5 เดือนเงินไหลออกกองทุนหุ้นไทย 1.3 หมื่นล. “หุ้นขนาดกลาง-เล็ก” ผลตอบแทนสูง

HoonSmart.com>> กองทุนหุ้นไทย 5 เดือนแรก เงินไหลออกสุทธิ 1.3 หมื่นล้านบาท เปิดผลตอบแทนกองทุนหุ้นขนาดกลาง-เล็กเฉลี่ย 10.4% แกะพอร์ตลงทุน “หุ้นหมวดเทคโนโลยีและสินค้าอุตสาหกรรม” สัดส่วนสูง หนุนผลตอบแทนชนะกองทุนหุ้นขนาดใหญ่เฉลี่ยอยู่ที่ 5.5% ชู “กองทุนเอ็มเอฟซี มิด สมอล แค็ป ชนิดผู้ลงทุนทั่วไปที่รับเงินปันผล” (M-MIDSMALL-D) แชมป์กองทุนกลุ่มหุ้นขนาดกลาง-เล็ก อยู่ที่ 38.46%

บริษัทมอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา (เม.ย.-พ.ค.2564) ประเทศไทยยังต้องเจอกับการแพร่ระบาด Covid-19 รอบใหม่ ทำให้มีผู้ติดเชื้อรายวันจำนวนมาก ถือเป็นแรงกดดันต่อการลงทุนหุ้นไทยโดยรวม ตลาดหุ้นไทยจึงปรับตัวขึ้นได้เพียงเล็กน้อย โดยผลตอบแทน SET TR อยู่ที่ 1.3% และ SET mai TR อยู่ที่ 5.1% แต่จากช่วงต้นปีที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นได้ดี ทำให้ SET TR ในช่วง 5 เดือนแรกอยู่ที่ 11.9% และ SET mai TR อยู่ที่ 45.3%

อย่างไรก็ตามจากการปรับตัวขึ้นของผลตอบแทนทำให้กองทุนหุ้นไทย (ไม่รวม LTF RMF และ SSF) ยังมีทิศทางของเงินไหลออก โดยในเดือนเม.ย.และพ.ค.เป็นเงินไหลออกสุทธิรวม 861 ล้านบาท รวม 5 เดือนแรกเป็นเงินไหลออกสุทธิกองทุนหุ้นไทยแล้ว 1.3 หมื่นล้านบาท มูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 2.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จากสิ้นปี 2564

ด้านผลตอบแทนเฉลี่ยรายกลุ่ม จะพบว่าในปีนี้กองทุนหุ้นขนาดกลาง-เล็กสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าอย่างชัดเจน หรือโดยเฉลี่ยที่ 10.4% ในขณะที่กลุ่มกองทุนหุ้นขนาดใหญ่อยู่ที่ 5.5% (ข้อมูล ณ วันที่ 31 พ.ค.2564)

การลงทุนของกองทุนหุ้นขนาดกลาง-เล็กโดยเฉลี่ยมีการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมการเงินเป็นสัดส่วนสูงสุด ซึ่งจะมีทั้งธุรกิจสินเชื่อและธนาคาร โดยมอร์นิ่งสตาร์ได้ลองแบ่งกองทุนในกลุ่มหุ้นขนาดกลาง-เล็กออกเป็น 4 กลุ่มตามผลตอบแทนสะสมรอบ 5 เดือนที่ผ่านมา (Quartile 1 ถึง 4) โดย Quartile 1 หมายถึงผลตอบแทนดีสุดและ Quartile 4 คือกลุ่มผลตอบแทนต่ำสุด พบว่ากลุ่ม Quartile 1 มีการลงทุนในหุ้นการเงิน 21.6% ตามมาด้วยกลุ่ม Consumer Cyclical 14.4% และ Technology 11.1%

นอกจากนี้กลุ่ม Quarter 1 ลงทุนในกลุ่ม Industrials ในสัดส่วนสูงเป็นอันดับ 5 ซึ่งเป็นธุรกิจที่สร้างผลตอบแทนสูง ทำให้โดยรวมกลุ่ม Quartile 1 มีการลงทุนในกลุ่มผลตอบแทนค่อนไปทางปานกลางถึงสูง

ในขณะที่กลุ่ม Quartile 4 ลงทุนในกลุ่มการเงินและ Consumer Cyclical โดยเฉลี่ยสูงสุดเช่นกัน แต่มีการลงทุนในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate) ในสัดส่วนที่ 10.6% ซึ่งสูงสุดเมื่อเทียบกับ Quartile 1 ถึง 3 โดยในช่วงที่ผ่านมากลุ่ม Real Estate มีผลตอบแทนเฉลี่ยต่ำกว่าหมวดธุรกิจอื่น ทั้งนี้กลุ่ม Quartile 4 มีการลงทุนในหมวดสื่อสารที่สูงเช่นกัน ทำให้กลุ่ม Quartile 4 ลงทุนในหมวดธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนปานกลางถึงต่ำเป็นสัดส่วนหลัก ทั้งนี้ การแบ่ง Sector เป็นไปตามรูปแบบการจัดหมวดโดยมอร์นิ่งสตาร์ ทำให้อาจมีบางธุรกิจถูกจัดอยู่ Sector ที่ต่างกับการจัดหมวดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

สำหรับ 10 อันดับผลตอบแทนกองทุนหุ้นกลางและเล็กทำผลตอบแทนสูงสุดในรอบ 5 เดือนแรกปี 2564 ได้แก่ กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี มิด สมอล แค็ป หุ้นระยะยาว (MIDSMALLLTF) ผลตอบแทน 39.62% รองลงมากองทุนเปิดเอ็มเอฟซี มิด สมอล แค็ป ชนิดผู้ลงทุนทั่วไปที่รับเงินปันผล (M-MIDSMALL-D) 38.46% อันดับสาม กองทุนเปิดกรุงไทยหุ้น Mid-Small Cap (KTMSEQ) 32.86% อันดับสี่ กองทุนเปิดทาลิส MID-SMALL CAP หุ้นทุน (TLMSEQ) อยู่ที่ 31.45% อันดับห้า กองทุนเปิด แอสเซทพลัส สมอล แอนด์ มิด แคป อิควิตี้ (ASP-SME) 29.06%

อันดับเจ็ด กองทุนเปิดเคเคพี SMALL AND MID CAP EQUITY (KKP SM CAP) อยู่ที่ 27.76% อันดับแปด กองทุนเปิด แอสเซทพลัส สมอล แอนด์ มิด แคป อิควิตี้ หุ้นระยะยาว ชนิดมีสิทธิประโยชน์ทางภาษี (ASP-SMELTF-T) อยู่ที่ 27.74% อันดับแปด กองทุนเปิด ยูไนเต็ด ไทย สมอล์ แอนด์ มิด แคป อิควี้ตี้ ฟันด์ (UTSME) อยู่ที่ 27.57% อันดับเก้า กองทุนเปิด ยูไนเต็ด ไทย สมอล์ แอนด์ มิด แคป หุ้นระยะยาว (UTSME-LTF) อยู่ที่ 26.89% และอันดับสิบ กองทุนเปิด ทิสโก้ สแตรทิจิก ฟันด์ ชนิดหน่วยลงทุน (A TSF-A) อยู่ที่ 24.00%

ผลตอบแทนกองทุนหุ้นต่างประเทศ 5 เดือนแรกปรับขึ้นต่อเนื่อง