คอลัมน์ความจริงความคิด : องค์ประกอบในการกำหนดราคาเบี้ยประกัน


โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

เห็นข่าวยอดขายประกันชีวิตปรับตัวดีขึ้นสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจ ก็ดีใจ แต่ขณะเดียวกันข่าวบริษัทประกันบางแห่งฟ้อง เลขา คปภ.ข้อหา ออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณี คำสั่งห้ามยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย โควิด – 19 เจอจ่ายจบ ซึ่งจะมีผลกับผู้เอาประกันหรือผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยโควิดเจอจ่ายจบที่มีอยู่ถึงเกือบ 10 ล้านฉบับที่จะทยอยหมดอายุความคุ้มครองสิ้นสุดลงในเดือนมิ.ย.ปีนี้

โดยมีบทสรุปว่า คำสั่งนายทะเบียนก่อให้เกิดความปั่นป่วน วุ่นวาย และผลกระทบในวงกว้าง บริษัทประกันวินาศภัยทยอยปิดตัวเอง เป็นโทษต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ เป็นผลเสียต่อประชาชนในวงกว้าง รวมถึงผู้เอาประกันภัยภัยอื่นๆเช่น บ้าน รถยนต์ ฯลฯ

อีกทั้งยังส่งผลลบทำให้กองทุนประกันวินาศภัยถึงขนาดเงินหมด ผู้ฟ้องคดีทั้งสองต้องปิดตัวเองไปในไม่ช้า หากไม่อาจบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยเจอจ่ายจบ ได้ ซึ่งจะยิ่งทำให้เกิดความสั่นคลอนทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ อีกทั้งมีแนวโน้มสูงที่บริษัทประกันวินาศภัยอีกหลายราย ก็อาจต้องปิดตัวเอง ผู้ฟ้องคดีทั้งสองจึงขอความเมตตาจากศาลได้โปรดเพิกถอนคำสั่งนายทะเบียนฯ อันจะเป็นประโยชน์สาธารณะ และเป็นประโยชน์ ต่อส่วนรวม

สรุปง่ายๆ ก็คือ

หากศาลตัดสินไม่เพิกถอนคำสั่ง คปภ. ก็อาจทำให้บริษัทประกันอีกบางบริษัทต้องปิดตัวลง เนื่องจากขาดทุน ซึ่งเรื่องการทำประกันนี้ ไม่ว่าจะเป็นประกันชีวิต หรือ ประกันวินาศภัย หลักพื้นฐานเหมือนกัน คือ การโอนความเสี่ยงของผู้เอาประกันไปให้บริษัทประกันรับแทน โดยบริษัทประกันคิดค่าตอบแทนในการรับโอนความเสี่ยงตลอดอายุกรมธรรม์ด้วยเบี้ยประกัน

ดังนั้นเมื่อผู้เอาประกันจ่ายเบี้ยและบริษัทประกันรับเบี้ยและตกลงรับโอนความเสี่ยงแล้ว บริษัทประกันก็ควรรับผิดชอบตลอดอายุสัญญา เหมือนที่ ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาฯ คปภ. กล่าว “การทำประกันภัยโควิดเจอจ่ายจบคือการที่ประชาชนผู้เอาประกันภัยมอบความไว้วางใจให้บริษัทประกันภัยที่อาสามาช่วยบริหารความเสี่ยงให้ ฉะนั้นการไปบอกเลิกกรมธรรม์ฯในช่วงสถานการณ์วิกฤตขณะนี้ ทั้งๆที่เคยสัญญาว่าจะคุ้มครองจนสิ้นสุดอายุการคุ้มครอง โดยโยนความเสี่ยงที่มากขึ้นกลับคืนไปให้ประชาชน ถือเป็นการทำลายความเชื่อมั่นและความไว้วางใจที่ประชาชนมอบให้บริษัทประกันภัย จึงเป็นการเอาเปรียบประชาชนอย่างยิ่ง”

หลายท่านอาจสงสัย เบี้ยประกันเป็นอัตราที่บริษัทประกันคิดฝ่ายเดียว ผู้เอาประกันไม่สามารถต่อรองได้ ดังนั้น การขาดทุน กำไรของสัญญาประกันแต่ละแบบก็น่าจะมีการคิดอย่างรอบคอบแล้ว (เป็นงานของนักคณิตศาสตร์ประกันภัย) งั้นวันนี้ เรามาดูกันนะว่า องค์ประกอบของเบี้ยประกันมีอะไรบ้าง

