โดย..มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย)
ปัจจุบันหลาย บลจ. เริ่มมีการออกกองทุน SSF กันแล้ว วันนี้เรามาดูกันว่ามีกองจากบลจ. ใด และมีข้อควรคำนึงก่อนลงทุนอย่างไร
เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ที่ผ่านมาทางสมาคมบริษัทจัดการลงทุนได้ร่วมมือกับทางบลจ. ต่าง ๆ นำเสนอกองทุน SSF ซึ่งมีทั้งแบบปกติและแบบพิเศษ พร้อมเสนอขายครั้งแรก (IPO) ตั้งแต่ 1 เมษายนนี้เป็นต้นไป โดย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 มีกองทุนที่ได้รับการอนุมัติจาก ก.ล.ต. แล้วจำนวน 18 กองทุนจาก 14 บลจ. ซึ่งแต่ละกองทุนอาจมีการแบ่งออกเป็นชนิดหน่วยลงทุนเพื่อการออม และเพื่อการออมพิเศษ
นอกจากรายชื่อกองทุนด้านบนนี้ยังมีกองทุน SSF ปกติที่มีบางบลจ. เพิ่มชนิดหน่วยลงทุนจากกองทุนเปิดที่มีอยู่เดิม ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนที่ลงทุนกองทุนเปิดเหล่านั้นอยู่แล้วเลือกลงทุนและวางแผนได้ง่ายโดยนักลงทุนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้กับทางบลจ.ที่นักลงทุนสนใจ
เปรียบเทียบ SSF และ SSFX
ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างการออม (SSF) และการออมพิเศษ (SSFX) คือ ชนิดเพื่อการออม (SSF) จะเป็นส่วนที่คำนวณจาก 30% ของรายได้พึงประเมินและซื้อได้ไม่เกิน 200,000 บาท และรวมกับ RMF PVD และการลงทุนเพื่อการเกษียณอื่นได้ไม่เกิน 500,000 บาท ส่วนชนิดเพื่อการออมพิเศษคือวงเงินพิเศษสำหรับซื้อกองทุนที่ลงทุนในหุ้นไทยมากกว่า 65% และซื้อเฉพาะช่วง 1 เมษายน ถึง 30 มิถุนายน นี้
จากเงื่อนไขการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไปจากที่นักลงทุนคุ้นเคยกับกองทุน LTF ทำให้นักลงทุนต้องทำความเข้าใจและวางแผนการลงทุนอย่างรอบคอบกันก่อน โดยข้อควรคำนึงอาจแบ่งออกเป็นดังนี้
1 เช็คก่อนซื้อ
เนื่องด้วยกองทุนเพื่อการออมนี้มีรูปแบบการออกกองทุนที่แตกต่างกันในแต่ละ บลจ. โดยอาจเป็น 1) บลจ.ออกกองทุนเดียวแต่สามารถซื้อได้ทั้งแบบวงเงินปกติหรือวงเงินพิเศษโดยแบ่งตามช่วงเวลาคือหากซื้อในช่วง 1 เมษายนถึง 30 มิถุนายนนี้ จะถือเป็นวงเงินพิเศษไม่เกิน 200,000 บาทเท่านั้นและหลังจากนั้นจะถือเป็นวงเงินปกติหรือ 2) บลจ.ออกกองทุนแยกออกเป็น SSF แบบปกติและแบบพิเศษ โดยกอง SSF (ปกติ) สามารถซื้อได้ทั้งปี ในขณะที่แบบพิเศษหรือ SSFX สามารถลงทุนได้เฉพาะช่วง 1 เมษายนถึง 30 มิถุนายน ฉะนั้นก่อนจะซื้อกองทุนจึงควรตรวจสอบก่อนว่าเป็นกองทุน SSF หรือ SSFX เพื่อให้ลงทุนได้ตามแผนที่วางไว้และได้ประโยชน์ทางภาษีสูงสุด
