ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิต ช.การช่างที่ A- ผู้นำธุรกิจรับเหมา สามารถรับงานใหญ่ โครงการเฉพาะทางได้ ห่วงหนี้สูง ณ สิ้นมี.ค. มีงานในมือยังไม่ส่งมอบ 65,446 ล้านบาท
บริษัททริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บริษัท ช. การช่าง (CK) ที่ระดับ “A-” พร้อมทั้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ ไถ่ถอนภายใน 10 ปี ในวงเงินไม่เกิน 2,000 ล้านบาท ที่ระดับ “A-” เช่นเดียวกัน โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ไถ่ถอนหุ้นกู้ที่มีอยู่
อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงสถานะผู้รับเหมาก่อสร้างชั้นนำในประเทศไทย ตลอดจนความสามารถในการรับงานก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่และโครงการที่ต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง รวมทั้งความแข็งแกร่งในการดำเนินโครงการและความยืดหยุ่นทางการเงินที่เกิดจากการลงทุนเชิงกลยุทธ์ของบริษัทด้วย
อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนลงบางส่วนจากภาระหนี้ของบริษัทที่อยู่ในระดับสูง ตลอดจนลักษณะที่เป็นวงจรขึ้นลงและการแข่งขันที่รุนแรงของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง
ผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงไตรมาสแรกของปี 2561 ต่ำกว่าประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้ง โดยรายได้อยู่ที่ระดับ 7,439 ล้านบาท ลดลง 8% ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้น เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 8.6% จาก 8.3% ในปี 2560 ในขณะที่เงินทุนจากการดำเนินงานอยู่ที่ 518 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
บริษัทมีงานรับเหมาก่อสร้างในมือที่ยังไม่ส่งมอบมูลค่า 65,446 ล้านบาท ณ เดือนมี.ค. 2561 โครงการหลัก ๆ ได้แก่ โครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้มมูลค่า 24,800 ล้านบาท โครงการซ่อมบำรุงและซื้อเครื่องจักรรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมูลค่า 13,900 ล้านบาท และโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีมูลค่า 11,600 ล้านบาท ทั้ง 3 โครงการมีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วนถึง 77% ของมูลค่าโครงการที่ยังไม่ส่งมอบทั้งหมดของบริษัท
อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทอยู่ที่ระดับ 61.67% ลดลงจาก 62.21% ในปี 2560 และ 68-72% ในช่วงปี 2556-2559 อัตราส่วนดังกล่าวปรับตัวดีขึ้นภายหลังจาก โอนภาระเงินกู้ยืมของโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงให้แก่ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ไปแล้วซึ่งเป็นไปตามประมาณการของทริสเรทติ้ง
อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องเมื่อพิจารณาจากความต้องการเงินทุนหมุนเวียนและเงินให้กู้ยืมระยะยาวในโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี