HoonSmart.com>>บล.กสิกรไทยให้จับตา 5 ปัจจัยชี้นำหุ้นสัปดาห์ที่จะถึง การประชุมเฟด ความขัดแย้งสหรัฐ-จีน สถานการณ์โควิด การเมืองไทยและผลงานบจ.ไตรมาส 2/63 ส่วนค่าเงินบาท ธนาคารกสิกรไทย ให้กรอบการเคลื่อนไหวที่ 31.50-31.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 1 เดือนครึ่ง
บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย มองหุ้นสัปดาห์ถัดไป (27-31 ก.ค.) ดัชนีหุ้นมีแนวรับที่ 1,325 และ 1,300 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,350 และ 1,365 จุด ตามลำดับ
ส่วนปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมเฟด (28-29 ก.ค.) ประเด็นขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีน สถานการณ์โควิด-19 สถานการณ์การเมืองในประเทศ รวมถึงการทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาส 2/63 ของบริษัทจดทะเบียนฯ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ จีดีพีไตรมาส 2/63 ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน รายได้และรายจ่ายเดือนมิ.ย. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ จีดีพีไตรมาส 2/63 ของยูโรโซน กำไรบริษัทภาคอุตสาหกรรมเดือนมิ.ย. และดัชนี PMI เดือนก.ค. ของจีน รวมถึงยอดค้าปลีกเดือนมิ.ย. ของญี่ปุ่น
สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีนฉุด ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,340.92 จุด ลดลง 1.37% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 59,432.91 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.97% ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 0.52% ปิดที่ 303.89 จุด
หุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบแคบช่วงต้นสัปดาห์ก่อนจะดีดตัวขึ้น ขานรับข่าวความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนรักษาโควิด-19 และการที่สหภาพยุโรปบรรลุข้อตกลงในการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด-19 อย่างไรก็ดี หุ้นไทยพลิกกลับมาร่วงลงในช่วงต่อมาท่ามกลางความกังวลต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีน หลังทั้งสองฝ่ายสั่งปิดสถานกงสุลของอีกฝ่ายในเมืองสำคัญ นอกจากนี้ ตัวเลขส่งออกเดือนมิ.ย.ของไทยที่หดตัวลงอย่างมากก็อาจเป็นอีกปัจจัยที่กดดันในช่วงปลายสัปดาห์ด้วยเช่นกัน
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท ธนาคารกสิกรไทยมองสัปดาห์ถัดไป (27-31 ก.ค.) กรอบการเคลื่อนไหวที่ 31.50-31.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังจากเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 1 เดือนครึ่งครั้งใหม่ แต่ภาพรวมการเคลื่อนไหวของเงินบาทตลอดสัปดาห์ยังคงเป็นกรอบแคบ มีปัจจัยกดดันด้านอ่อนค่าจากปัจจัยทางการเมือง ทิศทางของสกุลเงินเอเชียถูกกระทบเป็นระยะจากสัญญาณที่มีความตึงเครียดมากขึ้นระหว่างสหรัฐฯ และจีน อย่างไรก็ดีแรงเทขายเงินดอลลาร์ฯ ในช่วงที่สินทรัพย์เสี่ยงฟื้นตัวจากข่าวการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 ช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทไว้ได้บางส่วน
ในวันศุกร์ (24 ก.ค.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 31.72 (หลังแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 1 เดือนครึ่งที่ 31.86) ทรงตัวจากระดับปิดในวันศุกร์ก่อนหน้า (17 ก.ค.)
อ่านข่าว