HoonSmart.com>>บริษัทการบินไทยเปิดกรอบเวลาการฟื้นฟูกิจการ เผย 3 แนวทางสำเร็จ เจ้าหนี้ช่วย-รัฐบาลหนุน-สิ่งแวดล้อมเป็นใจ อุตสาหกรรมการบินเหนื่อยต่อ “การบินกรุงเทพ” ยอมรับไตรมาส 2 ไม่กำไร ปรับเป้า-ปรับแผนธุรกิจ “เอเชีย เอวิเอชั่น ” ผู้โดยสารหาย 51%
น.ส.อรอนงค์ ชุณหะมาน ผู้อำนวยการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์และบริหารกลาง บริษัท การบินไทย (THAI) เปิดเผยว่า กรอบระยะเวลาฟื้นฟูกิจการคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 5 ปี โดยจะเริ่มดำเนินการในช่วงเดือน มิ.ย.2564 หลังจากโดยศาลจะมีคำสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการและจัดตั้งผู้บริหารแผนประมาณปลายเดือน เม.ย. 2564 ทั้งนี้กรอบระยะเวลาฟื้นฟูกิจการเป็นเพียงประมาณการ อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ในอนาคต ส่วนระยะเวลาดำเนินการต้องทำให้เสร็จภายใน 5 ปี นับตั้งแต่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบ โดยสามารถขยายเวลาได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 1 ปี รวมแล้วแผนฟื้นฟูกิจการควรแล้วเสร็จภายใน 7 ปี
การปรับโครงสร้างหนี้ถือเป็นหนึ่งในแนวทางการฟื้นฟูกิจการ โดยระหว่างจัดทำแผนฟื้นฟูบริษัทฯ จะจัดประเภทเจ้าหนี้ต่างๆ เช่น เจ้าหนี้เครื่องบิน เจ้าหนี้หุ้นกู้ เจ้าหนี้คืนตั๋ว เพื่อเข้าเจรจาหนี้ต่อไป ซึ่งจะต้องทำให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 3 เดือน นับตั้งแต่วันจัดตั้งผู้ทำแผนฟื้นฟู หรือนับตั้งแต่การขอขยายระยะเวลาทำแผนฟื้นฟู เพื่อให้ภาระและระยะเวลาการชำระหนี้สอดคล้องกับกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน รวมถึงกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ มีแผนหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติม เพื่อเสริมสภาพคล่องระยะสั้น และเพื่อปรับโครงสร้างเงินทุนระยะยาวต่อไป
ด้านนายอัสสเดช คงสิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท หลักทรัพย์ฟินันซ่า ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า การหาแหล่งเงินทุนระหว่างดำเนินการฟื้นฟูกิจการนั้น บริษัทฯ พ้นสถานะการเป็นรัฐวิสาหกิจไปแล้ว ทำให้กระทรวงการคลังไม่สามารถให้การสนับสนุนการเงินโดยตรง แต่หลังยื่นคำร้องขอเข้าฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง บริษัทฯยังสามารถกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินได้
ส่วนแหล่งเงินทุนที่จำเป็นต้องใช้ในอนาคตจะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้จัดทำแผนฟื้นฟู รวมถึงความจำเป็นต้องใช้เงินตามที่ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ โดยแนวทางที่สามารถกระทำได้ เช่น การแปลงหนี้เป็นทุน การใส่ทุนจากผู้ถือหุ้นเดิม หรือการใส่ทุนจากพันธมิตรใหม่ ซึ่งการพิจารณาพันธมิตรใหม่นั้น นอกจากประโยชน์ในด้านเงินทุนล้ว จะพิจารณาถึงประโยชน์อื่นๆ ที่เข้ามาเสริมความแข็งแกร่งในด้านอื่นๆด้วย
นอกจากนี้มีการเจรจาเจ้าหนี้เครื่องบิน เพื่อไม่ให้โดยยึดเครื่องบิน และร้องขอการฟื้นฟูกิจการ ได้มีการเจรจาแล้วประมาณ 2 ประเทศ ซึ่งการเจรจาเป็นผลดียังไม่มีความจำเป็นต้องใช้การล้มละลายแบบ Chapter 11 ที่คุ้มครองทั่วโลก มองว่าจะใช้เป็นทางเลือกสุดท้าย และการขอเรียกร้องเงินคืนจากการซื้อตั๋วเที่ยวบิน ยังดำเนินส่งคำร้องเข้ามาได้ แต่ทางบริษัทฯยังไม่สามารถจ่ายเงินคืนได้ เนื่องจากติดข้อกฎหมาย
