กองทุน SSF แผ่วทั้งระบบมูลค่า 908 ลบ. บลจ.กสิกรฯ ส่วนแบ่งสูงสุด 28%

HoonSmart.com>> “มอร์นิ่งสตาร์” เผยกองทุน SSF ไตรมาส 3/63 มูลค่าทรัพย์สินทั้งระบบ 908 ล้านบาท โต 3 เท่าจากไตรมาสก่อนหน้า กระจายอยู่ใน 5 บลจ.ส่วนแบ่งรวม 82% ด้านบลจ.กสิกรไทย สูงสุด 28% ส่วนกองทุน LTF มูลค่าหด 22.6% จากสิ้นปีก่อน เหตุเงินไหลออก 1.1 หมื่นล้านบาท ราคาหุ้นทรุดฉุด ฟากกองทุน RMF ทรัพย์สินลดลง 7.8%

น.ส.ชญานี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ภาพรวมกองทุนเพื่อการออม (SSF) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 908 ล้านบาท ณ วันที่ 30 ก.ย.2563 (ไม่นับรวมกองทุน BEQSSF และ BM70SSF จาก บลจ.บัวหลวงที่มีส่วนของกองทุน SSFX) หรือโตขึ้นมากกว่า 3 เท่าจากไตรมาส 2/2563 ที่มีการเปิดขายเป็นไตรมาสแรก

กลุ่มการลงทุนประเภทตราสารทุนมีการเติบโตที่ดี โดยกองทุนกลุ่ม Equity Large-Cap ยังเป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ่สุดสำหรับกองทุน SSF ด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 312 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าจากไตรมาสก่อนหน้า ขณะเดียวกันกลุ่ม Global Equity มีการเติบโตจาก 48 ล้านบาทมาที่ 264 ล้านบาทในไตรมาส 3/2563

ส่วนแบ่งตลาดกองทุน SSF มีการกระจายตัวมากขึ้นโดย 5 อันดับบลจ.ที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดรวมกันมีสัดส่วนที่ 82% จากไตรมาสก่อนหน้าที่ 94% บลจ.กสิกรไทย มีมูลค่าทรัพย์สินสูงสุด 28% จากกองทุนทั้งหุ้นไทย กองทุนหุ้นต่างประเทศ กองทุนผสม และกองทุนตราสารหนี้ ขณะทีบลจ.กรุงศรี มีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 2 ด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 188 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นกองทุนหุ้นไทยมูลค่าราว 100 ล้านบาท บลจ.ไทยพาณิชย์เริ่มมีการเปิดขายกองทุน SSF ในครึ่งปีหลังซึ่งมีความหลากหลายครอบคลุมทุกประเภททรัพย์สิน โดยมีส่วนแบ่งตลาดที่ 15%

ด้านกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 3.1 แสนล้านบาท ลดลง 22.6% จากสิ้นปี 2562 และลดลง 9.6% จากไตรมาสก่อนหน้า ขนาดของกองทุน LTF ที่ลดลงอย่างรวดเร็วนั้นเป็นผลจาก 1) ปริมาณเงินไหลออกต่อเนื่อง โดยไตรมาส 3 มีเงินไหลออกสุทธิ 2.1 พันล้านบาท รวม 9 เดือน -1.1 หมื่นล้านบาท และ 2) ผลตอบแทนจากตลาดหุ้นไทยที่ยังติดลบทำให้มูลค่าทรัพย์สินหดตัว

ปัจจุบันหลายบลจ.ได้มีการออกกองทุนใหม่แบบเพิ่มชนิดหน่วยที่ใช้ชื่อเดียวกับกองทุน LTF ที่เคยประสบความสำเร็จหรือเป็นที่คุ้นเคยกับนักลงทุนทำการตลาดเพื่อให้นักลงทุนลงทุนกองเดิมได้ต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ต้นปีมีกองทุนลักษณะนี้เปิดมาแล้วมากกว่า 20 กองทุน

กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 2.8 แสนล้านบาท ลดลง -7.8% จากสิ้นปี 2562 โดยเกิดจากมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ลดลงของกองทุน RMF – Equity และ RMF – Allocation โดยเกิดจากผลตอบแทนที่หดตัวเป็นหลัก ในขณะที่ยังมีเม็ดเงินไหลเข้ากองทุน RMF – Equity และไหลออกจาก RMF – Allocation เพียงเล็กน้อย

