HoonSmart.com>> บล.เครดิตสวิสหั่นเป้าหมายราคาหุ้นสถาบันการเงิน คาดกำไรปีนี้โตติดลบ ปีหน้าโตแรง ฟิทช์ปรับลดอันดับเครดิต BBL-SCB-KBANK เหลือ BBB ประเมินไวรัสโควิดกระทบแนวโน้มผลการดำเนินงาน 2 ปี เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น อังคารที่ 7 เม.ย.นี้ครม.พิจารณาเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเฟส 3 คาดวงเงิน 1.6 ล้านล้านบาท ธปท.ช่วยธนาคารพาณิชย์ ลดภาระนำส่งเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูฯจาก 0.46% เหลือ 0.23% นาน 2 ปี นักวิเคราะห์ไม่ได้มองบวก แลกกับลดดอกเบี้ยเงินกู้ หุ้นเด่นกลุ่ม ยก BBL
บริษัทหลักทรัพย์เครดิตสวิสได้ปรับลดเป้าหมายราคาหุ้นธนาคารพาณิชย์ 6 แห่ง รวมถึงบริษัทบัตรกรุงไทย (KTC) บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) หรือ AEONTS บริษัทเมืองไทยแคปปิตอล (MTC) และบริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น (SAWAD) ลง มากกว่า 20-50% จากเป้าหมายเดิม หลังปรับลดประมาณการกำไรในปีนี้จะเติบโตติดลบ ยกเว้น MTC ที่เพิ่มขึ้น 5.7% ส่วนปีหน้ากำไรโดยรวมจะปรับตัวเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ได้ให้น้ำหนักมากกว่าตลาดสำหรับหุ้นธนาคารกรุงเทพ (BBL) บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) และ SAWAD
ขณะที่ บริษัท ฟิทช์เรทติ้งปรับลดอันดับเครดิตของธนาคารพาณิชย์ใหญ่ 3 แห่ง คือ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย (SCB) และธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) สู่ระดับ BBB จาก BBB+ หลังประเมินการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กดดันธุรกิจ กระทบแนวโน้มผลดำเนินงานช่วง 2 ปีข้างหน้าเติบโตชะลอ และกำลังเผชิญกับแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล ขณะที่คงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว ของธนาคารกรุงไทย (KTB) ที่ ‘BBB’ และคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่’AA+(tha)’ และฟิทช์ยังคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของบริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย ซีมิโก้ (KTZ) ที่ ‘A+(tha)’ ทั้ง KTB และ KTZ มีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
ในวันอังคารที่ 7 เม.ย.นี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะพิจารณาให้ความเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเฟส 3 คาดวงเงิน 1.6 ล้านล้านบาท หนึ่งในนั้นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)จะขอความเห็นชอบในการหลักการออกพรก. เพื่อให้ธปท.สามารถปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน)ได้โดยตรง ถือว่าขนาดใหญ่กว่าโครงการธนาคารออมสินในเฟส 2 นอกจากนี้สำนักงานก.ล.ต.และธปท.จะร่วมพิจารณากลไกสำคัญเพื่อดูแลตลาดตราสารหนี้ จึงขออนุมัติหลักการออกพรก.ให้ธปท.สามารถซื้อตราสารหนี้ที่มีคุณภาพและกำหนดชำระเงินกู้เดิมและออกใหม่ได้ พร้อมขยายระยะเวลาคุ้มครองเงินฝากที่จะลดลงจาก 5 ล้านบาทเหลือ 1 ล้านบาท ในเดือนส.ค.นี้ เป็นเดือนส.ค. 2564 และลดการนำเงินส่งสมทบของธนาคารพาณิชย์เข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน จาก 0.46% เหลือ 0.23%ของเงินฝาก เป็นเวลา 2 ปี เพื่อหวังว่าจะสามารถปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงได้ ช่วยภาคธุรกิจและประชาชน
นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักกลยุทธ์การลงทุน บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า ธนาคารพาณิชย์ลดภาระการนำส่งเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ เหลือ 0.23% เป็นระยะเวลา 2 ปี ไม่เป็นปัจจัยบวกต่อกลุ่มแบงก์พาณิชย์มากนัก เนื่องจากจะไปหักล้างกับการที่ต้องลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ทำให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ไม่ดีมาก แต่จะเป็นผลบวกที่คุณภาพสินทรัพย์มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ลูกหนี้จะมีโอกาสกลายเป็นเอ็นพีแอลน้อยลง
อย่างไรก็ตามยังไม่แนะนำให้ลงทุนในกลุ่มแบงก์ เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดีได้รับผลกระทบกับแบงก์เป็นกลุ่มแรก และงบไตรมาส 1/2563 จะออกมาหลังกลางเดือน เม.ย. 2563 ก็ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนด้วย
ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส (ASP) กล่าวว่าการนำส่งเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูฯที่ลดลง หากธนาคารพาณิชย์ ไม่มีการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ จะส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) เพิ่มขึ้นประมาณ 0.16% มาอยู่ที่ 2.95% จากประมาณการเดิมที่ 2.79% และส่งผลบวกต่อกำไรกลุ่มฯ ประมาณ 12-15% ซึ่งภายใต้ประมาณการของฝ่ายวิจัย แบงก์ขนาดใหญ่ คือ BBL,KBANK และ SCB ได้ประโยชน์กว่าธนาคารขนาดเล็ก ตามฐานเงินฝากที่สูงกว่า แต่ ธปท. ต้องการให้กลุ่มธนาคารลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง เพื่อช่วยเหลือลูกค้า ทำให้ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจาก NIM ต่ำกว่าที่คาดไว้หรือได้เท่าเดิม
ขณะที่คุณภาพสินทรัพย์ที่มีแนวโน้มลดลงในสภาวะเศรษฐกิจหดตัว อาจสร้างแรงกดดันต่อค่าใช้จ่ายสำรองฯสูงกว่าคาดได้ ในเบื้องต้นฝ่ายวิจัยยังคงคาดกำไรกลุ่มแบงก์ ปี 2563 ประมาณ 1.47 แสนล้านบาท เลือกลงทุน BBL มีจุดเด่นสำรองสูงสุดในกลุ่มฯ และเงินกองทุนสูงสุดเป็นอันดับ 2 ด้านมูลค่าก็ต่ำ มี P/BV และ P/E ที่ 0.4 เท่า และ 6.5 เท่าตามลำดับ ต่ำสุดในกลุ่มฯธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ รวมถึงเงินปันผลงวดครึ่งหลังปี 2562 ที่ 5 บาท / หุ้น (XD 21 เม.ย. 2563) คิดเป็นอัตราผลตอบแทนราว 5.4% และทั้งปีราว 6%