สำหรับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) วรรณ แม้ไม่ใช่บลจ.ขนาดใหญ่ที่สุดและไม่ได้เป็นลูกของธนาคารพาณิชย์ แต่ด้วยความโดดเด่นจากผลงานบริหารกองทุนให้กับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและสถาบันการเงินทั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) และกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) ทำให้ “บลจ.วรรณ” ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าสถาบันต่อเนื่อง จนขนาดสินทรัพย์ (NAV) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เติบโต 300-400 เท่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาและปีนี้ก็ทะลุเป้าหมายแล้ว
“พจน์ หะริณสุต” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ สัมภาษณ์พิเศษ “hoonsmart.com” ถึงภาพรวมธุรกิจในปี 2561 ว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมามีลูกค้าสถาบันเลือกให้บลจ.วรรณบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำนวน 2 ราย ได้แก่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารกรุงไทย นอกจากนี้ ยังได้รับความไว้วางใจจากบริษัท การบินไทย ให้บริหารพอร์ตของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในวงเงินที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ NAV ธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นมาแตะ 4 หมื่นล้านบาท จากสิ้นปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 2.3 หมื่นล้านบาท
สิ่งที่ทำให้บลจ.วรรณ ชนะคู่แข่ง ประเด็นแรกน่าจะมาจากผลงานบริหารกองทุน เนื่องจากเกณฑ์คัดเลือกจะพิจารณาจากผลการดำเนินงานของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รวมถึงการบริการและโปรดักส์ที่นำเสนอให้แก่สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีความหลากหลาย ส่งผลให้มูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารรวมทั้ง 3 ธุรกิจ (AUM) ของบลจ.วรรณ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และสามารถชดเชย AUM ที่ลดไปบางส่วนในปีก่อนจากกองทุนตราสารหนี้ได้
“เป็นเทรนด์ที่ดีที่ลูกค้าสถาบันเลือกบลจ.วรรณบริหารพอร์ต เป็นการบอกเพอร์ฟอร์แมนซ์ของเรา เพราะสถาบันต้องทำทีโออาร์ มีเงื่อนไขและกระบวนการคัดเลือก”พจน์ กล่าว
เช่นเดียวกับธุรกิจกองทุนส่วนบุคคลของบลจ.วรรณ ซึ่งบริษัทได้รับการเพิ่มเงินเพื่อบริหารพอร์ตอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมี NAV อยู่ที่ 2.93 หมื่นล้านบาท จากสิ้นปีก่อน 2.84 หมื่นล้านบาท ทำให้สัดส่วนลูกค้าสถาบันจากธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนส่วนบุคคล คิดเป็นสัดส่วน 58.63% ของมูลค่าสินทรัพย์ทั้งหมด ขณะที่กองทุนรวมมีสัดส่วน 41.37%
พจน์ บอกว่า ตอนนี้ AUM ไม่ใช่ประเด็นสำหรับบลจ.วรรณ ซึ่งหลังจากนี้จะต้องรักษามาตรฐานและบริหารจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนส่วนบุคคลให้มีผลงานดีที่สุด โดยปกติสัญญาในการบริหารจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยทั่วไปจะประมาณ 2-3 ปี และหากทำผลงานได้ดีเราก็ได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นเช่นกัน
