ความจริงความคิด : การบริหารพอร์ตการลงทุนสำหรับคนหลังเกษียณ ตอนที่ 2

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

ครั้งที่แล้ว เราพูดกันถึงพอร์ตการลงทุนสำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นสำหรับชีวิตวัยเกษียณไปแล้ว วันนี้เรามาต่อ พอร์ตการลงทุนสำหรับค่าใช้จ่ายในอนาคตกันเลยครับ

พอร์ตการลงทุนสำหรับค่าใช้จ่ายในอนาคต มีประโยชน์ ดังนี้

• เพื่อสำรองสำหรับการใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น เช่น ค่ารักษาพยาบาล ฯลฯ

• เพื่อสำหรับใช้จ่ายในความสุขบั้นปลาย เข่น การเดินทางท่องเที่ยว ฯลฯ

• เพื่อสำรองสำหรับการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในอนาคตจากเงินเฟ้อ อย่าลืมนะครับ ปัจจุบันอายุขัยของคนเราสูงขึ้นเรื่อยๆ ถึงขนาดมีการคาดการณ์กันแล้วว่า ในอีก 20 ปีข้างหน้า อายุหลังเกษียณของคนไทยจะเพิ่ม 2 เท่าจากปัจจุบัน หรือพูดง่ายๆ คนไทยจะแก่ตายแถวอายุ 100 ปี ตอนอายุ 60 ปี เราอาจใช้เดือนละ 10,000 บาทพอ แต่อายุ 100 ปี 10,000 บาทคงซื้ออะไรไม่ได้มากนัก เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ผมกินบะหมี่ชามละ 5 บาท ปัจจุบันชามละ 50 บาท เท่ากับเพิ่มขึ้น 10 เท่าในเวลา 40 ปี ทำนองเดียวกัน 10,000 บาทที่พอใช้ตอนอายุ 60 อาจต้องเป็น 100,000 บาทถึงพอใช้ก็ได้

• เพื่อเป้าหมายระยะยาวในบั้นปลาย เช่น อยากมีเงินก้อนสำหรับเป็นมรดกให้ลูกหลาน เป็นต้น

จากความต้องการดังกล่าว จะเห็นว่าเป้าหมายของพอร์ตการลงทุนสำหรับคนเกษียณจึงเป็นการบริหารพอร์ตเพื่อให้เงินพอใช้ตลอดอายุเกษียณ ไม่ใช่การรักษาเงินต้น ดังนั้น พอร์ตการลงทุนที่เน้นลงทุนเฉพาะในพันธบัตรรัฐบาลหรือเงินฝากธนาคารจึงไม่ใช่พอร์ตที่ถูกต้อง

พอร์ตการลงทุนสำหรับคนเกษียณ ควรมีลักษณะดังนี้

ควรเป็นการลงทุนที่มีความมั่นคง เนื่องจากเป็นการสำรองสำหรับการดำรงชีพ โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือนที่ไม่ได้เตรียมอาชีพเสริมหลังเกษียณ ดังนั้นความสามารถในการรับความเสี่ยงจะต่ำ หากพิจารณาในประเด็นนี้ หลักทรัพย์ที่ลงทุนควรเป็นหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคง อย่างเช่น หากเป็นตราสารหนี้ควรเป็นพันธบัตรรัฐบาล หรือหุ้นกู้เอกชนที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูง หากเป็นหุ้นควรเป็นหุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมที่มั่นคงทนต่อความผันผวนของเศรษฐกิจได้ดี เช่น หุ้นกลุ่มโรงพยาบาล ค้าปลีก ธนาคาร เป็นต้น

ควรกระจายความเสี่ยงในการลงทุนในหลักทรัพย์หลากหลายประเภท และหลากหลายอุตสาหกรรม เพราะแม้จะเลือกหุ้นผู้นำในอุตสาหกรรมที่มั่นคงแล้ว แต่อนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอน อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมหรือในหุ้นที่เราลงทุนได้ อย่างเช่นที่เกิดกับหุ้นกลุ่มโทรคมนาคม นอกจากนี้อุตสาหกรรมหนึ่งอาจได้ประโยชน์ในภาวะการลงทุนหนึ่ง แต่อาจแย่ในภาวการณ์ลงทุนอื่นก็ได้ ดังนั้นเพื่อการบริหารความเสี่ยงในแต่ละภาวะการลงทุน ควรที่จะกระจายความเสี่ยงในหลักทรัพย์แต่ละประเภท เช่น หุ้น พันธบัตร ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ

ควรเป็นพอร์ตการลงทุนที่มีผลกระทบต่อเงินต้นไม่มากนัก โดยเฉพาะเมื่อมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันกระทบผลตอบแทนของการลงทุนในแต่ละหลักทรัพย์ ดังนั้น พอร์ตส่วนใหญ่จึงควรลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น พันธบัตรรัฐบาล, หุ้นกู้เอกชนที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูง เป็นต้น

ควรมีสภาพคล่องสูง เพราะความไม่แน่นอนของการใช้เงินมีสูง โดยเฉพาะค่ารักษาพยาบาล อาจก่อให้เกิดความจำเป็นต้องขายหลักทรัพย์เพื่อนำมาใช้จ่าย ดังนั้นการคำนึงถึงสภาพคล่องของหลักทรัพย์ที่ลงทุนจึงเป็นสิ่งสำคัญ อย่างเช่น พันธบัตรรัฐบาล หรือหุ้นกู้เอกชนที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูง หากเป็นหุ้นก็ควรเป็นหุ้นที่มีปริมาณการซื้อขายสูง เช่น หุ้นในกลุ่ม SET50, SET100 เป็นต้น

ควรเป็นการการลงทุนที่ให้เงินได้ประจำอย่างสม่ำเสมอ เพราะกระแสเงินสดจากกองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกันชีวิต ประกันบำนาญมักเป็นกระแสเงินคงที่ที่ไม่เปลี่ยนแปลงตามภาวะเงินเฟ้อ และไม่เพียงพอกับการใช้จ่าย ดังนั้นการเลือกหลักทรัพย์ที่ให้เงินได้ประจำก็จะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายอีกแรง เช่น หุ้นกู้เอกชน กองทุนอสังหาริมทรัพย์ หุ้นปันผล เป็นต้น

อ่านบทความอื่นๆ

ความจริงความคิด : การบริหารพอร์ตการลงทุนสำหรับคนหลังเกษียณ ตอนที่ 1

ความจริงความคิด : การบริหารความเสี่ยงในการลงทุน