เปิดเบื้องหลัง “ฟิทช์” กดเครดิต BAM บริษัทเล็งขาย”ซีเคียวริไทซ์ฯ” ตปท. ดบ.ต่ำ

รายงานพิเศษ : HoonSmart.com>>หุ้นบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ หรือ BAM ดิ่งลงเหวอย่างรวดเร็ว หลังจากสามารถไต่ขึ้นไปสูงสุดถึง 36.25 บาท หล่นตุ๊บลงมาปิดที่ 27.75 บาท เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2563 เป็นเพราะนักลงทุนตื่นตะหนกมากเกินไปหรือไม่ จากเรทติ้งที่ลดลง 

BAM ได้รับการจัดอันดับเครดิต โดย บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ที่ระดับ BBB+ นั่นหมายความ อันดับความน่าเชื่อถือหล่นลงไปพรวดเดียวถึง 3 ขั้น จากที่เคยอยู่ที่ AA- ไหลผ่าน A+ และ AA- จนมาหยุดที่ BBB+

ประเด็นสำคัญของการถูกลดเครดิตอยู่ตรงที่ BAM ไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจอีกต่อไปแล้ว กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน สังกัดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดสัดส่วนการถือหุ้นลงจาก 99.99% มาเหลือ 41.46 % ของทุนเรียกชำระแล้ว ภายหลังจากบริษัทเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนครั้งแรก(IPO) และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(SET) ทำให้บริษัทหมดสิทธิประโยชน์ที่เคยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนฟื้นฟูฯอย่างเต็มที่

นอกจากนี้ BAM จะต้องเริ่มจ่ายภาษีนิติบุคคล ซึ่งประเมินว่าจะต้องจ่ายในอัตรา 20% ของกำไรสุทธิ จากที่ผ่านมาจ่ายผลตอบแทนในรูปของเงินปันผลให้กับกองทุนฟื้นฟูฯในอัตรา 70-90% ของกำไรสุทธิ นับว่าสูงทีเดียว  ครั้งล่าสุด ปี 2562 ได้มีการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล จำนวน 13,000 ล้านบาท คิดเป็น ก่อนที่จะเสนอขายหุ้นให้ประชาชนครั้งแรก(IPO)

ที่มาของเกรด BBB+ ไม่ได้พิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานของ BAM เพียงอย่างเดียว บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ให้อันดับความน่าเชื่อถือได้”เท่านี้” ส่วนหนึ่งเกิดจากการทำงานภายในมีการกำหนดเพดานไว้ที BBB+ สำหรับบริษัทที่ทำธุรกิจซื้อหนี้มาบริหาร เช่นเดียวกับ บริษัท ชโย กรุ๊ป (CHAYO) แต่ในความเป็นจริงแล้ว บริษัททั้งสองแห่งดำเนินธุรกิจแตกต่างกัน แม้ว่าจะก่อตั้งกิจการมานานกว่า 20 ปี เหมือนกันก็ตาม

BAM เป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีสินทรัพย์สูงกว่า 1 แสนล้านบาท ลักษณะธุรกิจ บริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ(NPLs) และทรัพย์สินรอการขาย(NPA) ก่อให้เกิดรายได้หลายช่องทาง  เช่น ซื้อทรัพย์สินมาปรับปรุงขายต่อได้ในราคาที่ดีขึ้น

ส่วน CHAYO ประกอบธุรกิจเจรจาติดตามและเร่งรัดหนี้สิน และบริหารสินทรัพย์จากการรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกันจากสถาบันการเงิน และกิจการศูนย์บริการข้อมูล

แต่ในเมื่อ “ฟิทช์ เรทติ้งส์” ให้อันดับเครดิตเพียง BBB+ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ ก็ต้องยอมรับผลกระทบที่จะตามมา และหาแนวทางในการแก้ไข โดยเฉพาะเรื่องต้นทุนทางการเงินที่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นต้นทุนสำคัญสำหรับการทำธุรกิจซื่อสินทรัพย์มาบริหาร

“บรรยง วิเศษมงคลชัย” ประธานคณะกรรมการบริหาร BAM ให้สัมภาษณ์ www.HoonSmart.com ยอมรับว่าได้รับผลกระทบจากการได้เรทติ้งเพียง BBB+ แต่ไม่มากนักในจังหวะดอกเบี้ยขาลง และบริษัทได้ออกหุ้นกู้จำนวนมากเตรียมไว้แล้ว  ทั้งนี้ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กร  BAM ระดับ “A-” พร้อมจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันคงค้าง ทั้งหมด 4.497 หมื่นล้านบาทที่ระดับ “A-” ด้วย

โดยรวมอัตรากำไร (มาร์จิ้น) ยังคงดีต่อเนื่อง 

อย่างไรก็ตาม บริษัทได้มอบหมายให้ที่ปรึกษาทางการเงิน ศึกษาหาช่องทางในการระดมทุนที่มีต้นทุนต่ำหลายแนวทาง เช่นการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์(ซีเคียวริไทเซชั่น ) โดยการนำรายได้จากพอร์ตลูกหนี้ที่่ดี ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว มาเป็นหลักประกันในการออกหลักทรัพย์ขายให้กับนักลงทุนต่างประเทศ  เชื่อว่าจะได้รับความสนใจ เพราะดอกเบี้ยในสหรัฐอมเริกาและญี่ปุ่นต่ำ 0-0.5%  คาดว่าถ้าออกเสนอขายได้ บริษัทจะประหยัดดอกเบี้ยได้ประมาณ 0.5-1.00 %ต่อปี ซึ่งน่าจะเป็นช่องทางที่ดี ในภาวะตลาดหุ้นกู้ในประเทศไม่ค่อยดีเท่าไร

นอกจากนี้การไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจ ก็มีผลดีเช่นกัน

BAM มีความคล่องตัวในการดำเนินงาน  เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง ไม่ต้องหาคู่เปรียบเทียบ ต่อไปสามารถหาข้อยุติได้เร็ว มอบอำนาจให้ผู้อำนวยการฝ่ายตัดสินใจได้มากขึ้น

ขณะเดียวกัน บริษัทมีการตั้งทีมศึกษาในการสร้างรายได้เข้ามาทุกไตรมาส  จากที่ผ่านมารายได้กระจุกตัวในครึ่งปีหลัง ตามขั้นตอนการทำงาน  โดยในปี 2563 ตั้งเป้าที่จะมีรายได้รวมประมาณ 1.5-1.7 หมื่นล้านบาท และยังคงนโยบายจ่ายเงินปันผลที่ดี จากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจ่ายในอัตรา 70-90% ของกำไร

นักลงทุนเห็นแผนการปรับตัวของบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ และการเติบโตในอนาคต เชื่อว่าหุ้น BAM จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนจำนวนมากเหมือนที่ผ่านมา