องค์ประกอบที่มีผลต่อราคาเบี้ยประกันเหล่านี้จะไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลแต่จะขึ้นอยู่กับปัจจัยทางสถิติ,เศรษฐกิจ,ผลการดำเนินงานทางธุรกิจของบริษัทประกัน เช่น

1. อัตรามรณะ
2. อัตราดอกเบี้ย
3. ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน
4. เงินสำรองประกันชีวิต
5. อัตราผลกำไร

อัตรามรณะ

ด้วยเหตุที่สัญญาประกันชีวิต เป็นการรับประกันในแบบที่จะต้องจ่ายเงินชดเชยให้ผู้รับผลประโยชน์ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยเสียชีวิต ทุพพลภาพ หรือมีชีวิตอยู่จนครบอายุสัญญา ดังนั้น บริษัทประกันชีวิตจึงต้องคาดการณ์ความเสี่ยงจากการเสียชีวิตของผู้เอาประกันภัยแต่ละเพศ แต่ละช่วงอายุ โดยใช้อัตรามรณะเป็นเครื่องมือ (อัตรามรณะ เป็นตัวเลขสถิติที่จะบอกถึงอัตราการเสียชีวิตของคนในประเทศโดยจะแบ่งเป็นเพศและอายุต่างๆ ซึ่งในแต่ละประเทศก็จะมีตารางแสดงตัวเลขอัตราการเสียชีวิตของตัวเอง) ซึ่งการคาดการณ์การเสียชีวิตจากสถิติเหล่านี้จะช่วยบอกคร่าวๆว่าในแต่ละปี จะมีผู้เอาประกันภัยในแต่ละอายุ แต่ละเพศเสียชีวิตและบริษัทต้องจ่ายเงินทดแทนออกไปประมาณเท่าไหร่ และเมื่อบริษัทประกันสามารถประเมินรายจ่ายได้แล้ว ก็จะสามารถประเมินได้ว่ารายรับที่ต้องการจากลูกค้าในจำนวนที่วางแผนไว้จะต้องเป็นประมาณเท่าไหร่ ซึ่งเป็นปัจจัยนึงที่จะสะท้อนออกมาในราคาเบี้ยประกันนั่นเอง

อัตราดอกเบี้ย

เมื่อบริษัทประกันได้รับเบี้ยประกันจากผู้เอาประกันมาแล้ว ก็จะมีการนำเงินเหล่านั้นไปบริหารจัดการเพื่อสร้างผลกำไรและดำรงมูลค่ากองทุนตามกฎหมาย โดยส่วนใหญ่แล้วบริษัทประกันจะนำเงินไปลงทุนในตราสารหนี้ เช่น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้รัฐวิสาหกิจ หรือหุ้นกู้เอกชน ฯลฯ ซึ่งผลตอบแทนเกี่ยวข้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และอัตราดอกเบี้ยในตลาด ดังนั้นอัตราดอกเบี้ยจึงมีผลต่อกำไรจากการลงทุนของบริษัทประกัน และมีผลต่อการกำหนดราคาเบี้ยประกันโดยตรงอีกด้วย

ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน

โดยทั่วไปแล้ว ค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนการดำเนินงานของบริษัทประกันจะมีอยู่ 2 อย่างหลักๆ คือ
• ต้นทุนคงที่ เช่น เงินเดือนพนักงาน,ค่าเช่าสำนักงาน และค่าใช้จ่ายประเภทอื่นๆที่คงที่ในทุกๆเดือน
• ต้นทุนผันแปร เช่น ค่าพาหนะ,ค่าเดินทางของตัวแทนประกันชีวิต, ค่าคอมมิชชั่นของตัวแทน ฯลฯ ซึ่งค่าใช้จ่ายพวกนี้จะเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ตามปัจจัยต่างๆในการดำเนินงานของบริษัท