2 วางแผนบริหารสภาพคล่อง
ทั้ง SSF และ SSFX มีเงื่อนไขการถือครอง 10 ปีเต็มโดยเริ่มนับจากวันที่ซื้อ จากเดิมที่กองทุน LTF มีเงื่อนไขการถือครองที่สั้นกว่าคือ 5 หรือ 7 ปีปฏิทิน ทำให้นักลงทุนควรคำนึงถึงสภาพคล่องและแผนการเงินส่วนตัวเพื่อให้สามารถถือครองกองทุนในระยะยาวได้โดยไม่ผิดเงื่อนไข
3 พิจารณาประเภททรัพย์สินที่ลงทุน
การลงทุน SSFX จะเน้นการลงทุนในหุ้นมากกว่า 65% จากรายชื่อกองทุนด้านบนจะเห็นได้ว่ากองทุน SSFX ส่วนใหญ่จะเป็นกองทุนตราสารทุนหรือกองทุนหุ้น และมีบางกองทุนที่เป็นกองทุนผสม ทำให้ส่วนของการลงทุน SSFX พอร์ตของนักลงทุนอาจเรียกได้ว่าเป็นส่วนของสินทรัพย์เสี่ยง ในขณะที่กองทุน SSF ที่ออกมาช่วงนี้จะเป็นกองทุนหุ้นไทย แต่ในระยะต่อไปจะเริ่มมีกองทุนที่ลงทุนในหลักทรัพย์หลากหลายประเภท ฉะนั้นเมื่อมีกองทุน SSF ทยอยออกมา นักลงทุนควรพิจารณาด้วยว่าจะลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใดเพื่อให้จัดสัดส่วนและความเสี่ยงของพอร์ตได้อย่างเหมาะสม
4 จดบันทึกการลงทุน
การนับระยะเวลาการลงทุนของ SSF จะเปลี่ยนไปจาก LTF ที่นักลงทุนคุ้นเคยคือนับปีปฏิทินเปลี่ยนเป็น 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ นอกจากบริการที่ทางบลจ.สรุปข้อมูลเพื่ออำนวยความสะดวกให้นักลงทุนแล้ว นักลงทุนควรมีการจดบันทึกการลงทุนของตนเองเพื่อให้ทราบว่ามีการลงทุนไปเป็นจำนวนเท่าไหร่และเริ่มไถ่ถอนได้เมื่อไหร่ในอนาคตโดยเฉพาะนักลงทุนที่มีการทยอยซื้อหลายครั้งหรือมากกว่า 1 บลจ./กองทุนในแต่ละปี ซึ่งข้อมูลนี้จะช่วยในการวางแผนการเงินได้เป็นอย่างดี
ท้ายนี้ขอฝากนักลงทุนว่าแม้กองทุน SSF จะเป็นเรื่องใหม่สำหรับนักลงทุนหลายท่าน แต่หากมีการวางแผนก่อนการลงทุนแล้วนักลงทุนอาจพบว่าการวางแผนการลงทุนนี้เป็นเรื่องสำคัญและไม่ยากอย่างที่คิด และยังช่วยให้นักลงทุนมีสุขภาพทางการเงินที่ดีในอนาคตอีกด้วย
ที่มา : https://www.morningstarthailand.com
อ่านข่าว
13 บลจ.พร้อมเปิดขายกองทุน SSF ลงทุนหุ้นไทย วันแรก 1 เม.ย.นี้
KTAM เสิร์ฟ 2 กองทุน SSF พิเศษ “เน้นหุ้นยั่งยืน-ลงทุนผสม” ได้ลดภาษีเพิ่ม
บลจ.กสิกรฯ ส่ง K SUPERSTAR SSFX จับจังหวะทำกำไร COVID-19 จบดันหุ้นขึ้น
MFC ส่ง 2 กองทุน SSF หนุนออมระยะยาวได้ลดภาษี ชี้หุ้นร่วงน่าสนใจลงทุน