อีกประเด็นที่มองว่าสำคัญไม่แพ้กัน คือ การเทิร์นโอเวอร์หรือการย้ายเข้าออกของบุคลากร ซึ่งลูกค้าสถาบันให้ความสำคัญ มากโดยเฉพาะของผู้จัดการกองทุน เพราะมีส่วนทำให้ผลงานกองทุนอาจไม่มีเสถียรภาพ โดยประเด็นนี้ นับว่าเป็น จุดแข็งของบลจ.วรรณ เพราะเรามีทีมผู้จัดการกองทุนที่มีประสบการณ์ในวงการมาประมาณ 30 ปี และทำงานอยู่กับบลจ.วรรณมานานประมาณ 20 ปี ฉะนั้นเราไม่มีปัญหาเรื่องการเปลี่ยนหัวหน้าทีมผู้จัดการกองทุน
ส่วนกรณีเกิดปัญหาตั๋วบี/อีดีฟอล์ทในอุตสาหกรรมปีที่ผ่านมา บลจ.วรรณก็ได้ปรับระบบการคัดเลือกตราสารที่จะเข้าลงทุนใหม่บางกองทุนต้องมีเครดิตเรทติ้งต่ำสุดระดับ BBB จากเดิม BBB- และหากบริษัทไหนมีการกู้แบงก์มากยิ่งต้องเช็คอย่างเข้มงวด เพราะหากแบงก์ไม่ปล่อยกู้บริษัทนั้นจะมีปัญหาได้ ดังนั้นถือว่าระบบบริหารจัดการและระบบบริหารความเสี่ยงของบลจ.วรรณ เข้มงวดขึ้น แต่ไม่ได้หมายความที่ผ่านมาไม่เข้มข้นเพียงแต่บางเรื่องก็เหนือความคาดหมาย
พจน์ ยังมองแนวโน้มการแข่งขันในอุตสาหกรรมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะรุนแรงเช่นเดิม แต่ธุรกิจยังเติบโตได้ ส่วนหนึ่งจากเม็ดเงินของสมาชิกที่เข้าสู่ระบบต่อเนื่องทุกปีประมาณ 7-10% และสมาชิกกองทุนจะต้องถือจนเกษียณ เงินจึงอยู่ในอุตสาหกรรม อีกทั้งจากจำนวนบริษัทที่จดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ทั้งหมดประมาณ 6 แสนบริษัท จัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่ถึง 2 หมื่นบริษัท จึงเชื่อว่าแนวโน้มยังเติบโตได้
ปัจจุบันกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในอุตสาหกรรม ณ สิ้นเดือนเม.ย.2561 มีจำนวนนายจ้างหรือบริษัทจัดตั้งกองทุน 19,425 ราย เพิ่มขึ้นจาก 5 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนนายจ้าง 12,753 รายและย้อนหลัง 10 ปี มีจำนวนนายจ้างเพียง 9,750 รายเท่านั้น ในแง่ของสมาชิก (ลูกจ้าง) ก็เพิ่มขึ้นจาก 2,056,764 ราย เมื่อ 10 ปีก่อน เป็น 3,314,252 ราย ส่วนมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของกองทุนทั้งระบบจาก 4.65 แสนล้านบาท เพิ่มเป็น 1.10 ล้านล้านบาท ในรอบ 10 ปี
สำหรับบลจ.วรรณ ธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพขยายตัวค่อนข้างมาก ช่วง 3 ปีที่ผ่านมาจากมูลค่าสินทรัพย์ 9,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมาแตะ 3.9 หมื่นล้านบาทในปัจจุบัน ในขณะที่อุตสาหกรรมเติบโตฉลี่ยประมาณ 25% จาก 8.83 แสนล้านบาท มาแตะ 1.10 ล้านล้านบาท
“3 ปีที่ผ่านมา กองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบลจ.วรรณเติบโต 300-400 เท่า โดยได้รับความไว้วางใจจากกลุ่มลูกค้าสถาบันให้บริหารเงินอย่างต่อเนื่อง”พจน์ กล่าว
