HoonSmart.com>> หุ้นไทยเดือนส.ค.63 ฝ่าสารพัดปัจจัยลบ “ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีน ความกังวล COVID-19 ระลอกสอง ชุมนุมทางการเมืองในประเทศ” กดดัชนีร่วง 17.0% จากสิ้นปีก่อน แต่ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่า MSCI ASEAN ที่ลดลง 19.9% จากสิ้นปีก่อนหน้า ด้านอัตราผลตอบแทนเงินปันผล 3.64% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียอยู่ที่ 2.89% เผย 6 หมวดธุรกิจปรับตัวเพิ่มขึ้น “ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์” นำโด่ง 65.28%
นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในเดือนส.ค.2563 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยค่อนข้างทรงตัว เมื่อพิจารณารายอุตสาหกรรมเทียบกับสิ้นปี พบว่าอุตสาหกรรมบางอุตสาหกรรมปรับตัวดีกว่า SET Index และมีกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในแดนบวก นอกจากนี้ ในเดือนสิงหาคมยังมีสัญญาณการฟื้นตัวของบริษัทจดทะเบียนที่ประกาศผลประกอบการไตรมาส 2 ที่ดีกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ได้แก่ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม และในบางกลุ่มธุรกิจในภาคบริการที่ได้อานิสงค์จากการพัฒนาวัคซีน COVID-19 ที่อาจจะนำไปสู่การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เร็วขึ้น
ในส่วนของมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวมใน SET และ mai ในเดือนสิงหาคม 2563 อยู่ที่ 56,512 ล้านบาท และหากพิจารณาในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2563 มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวมอยู่ที่ 66,566 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผู้ลงทุนบุคคลในประเทศมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 อยู่ที่ 44.09% ของมูลค่าการซื้อขายรวม
ในเดือนสิงหาคม 2563 มีกิจกรรม IPO อย่างต่อเนื่อง มีหลักทรัพย์เข้าจดทะเบียนซื้อขายใหม่ใน SET 2 หลักทรัพย์ ได้แก่ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้า กลุ่มน้ำตาลครบุรี, ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ พรอสเพค โลจิสติกส์และอินดัสเทรียล, และใน mai 2 หลักทรัพย์ ได้แก่ บมจ. เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ และ บมจ. ไอแอนด์ไอ กรุ๊ป มีมูลค่าระดมทุน (IPO) รวม 6,975 ล้านบาท
ภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทย
· ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย (SET Index) ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2563 SET Index ปิดที่ 1,310.66 จุด ปรับลดลง 1.3% จากเดือนก่อน และปรับลดลง 17.0% จากสิ้นปีก่อน แต่ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่า MSCI ASEAN ที่ลดลง 19.9% จากสิ้นปีก่อนหน้า
· เมื่อเทียบกับสิ้นปี พบว่าอุตสาหกรรมบางอุตสาหกรรมปรับตัวดีกว่า SET Index และมีกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในแดนบวก นอกจากนี้ ในเดือนสิงหาคม กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม และในบางกลุ่มธุรกิจในภาคบริการที่ได้อานิสงค์จากการพัฒนาวัคซีน COVID-19 ที่อาจจะนำไปสู่การเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้รวดเร็วขึ้น
· มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวมใน SET และ mai ในเดือนสิงหาคม 2563 อยู่ที่ 56,512 ล้านบาท และหากพิจารณาในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2563 มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวมอยู่ที่ 66,566 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผู้ลงทุนบุคคลในประเทศมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 โดยอยู่ที่ 44.09% ของมูลค่าการซื้อขายรวม
· Forward และ Historical P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2563 อยู่ที่ระดับ 22.2 เท่า และ 21.8 เท่าตามลำดับ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 17.2 เท่า และ 18.6 เท่าตามลำดับ
· อัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2563 อยู่ที่ระดับ 3.64% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 2.89%
ภาวะตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
· ในเดือนสิงหาคม 2563 ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้ามีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 369,938 สัญญา ลดลง 6.9% จากเดือนก่อน ที่สำคัญจาก Single Stock Futures และ USD Futures และในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2563 ปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 470,241 สัญญา เพิ่มขึ้น 14.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน