สวัสดีค่ะทุกท่าน แม้ว่าสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ในไทยจะเริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น มีการปลดล็อคดาวน์และผู้คนกลับมาดำเนินชีวิตกันตามปกติภายใต้วิถีชีวิตยุคใหม่แบบ New Normal แต่ก็ยังต้องสวมหน้ากากอนามัย และเว้นระยะห่างต่อกันเพื่อลดการสัมผัส (contactless) ทำให้หลายคนเริ่มพูดถึงการก้าวสู่ยุคดิจิทัลที่มีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้อย่างเต็มรูปแบบที่มีวิกฤตครั้งนี้เป็นตัวเร่ง
ลองนึกดูว่าจะมีเหตุการณ์ใดที่ทำให้ผู้คนต้อง work from home หรือประชุมกันผ่าน video conference เกือบทั้งโลก หรือจะมีเหตุการณ์ใดที่จำกัดเราให้ต้องอยู่แต่บ้านโดยพึ่งพาการสั่งอาหารหรือช้อปปิ้งผ่านออนไลน์และชำระเงินด้วยช่องทาง Mobile Banking ซึ่งมูลค่าการทำธุรกรรมผ่านระบบเหล่านี้เติบโตขึ้นจนสูงเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 และถึงแม้ว่าจะมีการคิดค้นวัคซีนเพื่อป้องกันเชื้อไวรัสตัวนี้ได้ ผู้เขียนเองก็เชื่อว่าไลฟ์สไตล์ของผู้คนที่ได้ปรับตัวให้เข้ากับยุค New Normal ไปแล้วนั้น อาจไม่กลับมาเป็นเช่นเดิมอีก ซึ่งในฝั่งของตลาดทุนไทยก็มีความเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน ผู้เขียนจึงขอเล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับตลาดทุนไทยในปัจจุบันและการเตรียมความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงสำหรับอนาคต
เป็นที่ทราบกันดีว่า ทุกวันนี้การทำธุรกรรมของตลาดทุนไทยได้นำระบบดิจิทัลเข้ามาช่วยให้ชีวิตของผู้ลงทุนมีความสะดวกสบายมากขึ้นอยู่แล้วในหลายส่วน ทั้งการส่งคำสั่งซื้อขายหุ้นหรือหน่วยลงทุนผ่านมือถือ รับข้อมูลข่าวสาร บทความ หรือบทวิเคราะห์เกี่ยวกับการลงทุนผ่านอีเมลหรือแอปพลิเคชัน และรับโอนเงินปันผลหรือดอกเบี้ยที่ผูกบัญชีไว้ได้ทันทีโดยแทบไม่ต้องก้าวเท้าออกจากบ้าน แต่ยังมีอีกหลายประเภทธุรกรรมที่ในสถานการณ์ของโควิด-19 ไม่สามารถดำเนินการแบบดิจิทัลได้ เช่น การเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ที่ผู้ลงทุนส่วนใหญ่ยังต้องไปเปิดบัญชีที่สาขาธนาคาร การโอนหรือเปลี่ยนชื่อหลักทรัพย์เพื่อส่งมอบเป็นมรดกให้คนในครอบครัวที่ยังต้องไปดำเนินการกับนายทะเบียน การจองซื้อหลักทรัพย์ที่มีการออกเสนอขายต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (Initial Public Offering) ก็ยังต้องกรอกใบจองซื้อที่เป็นกระดาษอยู่ หรือกระทั่งการจัดประชุมผู้ถือหุ้นที่ยังไม่สามารถจัดแบบออนไลน์ได้ 100% เพราะยังไม่สามารถระบุตัวตนของผู้ที่เข้าร่วมประชุมว่าใช่บุคคลที่มีสิทธิหรือไม่
ก.ล.ต. จึงริเริ่มโครงการที่จะพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลกลาง (digital infrastructure) เพื่อยกระดับตลาดทุนไทยให้เป็นตลาดทุนดิจิทัล โดยนำเทคโนโลยีรูปแบบใหม่เข้ามาปรับใช้เพื่อเสริมประสิทธิภาพและยกเครื่องกระบวนการที่เกี่ยวข้องใหม่ทั้งหมดจากต้นทางจนถึงปลายทาง (End-to-end process) ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การเริ่มเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ การจองซื้อหลักทรัพย์ที่มีการออกเสนอขายครั้งแรก การซื้อขายเปลี่ยนมือหลักทรัพย์ที่ผู้ลงทุนมีอยู่เดิม ไปจนถึงการทำธุรกรรมหลังการซื้อขายแล้วเสร็จ (post-trade) เช่น การขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ลงทุน การโอนเปลี่ยนชื่อผู้ถือครองหลักทรัพย์ หรือกระทั่งการยื่นคำร้องเพื่อขอรับชำระหนี้กรณีที่หลักทรัพย์นั้นเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ เป็นต้น
โครงการนี้ นอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกรองรับวิถีชีวิตแบบดิจิทัลในยุค New normal แล้วยังช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการทำธุรกรรมของผู้ลงทุนลดลง หรือได้รับบริการผ่านระบบดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยโครงการนี้จะเริ่มทดลองการใช้งานจริงบางส่วนแบบวงจำกัดเฉพาะหลักทรัพย์ประเภทหุ้นกู้ภาคเอกชนในช่วงปี 2564 เป็นต้นไป เมื่อทดสอบจนมั่นใจว่าระบบใหม่ทั้งหมดไม่มีปัญหาแล้ว ก็จะทยอยเปิดให้ใช้งานจริงอย่างเต็มรูปแบบและพัฒนาระบบให้รองรับหลักทรัพย์ประเภทอื่น ๆ ต่อไป