บริษัท การิบนไทยแจ้งตลาดหลักทรัพย์ว่า แนวทางการแก้ไขเพื่อให้การฟื้นฟูกิจการสำเร็จและพ้นจากเหตุการขึ้นเครื่องหมาย C คือ 1. การเสนอแต่งตั้งผู้มีประสการณ์ให้เข้ามาแก้ไข 2 ช่องทางการฟื้นฟูกิจการในเบื้องต้นเช่น การปรับโครงสร้างหนี้ การปรับเครือข่ายเส้นทางบินและปรับปรุงฝูงบิน การปรับปรุงองค์กร กลยุทธ์ด้านการพาณิชย์และความสามารถในการหารายได้
สำหรับปัจจัยที่อาจส่งผลต่อความสำเร็จ คือ 1. ความร่วมมือของเจ้าหนี้ 2.การสนับสนุนของรัฐบาล และ3 ปัจจัยอื่นๆ เช่นแนวโน้มอตสาหกรรมการบิน ความผันผวนของราคาน้ำมัน ดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน
ด้านนายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะรองประธานกรรมการ คนที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่แทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย กล่าวว่า ได้ขอความร่วมมือกับพนักงานทั้งหมดประมาณ 2 หมื่นคนในการลดเงินเดือนต่อไปอีก 3 เดือน ขอยืนยันว่าบริษัทยังมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะจ่ายเงินเดือนให้พนักงานทุกเดือน หลังจากลดค่าใช้จ่าย หยุดชำระหนี้หลังจากยื่นคำร้องขอเข้าสู่กระบวนการแผนฟื้นฟูภายใต้ศาลล้มละลายกลาง
สำหรับ บริษัท การบินกรุงเทพ (BA) นายอนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส สายการเงินและบัญชี กล่าวว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/63 โดยปกติจะไม่ค่อยดี และจากผลกระทบของโควิด-19 ด้วยทำให้คาดว่าอาจจะไม่สามารถทำกำไรได้ ทั้งนี้ไตรมาส 1/2563 บริษัทมีผลขาดทุน 338 บาท
ในปี 2563 บริษัทปรับลดคาดการณ์จำนวนผู้โดยสารต่อกิโลเมตรและจำนวนที่นั่งต่อกิโลเมตรลง 60% จำนวนผู้โดยสารจะลดลง 58-60% ราคาบัตรโดยสารเฉลี่ยคาดลดลง 4% แนวโน้มครึ่งปีหลังจะฟื้นตัวดีขึ้นจากครึ่งปีแรก เนื่องจากสามารถให้บริการเที่ยวบินได้มากขึ้น บริษัททยอยเพิ่มเที่ยวบินในประเทศตั้งแต่เดือนมิ.ย. เป็นต้นไป และทยอยเพิ่มเที่ยวบินระหว่างประเทศตั้งแต่สิ้นเดือน ต.ค. เป็นต้นไป เพื่อรับฤดูกาลท่องเที่ยวปลายปี แต่การขายตั๋วแบบเว้นที่นั่งจะยังมีต่อไปจนถึงเดือน ต.ค.
บริษัทยังมีแผนทยอยปรับขนาดฝูงบินให้เล็กลงเหลือ37 ลำ จากปัจจุบัน 40 ลำ และยังจะเดินหน้ามองหาโอกาสร่วมมือกับพันธมิตรสายการบินร่วม (Codeshare) ทั้งในไทยและเอเชียเพิ่มขึ้น เพื่อนำผู้โดยสารจากต่างประเทศเข้ามาใช้บริการในเส้นทางบินของบริษัทได้มากขึ้น และเพื่อลดการพึ่งพิงนักท่องเที่ยวยุโรปและตะวันออกกลาง ที่อาจต้องใช้ระยะเวลาฟื้นตัวมากกว่า 1 ปี คาดว่าภายในปีนี้จะได้ข้อสรุปการทำข้อตกลงไม่น้อยกว่า 1 สายการบิน จากปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนรายได้จากสายการบิน Codeshare ประมาณ 27%
อย่างไรก้ตามบริษัทยังไม่มีแผนจะพิจารณาการเพิ่มทุน เนื่องจากยังมีกระแสเงินสดอยู่พอสมควรและมีวงเงินกู้ยืมที่สามารถเบิกใช้จากสถาบันการเงินได้
ก่อนหน้านี้ บริษัทเอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) เปิดเผยว่า สายการบินไทยแอร์เอเชียปรับลดเป้าหมายจำนวนผู้โดยสารปี 2563 มาอยู่ที่ 10.8 ล้านคน ลดลง 51% จากปีก่อนที่มีจำนวนผู้โดยสาร 22.15 ล้านคน โดยมีอัตราขนส่งผู้โดยสาร มาอยู่ที่ 80% ส่วนเส้นทางบินระหว่างประเทศคาดว่าจะเปิดให้บริการบางส่วนในเดือน ส.ค. นี้ ด้านผลงานไตรมาส 1/2563 บริษัทขาดทุนสุทธิ 671 ล้านบาท