิจ (corporate demand) เพิ่มขึ้นครั้งแรกของปีในเดือน พ.ค. ช่วยพยุงให้เงินอ่อนค่าไม่มากนัก แม้ผู้กำหนดนโยบายเริ่มหันมาผ่อนคลาย

ตราสารหนี้จีน “ยีลด์สูง” ดึงดูดนักลงทุนทั่วโลก เป็นอีกปัจจัยหนุนค่าเงินหยวน แม้เฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ยีลด์พันธบัตรอายุ 10 ปีของจีนก็ยังสูงกว่าของสหรัฐอยู่ถึง 1.6% นอกจากนี้ การเข้าสู่ดัชนีระดับโลกอย่าง FTSE Russell ช่วยขับเคลื่อน fund flows เข้าสู่ตลาดบอนด์จีนในระยะยาว

KT-CHINABOND “คุ้มค่าสุด” ในบรรดากองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ เปิดรับโอกาสจากตลาดบอนด์จีนอันกว้างใหญ่และกำลังดึงดูดเม็ดเงินของนักลงทุนทั่วโลกซึ่งแสวงหายีลด์ที่สูงขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ

กองทุนบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน USD/THB ตามดุลพินิจ มุ่งจัดการผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์ในระยะสั้นอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการลงทุนให้สมศักยภาพของสินทรัพย์ประเภทนี้

ดัชนี CSI 300 +2.69% ในสัปดาห์ล่าสุด หุ้นจีน A-shares แกว่งออกข้างขณะค่อยๆขยับขึ้น (sideway up) อย่างเงียบๆมา 3 เดือน +6.37% จากระดับปิดต่ำสุด 4,926.35 (25 มี.ค.) และต้องบวกอีกราว 11% จึงจะถึงยอดเดิม (5,807.72 วันที่ 10 ก.พ.) …ยังไม่ช้าเกินไป สำหรับผู้ที่ต้องการเข้าลงทุนรอบใหม่

หุ้นจีน “จำเป็นต้องขึ้น” ในระยะยาว เพื่อให้เกิด wealth effect (ราคาสินทรัพย์ปรับตัวขึ้นทำให้คนรู้สึกมั่งคั่ง) สนับสนุน “การบริโภค” อันเป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจจีนในปัจจุบันและอนาคต การปรับฐานช่วงครึ่งปีแรกผ่านพ้นไปแล้ว ตลาดน่าจะเปลี่ยนรูปแบบขาขึ้น จากเดิม liquidity-driven “ขับเคลื่อนด้วยสภาพคล่อง” ในปี 2020 กลายมาเป็น quality & growth-driven “ขับเคลื่อนด้วยคุณภาพและการเติบโตของผลประกอบการ” นับจากนี้

ปัจจัยบวกระยะสั้น เศรษฐกิจชะลอบ้างช่วยกระตุ้นให้รัฐบาลจีนหันมาสนับสนุนการเติบโตมากยิ่งขึ้น ส่งออกขยายตัวแรงยืนยันว่าโลกยังพึ่งพาสินค้าจีน ผลประกอบการ Q1 ของบริษัทจีนภาพรวมแข็งแกร่ง ดัชนีหุ้น A-shares ค่อยๆฟื้นกลับมาเป็นขาขึ้นตั้งแต่ มี.ค. และเงินทุนต่างชาติ (fund flows) มีแนวโน้มไหลเข้าตลาดจีนทั้งหุ้นและบอนด์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

KT-Ashares “ศูนย์หน้าตัวเป้า” มุ่งยิงประตูสร้างรีเทิร์นเป็นกอบเป็นกำ เศรษฐกิจจีนขยายตัวสูง การเติบโตจึงกระจายไปยังหลากหลายธุรกิจ เหมาะกับกลยุทธ์ sector neutral ของกองทุนหลักซึ่งมีจุดแข็งที่ “การคัดเลือกหุ้น” (security selection) โอกาสสร้าง alpha เปิดกว้างในตลาดเซี่ยงไฮ้/เซินเจิ้น เนื่องจากนักลงทุนรายย่อยซื้อขายกันหนาแน่น

Lucy Liu (ลูซี่ หลิว) ผู้จัดการ BlackRock China Fund กองทุนหลักของ KT-CHINA เผยมุมมองกลางปีระบุ ผู้คุมกฎจีนคงคุมเข้มบรรดาบริษัทเทคยักษ์ต่อไปอีกเป็นปีๆ กองทุนจึงน่าจะ underweight หุ้นกลุ่มดังกล่าวต่อไปอีกสักพักใหญ่

“วัฏจักรคุมเข้มกฎระเบียบรอบนี้ยาวนานกว่าปี 2018” มือบริหารพอร์ตสไตล์ยืดหยุ่นผู้กุมบังเหียนกองทุนหุ้นจีน flagship ของ fund house ใหญ่สุดในโลกตั้งแต่ ส.ค. 2019 กล่าวที่งานสัมมนา Mid-Year Asia Investment Outlook

หุ้นจีนกลุ่มเทคโนโลยีกำลังเผชิญความท้าทาย มิใช่ในแง่กฎระเบียบเท่านั้น แต่รวมถึงการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น โดยแนวโน้มใหม่ของ e-commerce ผลักดันให้บริษัทต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพิ่ม ซึ่งจะกดดันผลตอบแทนจากเงินลงทุน (return on investment) ในระยะสั้นสำหรับบรรดาเจ้าของแพลตฟอร์มขนาดใหญ่

เห็นโอกาสดีในหุ้นอินเตอร์เน็ตขนาดกลาง-เล็ก (mid-small cap) เพราะเผชิญความเสี่ยงด้านกฎระเบียบน้อยกว่า และจำนวนผู้ใช้งานยังโตสูง Lucy ชอบกลุ่ม short video และ livestreaming เป็นพิเศษ แม้ไม่เผยชื่อหุ้นในงานสัมมนา ทว่า factsheet สิ้นเดือน พ.ค. เห็น Kuaishou Technology ซึ่งทำธุรกิจดังกล่าวติด top-10 holdings ขณะกองทุนถือหุ้นแพลตฟอร์มยักษ์ Tencent และ Alibaba ในสัดส่วนต่ำกว่าดัชนีชี้วัด (6.59% และ 4.56% ตามลำดับ)

หุ้นจีนในฮ่องกงและสหรัฐเริ่มฟื้น ส่วนหนึ่งได้แรงหนุนด้านสภาพคล่อง หลังเฟดเคลียร์ความเข้าใจกับตลาดจากควันหลงประชุม FOMC ดังที่เราคาดไว้ ทั้งนี้ ถึงแม้กองทุนเผชิญความท้าทายตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เราก็ยังคงมั่นใจศักยภาพการเติบโตระยะยาวของตลาด All-China รวมถึงสไตล์การบริหารที่เน้นความยืดหยุ่นของผู้จัดการกองทุน “นักสู้” รายนี้อยู่แล้ว KT-CHINA ณ ระดับราคาปัจจุบันจึงน่าสนใจและคุ้มค่าแก่การลงทุนด้วยประการทั้งปวง

คำเตือน: ความเห็นส่วนบุคคล ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน คู่มือการลงทุน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

บทความอื่น
KTAM Focus : ฉีดวัคซีนให้พอร์ตด้วย HEALTHCARE
KTAM Focus : เลิกกลัวเงินเฟ้อ
KTAM Focus : CHINABOND

KTAM Focus : QE Taper-วิ่ง
KTAM Focus : ดรีมทีม