จีนโหมเข้าลงทุนไทย มุ่งธุรกิจ ‘บริการ-ไฮเทค’

HoonSmart.com>>ไทยพาณิชย์เปิดผลสำรวจ จีนสนใจลงทุนไทยในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า คาดเม็ดเงินมากเกินคาดหลังจากอั้นมานาน เชื่อมั่นศักยภาพตลาด ศูนย์กลางขยายสู่อาเซียน ปรับโครงสร้างลงทุนจากขนาดใหญ่ เป็นเอสเอ็มอี เจาะภาคบริการ เทคโนโลยีเพิ่มขึ้น ถือเป็นความท้าทายนักธุรกิจไทยที่เผชิญคู่แข่ง เร่งปรับตัวมองหาโอกาสได้เช่นกัน

มาณพ เสงี่ยมบุตร

นายมาณพ เสงี่ยมบุตร รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงานการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า กลุ่มธุรกิจจีน ธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมกับ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC)ได้สำรวจทิศทางการลงทุนของนักลงทุนจีนภายหลังโควิด-19 โดยจัดทำแบบสอบถามและสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทจีนขนาดกลางและขนาดใหญ่ ทั้งที่อยู่ในจีนและในประเทศไทยจำนวน 170 ราย พบว่า นักลงทุนจีนมากกว่า 2 ใน 3 สนใจที่จะขยายการลงทุนมายังประเทศไทยภายในระยะเวลา 1-2 ปีข้างหน้า ที่น่าสนใจคือราว 60% เป็นกลุ่มที่ไม่เคยลงทุนหรือทำธุรกิจในประเทศไทยมาก่อน ประเมินประเทศไทยเป็นตลาดที่มีศักยภาพ  มีความพร้อมและอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่จะสามารถก้าวเป็นศูนย์กลางแห่งอาเซียน เพื่อเชื่อมโยงตลาดสู่ประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างกว้างขวาง ซึ่งแตกต่างจากมุมมองในอดีตที่มองว่าประเทศไทยเป็นเพียงฐานการผลิตเพื่อส่งออกเท่านั้น นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถาม 66% ได้วางแผนที่จะเพิ่มการลงทุนในประเทศไทย

การศึกษาครั้งนี้ยังพบว่าโครงสร้างการลงทุนของนักลงทุนจีนมีทิศทางเปลี่ยนไป จากที่มุ่งเน้นการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมที่ใช้เงินลงทุนสูง เช่น อุตสาหกรรมยางล้อรถยนต์ และแผงพลังงานแสงอาทิตย์ มักจะต้องใช้เม็ดเงินลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาท มาสู่การลงทุนขนาดเล็กลง  โดยผู้ตอบแบบสอบถาม 57% สนใจจะเข้ามาลงทุน โดยใช้เม็ดเงินลงทุนมูลค่าต่ำกว่า 500 ล้านบาทต่อโครงการในระยะ 1-2 ปีจากนี้ เพราะบริษัทจีนในกลุ่มเอสเอ็มอีต้องการย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากปัญหาสงครามการค้า อีกทั้งต่อยอดห่วงโซ่อุปทานของสายการผลิตให้กับอุตสาหกรรมหลัก (Supply Chain Integration) ซึ่งจะใช้เงินลงทุนในช่วงแรกน้อยลงเพื่อเรียนรู้ตลาดก่อนขยายธุรกิจในอนาคตตามโอกาสและทิศทางการเติบโต

“เชื่อว่าจะมีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนเกินคาดวามคาดหมาย ส่วนหนึ่งเกิดจากการอั้นการลงทุนในปีก่อนและปีนี้  โดยภาคธุรกิจบริการและเทคโนโลยี เป็นเป้าหมายของนักธุรกิจจีนที่มีแนวโน้มจะขยายการลงทุนในประเทศไทยต่อไป  ที่ผ่านมามีสำนักงานทนายความ เชนร้านอาหารของจีน เข้ามาเปิดในเมืองไทยแล้ว และประสบความสำเร็จ  แล้ว”นายมาณพกล่าว

อย่างไรก็ตามถือเป็นความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการไทยในการเผชิญกับคู่แข่งที่มีความได้เปรียบทั้งด้านต้นทุนที่ต่ำกว่า และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า รวมถึงประสบการณ์จากตลาดที่มีการแข่งขันสูง ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจะต้องเตรียมพร้อมธุรกิจเพื่อรับมือกับการแข่งขันที่เข้มข้นมากขึ้น โดยยกระดับกระบวนการผลิตสินค้าด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนแนวทางการร่วมเป็นคู่ค้ากับนักลงทุนจีนเพื่อต่อยอดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งผู้ประกอบการไทยมีความได้เปรียบ เช่น ความเข้าใจตลาดผู้บริโภคไทย รวมถึงความสามารถจัดหาวัตถุดิบ จะช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการและแรงงานไทยสามารถคว้าโอกาสจากการเข้ามาของนักลงทุนได้อย่างเต็มศักยภาพมากยิ่งขึ้น