ส่วนกรณีกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ที่เป็นการออมภาคบังคับใกล้คลอดปีนี้ เชื่อว่าจะไม่ได้กระทบต่อกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในทันที เพราะจะบังคับใช้กับกิจการเอกชนที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป โดยการส่งเงินในปีที่ 1-3 นายจ้างและลูกจ้างส่งไม่น้อยกว่าละ 3% ของค่าจ้าง ปีที่ 4-6ฝ่ายละ 5% ของค่าจ้าง ปีที่ 7-9 ฝ่ายละ 7% ของนายจ้างและปีที่ 10 เป็นต้นไปฝ่ายละ 10% ของนายจ้าง
อย่างช่วงเริ่มต้นใช้บังคับหากบริษัทเอกชนรายใดสมทบเกินกว่ากฎหมายกำหนดในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินส่วนที่เกินก็ยังอยู่ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่เมื่อเวลาผ่านไปอย่างปีที่ 7 กำหนดให้นายจ้างและลูกจ้างต้องส่งเงินเพิ่มเป็น 7% หากที่ผ่านมาต่ำกว่านี้ก็ต้องใส่เงินเพิ่มเข้ามา สุดท้ายก็อาจทำให้เม็ดเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพค่อยๆ ลดลง เพราะนายจ้างจะเลือกสมทบไปยังกบช.ที่เดียว
“ธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่ใช่ธุรกิจที่มีกำไรมากเท่ากองทุนรวม โดยเฉพาะลูกค้าบลจ.วรรณส่วนใหญ่เป็นรัฐวิสาหกิจ แต่หากเราทำผลงานได้ดีก็จะได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงมีแผนขยายฐานลูกค้าเอกชนให้มาใช้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพประเภทพูลฟันด์หรือรวมนายจ้างอยู่ในกองเดียวให้มากขึ้น”พจน์ กล่าว
ในส่วนงานด้านบริการ บลจ.วรรณ ได้พัฒนาเว็บไซต์ให้ลูกค้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนรวมเข้ามาดูพอร์ตลงทุนได้ และมีโมบายแอพ ชื่อ ONEAM รองรับการทำธุรกรรมซื้อขายกองทุนของกลุ่มผู้บริโภคยุคดิจิตอล ลูกค้ากลุ่มใหม่อายุ 20-50 ปี จากเดิมฐานลูกค้าบริษัทส่วนใหญ่อายุ 50 ปีขึ้นไป รวมทั้งได้ร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับกลุ่มเซ็นทรัล หากลูกค้าดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น ONEAM จะได้รับคะแนน The 1Card ทันที 800 คะแนน หากทำธุรกรรมซื้อกองทุนในช่วงที่เปิดเสนอขาย IPO จะได้รับคะแนน The 1Card เพิ่ม 2 เท่า
นอกจากนี้ ในแอพ ONEAM ยังสามารถติดตามข่าวสารการลงทุนต่างๆได้ ปัจจุบันเราพยายามพัฒนาศักยภาพ ONEAM ซึ่งปลายปีนี้ลูกค้าที่สนใจซื้อกองทุนของบลจ.วรรณจะสามารถเปิดบัญชีผ่านโมบายแอพได้เลย ทั้งนี้เรามีเป้าหมายให้ ONEAM เปรียบเหมือนหนึ่งสาขาวรรณ ถือว่าเป็นการเพิ่มช่องทางการติดต่อของบลจ.วรรณให้สะดวกมากขึ้น
สำหรับธุรกิจกองทุนรวมตั้งแต่ต้นปี 2561 ออกกองใหม่ใน 3 เดือนแรก 4 กองทุนและมีแผนออกเพิ่มอีกอย่างน้อย 4 กองทุนในช่วงที่เหลือของปีนี้ เพื่อนำเสนอเป็นทางเลือกให้แก่ลูกค้าและขยายสินทรัพย์ธุรกิจกองทุนรวมเติบโตขึ้น จาก 4 เดือนแรกของปีนี้ กองทุนรวมมีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4.85 หมื่นล้านบาท จากสิ้นปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 4.64 หมื่นล้านบาท โดยขยายตัวทั้ง 3 ธุรกิจ กว่า 1.92 หมื่นล้านบาท หรือเติบโต 19% มายู่ที่ 1.17 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดนับตั้งแต่บลจ.วรรณจัดตั้งขึ้นและสิ้นปีนี้อาจเห็น AUM แตะ 1.20-1.25 แสนล้านบาท ทำนิวไฮใหม่ก็ได้