เมื่อรวมต้นทุนทั้ง 2 ประเภทเข้าด้วยกันแล้ว ก็จะเป็นตัวแปรหนึ่งที่เข้ามากำหนดราคาเบี้ยประกันของแต่ละบริษัท เพราะแต่ละที่ก็จะมีต้นทุนที่แตกต่างกัน ปัจจัยต่างๆที่เขียนมานี้ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดราคาเบี้ยประกันชีวิต ซึ่งบริษัทประกันก็จะนำรายละเอียดต่างๆมาพิจารณาว่าต้องการจะมีรายได้เท่าไหร่ และควรจะเรียกเก็บเบี้ยประกันจากผู้เอาประกันภัยแต่ละคนเป็นจำนวนเท่าไหร่ดี

แต่จริงๆแล้วก็ยังมีปัจจัยอย่างอื่นที่มักจะถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาเบี้ยประกันภัยด้วยเหมือนกันเช่นอัตราการขาดผลบังคับ หรืออัตราการเวนคืนกรมธรรม,มูลค่ากองทุนการสำรองฉุกเฉิน และอัตราผลกำไร

เงินสำรองประกันชีวิต

ในการที่บริษัทประกันรับประกัน ก็คือ การทำสัญญาต้องจ่ายผลประโยชน์ให้ผู้เอาประกัน จะเป็นผลประโยชน์กรณีผู้เอาประกันเสียชีวิตแล้ว (สินไหม) หรือ กรณีผู้เอาประกันยังมีชีวิตอยู่ อย่างเช่น เงินคืน หรือ เงินครบอายุกรมธรรม์ ดังนั้นเพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยง บริษัทประกันจึงต้องสะสมเงินส่วนเกินของเบี้ยประกันไว้เป็นเงินสำรองประกันชีวิต และนำเงินจำนวนนี้ไปลงทุนหาดอกผลเพื่อรวบรวมให้ได้จำนวนอย่างน้อยเท่ากับจำนวนเงินที่บริษัทประกันรับปากจ่ายให้ผู้เอาประกันในอนาคต หลักการพื้นฐานในการกำหนดกรอบการดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยง มีดังนี้

1) สร้างความมั่นใจว่าบริษัทประกันภัยมีเงินกองทุนเพียงพอกับระดับความเสี่ยง และเหมาะสมกับแนวทางในการดำเนินธุรกิจของแต่ละบริษัท
2) สร้างความโปร่งใสในการประเมินราคาสินทรัพย์และหนี้สิน โดยใช้หลักการมูลค่ายุติธรรม (Fair value)
3) เสริมสร้างให้บริษัทเห็นความสำคัญของการบริหารความเสี่ยงองค์กรแบบบูรณาการ (Enterprise risk management: ERM)
4) ให้บริษัทประกันภัยมีความคล่องตัวในการบริหารเงินกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพตามกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของบริษัท
5) ใช้เป็นสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้า เพื่อให้ผู้บริหารบริษัทประกันภัยและสำนักงาน คปภ.ได้ ดำเนินมาตรการแก้ไขที่จำเป็นอย่างทันท่วงที
6) ส่งเสริมการดำเนินงานของธุรกิจประกันภัยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

ที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าเบี้ยประกันที่บริษัทประกันคิดมานั้นต้องผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบ และปัจจัยส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์อนาคต อย่างเช่น อัตราการเสียชีวิตหรืออัตราการเจ็บป่วยของผู้เอาประกันตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ (อย่างเช่น กรณี Covid ที่อัตราการติดโรคสูงเกินกว่าคาดการณ์มาก) หรืออัตราดอกเบี้ยเป็นต้น ดังนั้น บริษัทประกันก่อนที่จะออกประกันซักแบบหนึ่ง จึงต้องคิดประเมินอย่างรอบคอบทุกด้านนั่นเอง

อ่านบทความอื่นๆ

ความจริงความคิด : ภาษี crypto
ความจริงความคิด : January Effect ที่ไม่เกี่ยวกับหุ้น
ความจริงความคิด : สิทธิและหน้าที่ของลูกหนี้ในกระบวนการยุติธรรม ตอน 2
ความจริงความคิด : สิทธิและหน้าที่ของลูกหนี้ในกระบวนการยุติธรรม ตอน 1
ความจริงความคิด : เผย 10 กลโกงซื้อขายออนไลน์แห่งปี 64 รู้ไว้! จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อโจรไซเบอร์ 1
ความจริงความคิด : วัฏจักรเศรษฐกิจกับการลงทุน