คอลัมน์ความจริง ความคิด
ในภาวะที่ดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับที่ต่ำมาตลอดหลายปี แม้ปีนี้อเมริกาจะมีแนวโน้มที่จะขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง แต่แนวโน้มดอกเบี้ยเมืองไทยก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำเช่นเดิม
เมื่อภาวะดอกเบี้ยต่ำ คนที่เคยชอบฝากเงินกับแบงค์เพราะรู้สึกว่าปลอดภัยดี ก็เริ่มมองหาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า (search for yield) เพราะทนกับผลตอบแทนที่น้อยไม่ได้ แต่จะโดดมาเล่นหุ้นเลย หลายคนก็ยังกลัวความเสี่ยง จะลงทุนในกองทุนรวมที่เป็นกองทุนหุ้น ก็รู้สึกเสี่ยงไม่ต่างกัน จะย้ายไปกองทุนตราสารหนี้ ก็ไม่ได้ผลตอบแทนที่มากขึ้นจนน่าพอใจ หลายๆกองกลับขาดทุนด้วยซ้ำ อย่างเช่น กองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ที่ไม่ได้จัดอันดับความน่าเชื่อถือ หรือ กองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ
ขณะเดียวกันในส่วนของสถาบันการเงินเองก็มีความต้องการหารายได้เพิ่มในภาวะที่การปล่อยสินเชื่อทำได้ยาก หรืออาจมีการลงทุนในหลักทรัพย์บางอย่าง อยากจะลดความเสี่ยงจากการลงทุนในหลักทรัพย์นั้น หรือบางบริษัทที่ต้องการกู้เงินมาลงทุน แต่ไม่อยากเสี่ยงกับความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย ก็อยากหาการระดมเงินที่บริษัทสามารถจ่ายผลตอบแทนได้ตามผลประกอบการของบริษัท
เมื่อความต้องการของคนที่มีเงินออมกับคนที่ต้องการเงินสามารถตอบสนองกันได้ สถาบันการเงินหลายแห่งมองเห็นโอกาสตรงนี้จึงเริ่มเสนอตราสารที่มีลักษณะกึ่งกลางระหว่างตราสารหนี้กับตราสารทุน ซึ่งมีลักษณะเป็นตราสารที่มีลักษณะเป็นลูกผสมโดยมีความเป็นหนี้ที่ยังคุ้มครองเงินต้นบางส่วน เช่น 80 % ของเงินต้นที่ลงทุนไป หรือคุ้มครองเงินต้น 100% แต่มีผลตอบแทนแปรตามอัตราผลตอบแทนในตราสารทุน เช่น ดัชนีหลักทรัพย์ หุ้นกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เป็นต้น ตราสารประเภทนี้เรียก หุ้นกู้อนุพันธ์ (Structured Note) เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีลักษณะผสมผสานระหว่าง หุ้นกู้ และ ตราสารอนุพันธ์ สามารถลงทุนได้ในสภาวะตลาดที่หลากหลายและมีให้เลือกหลายประเภทตามลักษณะและความต้องการของผู้ลงทุน ผลตอบแทนจากการลงทุนใน Structured Note จะแปรผันตามการขึ้นลงของราคาหุ้นอ้างอิง จึงทำให้ผู้ลงทุนมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากและตราสารหนี้ทั่วไป
แต่ของฟรีไม่มีในโลก (no free lunch) เมื่อผลตอบแทนแปรผันตามการขึ้นลงของราคาหลักทรัพย์อ้างอิง ความเสี่ยงก็ย่อมแปรตามหลักทรัพย์อ้างอิงเช่นกัน อย่างเช่น ความเสี่ยงด้านราคา และยิ่งเมื่อผูกกับตราสารอนุพันธ์ ก็จะมีความเสี่ยงของตราสารอนุพันธ์เข้ามาด้วย ทำให้หุ้นกู้อนุพันธ์มีความเสี่ยงสูงกว่าตราสารหนี้ทั่วไป แถมยังเข้าใจยากอีกต่างหาก จน ก.ล.ต. ถึงต้องมีคำเตือน : ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงือนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุนและควรขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากผู้แนะนำการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน
ลักษณะความซับซ้อนที่ยากต่อการทำความเข้าใจ อย่างเช่น
•การจ่ายกระแสเงินสดไม่แน่นอน เช่น คนออกมีสิทธิเลื่อนหรือสิทธิในการงดการจ่ายดอกเบี้ยโดยไม่ถือเป็นการเบี้ยวหนี้ และคนถือไม่สามารถฟ้องได้
•อายุของตราสารไม่แน่นอน เช่น กำหนดหรือไม่ได้กำหนดอายุก็ได้ หรือมีความเป็นไปได้หลายแบบ เช่น อายุตราสารอาจสั้นกว่ากำหนดก็ได้
•ลำดับสิทธิในการชำระหนี้คืนเมื่อคนออกล้มละลาย อาจด้อยกว่า คือ ได้เงินคืนช้ากว่า เมื่อคืนเงินช้ากว่า โอกาสได้รับเงินต้นคืนครบจำนวนก็น้อยกว่า
•มีอนุพันธ์แฝง การจ่ายผลตอบแทนแปรผันไปตามปัจจัยอ้างอิง เช่น หุ้น ดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน และตามเงื่อนไข ลักษณะตราสารอนุพันธ์
เมื่อซับซ้อนยากต่อการเข้าใจ ความเสี่ยงของหุ้นกู้อนุพันธ์จึงเสี่ยงสูงกว่าความเสี่ยงของตราสารหนี้ปกติอย่างพูดไปแล้ว อย่างเช่น ความเสี่ยงที่ดอกเบี้ยที่จะได้รับไม่แน่นอน ทำให้เราคาดการณ์ผลตอบแทนที่จะได้ไม่แม่นยำ และโอกาสการได้รับเงินต้นคืนจะน้อยในกรณีคนออกเบี้ยวหนี้
แต่ฟังมาถึงตรงนี้ คนที่จะลงทุนก็อาจงง แล้วอย่างนี้จะลงทุนในหุ้นกู้อนุพันธ์ทำไม เสี่ยงก็สูงกว่า แต่ยังเข้าใจยากอีก ทำงานก็ปวดหัวพอแล้ว ยังมาต้องปวดหัวกับการลงทุนอีก หุ้นกู้อนุพันธ์มีขายกันทั่วโลกและมีมานานแล้ว ถ้าไม่มีข้อดีเลย คงไม่อยู่มาถึงตอนนี้ ข้อดีของหุ้นกู้อนุพันธ์ เพิ่มโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น อย่างเช่น หุ้นกู้อนุพันธ์อายุ 3 เดือนที่จ่ายคืนเงินต้น และผลตอบแทนอ้างอิงกับ SET Index ถ้า SET Index ณ วันครบอายุ > 1800 จุด จะจ่ายเงินต้น + ผลตอบแทน 15%/ปี ของเงินต้น แต่ถ้า SET Index < 1800 จุด จ่ายคืนเงินต้น 1,000 บาท จะเห็นว่าความเสี่ยงที่จะขาดทุนต่ำ แต่มีโอกาสได้รับดอกเบี้ยที่มากขึ้น ถ้า SET Index ณ วันครบอายุ > 1800 จุด เป็นต้น
สรุปก็คือ หุ้นกู้อนุพันธ์ถือเป็นหลักทรัพย์ที่น่าสนใจประเภทหนึ่ง แต่ก่อนลงทุนควรศึกษาให้เข้าใจเสียก่อน เพราะการลงทุนโดยไม่มีความรู้ เสี่ยงมากครับ