สำหรับประโยชน์ของระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลกลาง (digital infrastructure) ที่มีต่อผู้ลงทุนไทยโดยตรงนั้นมีอยู่ด้วยกันหลายด้าน ซึ่งผู้เขียนจะขอทยอยเล่าให้ทุกท่านได้ฟังโดยขอเริ่มจากจุดเริ่มต้นในการเข้าสู่ตลาดทุนซึ่งก็คือ การเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์หรือการทำ Customer Onboarding นั่นเอง
กระบวนการเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ในช่วงก่อนหน้านี้อาจจำเป็นต้องมีการพบปะกันระหว่างบริษัทผู้ให้บริการ (เช่น บริษัทหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน) กับผู้ลงทุนเพื่อทำความรู้จักลูกค้า หรือที่เรียกว่า Know Your Client (KYC) โดยผู้ลงทุนจะให้ข้อมูลต่าง ๆ ในแบบคำขอเปิดบัญชีทำแบบประเมินความเหมาะสมในการลงทุน หรือ Suitability test และแสดงหลักฐานยืนยันตัวตนต่อเจ้าหน้าที่ของผู้ให้บริการ หลังจากนั้นผู้ให้บริการก็จะทำการตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ ก่อนพิจารณาการเปิดบัญชี ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 – 7 วันทำการขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการแต่ละแห่ง และเมื่อจะมีการเปิดบัญชีกับผู้ให้บริการรายใหม่ ผู้ลงทุนก็จะต้องให้ข้อมูลเดิมซ้ำโดยไม่สามารถนำข้อมูลที่มีอยู่แล้วกับผู้ให้บริการรายเดิมมาใช้งานได้
ก.ล.ต. จึงมีความตั้งใจที่จะสร้างสภาพแวดล้อมให้การเข้าสู่ตลาดทุนเป็นเรื่องง่าย โดยพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล (digital infrastructure) ที่เอื้อให้ผู้ให้บริการทุกรายใช้งาน แบบฟอร์มมาตรฐาน (Single form) สำหรับการเปิดบัญชีลงทุนในผลิตภัณฑ์ตลาดทุนทุกประเภทโดยใช้ชุดข้อมูลที่เหมือนกันทั้งอุตสาหกรรม ทำให้ผู้ลงทุนกรอกข้อมูลเปิดบัญชีเพียงครั้งเดียวก็สามารถลงทุนในผลิตภัณฑ์ทุกประเภทในตลาดทุนได้ อาทิ หุ้น ตราสารหนี้ กองทุนรวม หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ทั้งยังสามารถ reuse หรือเรียกใช้ข้อมูลที่เราเคยให้ไว้แล้วในการเปิดบัญชีกับผู้ให้บริการรายหนึ่ง นำไปใช้เปิดบัญชีกับผู้ให้บริการรายอื่นได้ด้วย
วิธีการใช้ Single form ก็ไม่ยาก เมื่อเราได้กรอกแบบฟอร์มเพื่อเปิดบัญชีลงทุนกับผู้ให้บริการรายใดไว้แล้ว หากต่อมาผู้ลงทุนสนใจเปิดบัญชีลงทุนกับผู้ให้บริการรายใหม่ ก็สามารถแจ้งไปยังผู้ให้บริการรายเดิมที่เคยเปิดบัญชีไว้ให้ส่งชุดข้อมูลเปิดบัญชีของเราไปยังผู้ให้บริการรายใหม่ได้ผ่านระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลกลาง (digital infrastructure) ที่จะเชื่อมโยงระหว่างผู้ให้บริการทุกรายไว้ด้วยกันได้อย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่นาที โดยผู้ลงทุนเพียงแค่ลงชื่อรับรองความถูกต้องและเป็นปัจจุบันของข้อมูลไว้ให้ผู้ให้บริการรายใหม่อีกครั้งหนึ่ง ในรูปแบบลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-signature)
นอกจากนี้ หากผู้ลงทุนประสงค์จะให้ข้อมูลแก่ผู้ให้บริการรายใหม่เพิ่มเติมจากที่มีอยู่ใน Single form ก็สามารถทำได้ เนื่องจากบางประเภทบริการอาจจำเป็นต้องใช้ข้อมูลจากผู้ลงทุนที่มากกว่าปกติ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นทางเลือกให้ผู้ลงทุนสามารถเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์จากที่ไหนหรือเมื่อใดก็ได้ (anywhere anytime) ผ่านระบบออนไลน์ของผู้ให้บริการ
ระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล (digital infrastructure) ยังมีประโยชน์สำหรับผู้ลงทุนในด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น การเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐและระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (NDID) เพื่อประโยชน์ในการทำ KYC ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-KYC) เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์แบบดิจิทัลได้ 100% ไปจนถึงการสร้างตัวช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถดูพอร์ตการลงทุนรวมทั้งหมดของตนเอง (Account aggregation) ผ่านระบบออนไลน์ ไม่ว่าจะเปิดบัญชีไว้กับผู้ให้บริการกี่รายก็ตาม ที่เป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการพอร์ตการลงทุนในภาพรวม ซึ่งผู้เขียนจะทยอยเล่าให้ทุกท่านได้ฟังกันต่อไปในบทความครั้งหน้า แล้วพบกันใหม่ สวัสดีค่ะ
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์