อย่างไรก็ตามกองทุน RMF ยังคงมีเงินไหลเข้าสุทธิไตรมาสล่าสุดราว 1 พันล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าปีที่แล้วที่ระดับ 4 พันล้านบาท รวมเงินไหลเข้าสุทธิ 9 เดือนราว 4.2 พันล้านบาท

น.ส.ชญานี กล่าวว่า แนวโน้มเม็ดเงินไหลเข้ากองทุน RMF ในไตรมาส 4/2563 คาดว่านักลงทุนให้ความสนใจลงทุนกองทุน RMF หุ้นต่างประเทศเป็นตัวเลือกมากกว่าตามพฤติกรรมของนักลงทุนมักจะลงทุนตามกระแส อย่างไรก็ตามมองว่ากองทุน RMF หุ้นไทยสามารถลงทุนได้และมองภาพระยะยาว

“นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทยต่อเนื่องและยังไม่เซนทิเม้นท์บวกในตลาดหุ้นไทย”น.ส.ชญานี กล่าว

ในช่วงไตรมาส 3/2563 ที่ผ่านมาจึงเห็นเงินไหลออกกองทุนหุ้นไทย (ไม่รวม LTF, RMF, SSF และ SSFX) จำนวน 9.9 พันล้านบาท รวม 9 เดือนมีเงินไหลออกสุทธิ 1.9 หมื่นล้านบาท ใกล้เคียงกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วที่มีเงินไหลออกสุทธิ 1.8 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตามปีนี้เป็นปีแรกที่จะไม่มีเงินไหลเข้ากองทุน LTF ในช่วงท้ายปี ซึ่งโดยปกติจะช่วยหนุนดัชนีในช่วงท้ายปี ทำให้มีเงินเข้าลงทุนในกองทุนหุ้นไทยประเภทนี้ ในขณะที่ปีนี้มีกองทุน SSF ซึ่งไม่ได้เน้นเพียงแค่หุ้นไทยเพียงอย่างเดียว จึงอาจทำให้แรงเข้าซื้อกองทุนหุ้นไทยต่ำกว่าในอดีต

สำหรับมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของบลจ.รายใหญ่ในตลาดมีการปรับตัวลงค่อนข้างมากจากสิ้นปี 2562 โดยลดลง 19%-54% แต่ส่วนแบ่งตลาดไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก บลจ.ไทยพาณิชย์ยังคงเป็นผู้นำด้วยส่วนแบ่งตลาดราว 20% มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 4.1 หมื่นล้านบาท ตามมากด้วยบลจ.บัวหลวงด้วยส่วนแบ่งตลาด 16% มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 3.3 หมื่นล้านบาท บลจ.กสิกรไทยมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 2.3 หมื่นล้านบาท มีส่วนแบ่งตลาด 11% และบลจ.กรุงศรี 2.3 หมื่นล้านบาทหรือ 11% ของตลาด

กองทุน Thanachart Dividend Stock เป็นกองทุนที่มีเงินไหลออกมากที่สุดในกองทุนหมวดนี้ โดยมีเงินไหลออกสุทธิรวม 9 เดือนเกือบ 5 พันล้านบาท มูลค่าทรัพย์สินจึงลดลงมาที่ 4.6 พันล้านบาทจากที่เคยมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.2 หมื่นล้านบาทเมื่อสิ้นปี 2562 ปัจจุบัน บลจ.ธนชาตมีส่วนแบ่งตลาดในหมวดนี้ที่ 9% ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน -1.8 หมื่นล้านบาท ลดลง 54% จากเดือนธ.ค.2562

ด้านผลตอบแทนเฉลี่ยกองทุนหุ้นไทย (Equity Large-Cap) ไตรมาส 3/2563 ติดลบ 7.97% และ 9 เดือนปีนี้ติดลบ 21.26% ขณะที่ 1 ปีติดลบ 23.58% ขณะที่กองทุนหุ้นไทย (Equity Small/Mid-Cap) ไตรมาส 3/2563 ฟื้นตัวขึ้นบวก 0.06% ส่งผลให้ 9 เดือนปีนี้ผลตอบแทนลดลงเหลือ 8.38% และ 1 ปีติดลบ 12%

คลิ๊กอ่าน

เริ่มต้นลงทุน SSF