โบรกฯ ตั้งข้อสังเกต AI-บล็อกเทรด-มาร์จิ้น ไอ้โม่ง !!! ทุบหุ้นมวลชน

HoonSmart.com>>ควานหาไอ้โม่งทิ้งหุ้นมวลชน BAM  ตั้งข้อสังเกตฝีมือ AI-มาร์จิ้น-บล็อกเทรด   โบรกเกอร์เสียงแตก ไม่เชื่อ AI ย้ำตลาดคุมโปรแกรมเทรด ไม่ให้ป่วนตลาด

วันศุกร์ที่ผ่านมา ( 14 ก.พ.) ท้ายตลาดหุ้น มีแรงเทขายหุ้นขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นหุ้นที่มวลชนเข้าไปลงทุน ไม่ว่าจะเป็นหุ้น BAM ( บริหารสินทรัพย์กรุงเทพ พาณิชย์ ) , KCE  ( เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ ) หรือ OSP  (โอสถสภา)    ราคาหุ้นปรับตัวลงรุนแรง ท่ามกลางมูลค่าซื้อขายที่หนาแน่น

สำหรับราคาหุ้น BAM ถูกทุบลงมาจาก 36.26 บาท  ปิด 31.50 บาท ลดลง 3.08 % มูลค่าซื้อขาย 8,197.90 ล้านบาท KCE ปิดที่ 24 บาท ลดลง 2.87 % มูลค่าซื้อขาย 1,930.89 ล้านบาท , OSP ปิด 44.75 บาท ลดลง 2.25 บาท หรือลดลง 4.79 % มูลค่าซื้อขาย 1,138.57 ล้านบาท

เกิดข้อสงสัยในหมู่นักลงทุน และหาสาเหตุการขายที่เกิดขึ้นในวันดังกล่าว ว่า เป็นฝีมือใคร คน  โปรแกรมเทรด หรือเครื่องจักรกล ???? ซึ่งเป็นระบบเทรดอัจฉริยะ ที่คุ้นหูกันว่า AI เป็นต้นเหตุให้หุ้นผันผวนทั้งขาขึ้นและขาลง เกินสภาพความเป็นจริง

นายบรรณรงค์ พิชญากร กรรมการผู้จัดการ กิจการค้าหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง  เปิดเผย www.HoonSmart.com ว่า หุ้นหลายตัวที่ปรับตัวลง ไม่คิดว่าใช้โปรแกรมเทรด หรือ AI  เนื่องจากตลาดหลักทรัพย์ มีเกณฑ์การส่งคำสั่งซื้อขาย ( ออร์เดอร์ ) ห้ามไล่ซื้อหุ้น ที่เป็นตัวการป่วนตลาด  ยกเว้นโปรแกรมเทรด เออเร่ หรือผิดพลาด ซึ่งไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก

โดยหลักการส่งออร์เดอร์ของตลาด เช่น ห้ามเป็นออร์เดอร์ ที่ตั้งคำสั่งหลอก เช่น ตั้งซื้อ ตั้งขาย แล้วถอนออกซ้ำ ๆ กัน , ตั้งคำสั่งซื้อในลักษณะการไล่ราคา เช่น เคาะขวาอย่างเดียว

“ เวลาที่หุ้นวืดวาด ผมไม่ค่อยเชื่อว่าเป็นฝีมือ AI  เพราะตลาดพยายามควบคุมความเสี่ยง จากโปรแกรมเทรด AI  อยู่แล้ว ไม่ให้ส่งออร์เดอร์เป็นการไล่หุ้น ไม่ต้องการเห็น  AI  เป็นตัวป่วนตลาด หากเกิดคำสั่งที่ไม่เหมาะสม ตลาดหลักทรัพย์ จะโทรเข้ามาสอบถามทันที”

นายบรรณรงค์ กล่าวอีกว่า แรงซื้อขายหลังจาก AI คาดว่าเป็นแรงซื้อของนักลงทุนที่เข้ามาเก็งกำไร ที่ไม่สามารถควมคุมได้ พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า แรงซื้อขายที่ออกมาพร้อม ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นหุ้น BAM หรือตัวอื่น ๆ  การขายของบล็อกเทรด หรือมาร์จิ้น ซึ่งทั้ง 2 ประเภทนี้ มีกำลังซื้อขายที่สูงกว่าปกติ

ขณะที่ผู้บริหารระดับสูง โบรกเกอร์รายหนึ่ง กล่าวว่า ไม่สามารถฟันธงได้ว่า แรงซื้อขายที่ทำให้หุ้นผันผวนหนักกว่าปกติ เป็นจากโปรแกรมเทรด AI แต่จากสมมุติฐาน โปรแกรมเทรด AI จะประเมินแรงซื้อหรือขายจำนวนมาก ๆ แล้วจะดักออร์เดอร์ก่อน ทั้งขาขึ้นและขาลง ในลักษณะเดียวกัน บนหุ้นขนาดใหญ่  ซึ่งออร์เดอร์จาก AI ครั้งละมาก ๆ ทำให้ราคาหุ้นขึ้น-ลง แรงเกินธรรมชาติ

จุดน่าสังเกตคือ โปรแกรม AI ทำให้หุ้นเคลื่อนไหวผันผวนผิดปกติ แม้แต่หุ้นดี ๆ ปัจจัยพื้นฐานก็บอกไม่ได้ เช่น หุ้นบางตัวพี/อี เป็น 100 เท่า ยังเก็งกำไร เชื่อว่าเป็นผลระยะสั้น เท่านั้น

“ เวลาที่โปรแกรมเทรด เห็นแรงซื้อเข้ามาเยอะๆ  อาศัยความเร็ว ที่เครื่องเห็นก่อน ก็จะซัดซื้อขายก่อน ทำให้หุ้นเคลื่อนไหวผิดปกติ   ซึ่ง  AI เป็นแรงผสมผสานให้เกิดความผันผวนสูงเกินไปกว่าปัจจัยพื้นฐาน แม้ว่าตลาดทุน ต้องเปิดรับของใหม่ แต่ต้องดูแลไม่ให้สภาพคล่องที่แท้จริงหายไป ที่เกิดจาก AI ซื้อดักหน้า กินสภาพคล่อง ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ ควรกลับมาพิจารณาคุมสภาพคล่อง ความถี่ และความเร็ว ตลอดจนคุมค่าคอมมิชชั่น (นายหน้าซื้อขายด้วย ) เพื่อไม่ให้เสน่ห์การเก็งกำไรของรายย่อย หมดไปจากตลาดหุ้น” แหล่งข่าวกล่าว

ส่วนหุ้นไฟฟ้ายังปรับตัวลงไม่หยุด GPSC ปิดที่ 74.25 บาท รูดลง 3.57% GULF ปิด 186.50 บาท ติดลบ 2.86% BGRIM ปิดที่ 54.75 บาททร่วง 5.19%

ทั้งนี้วันที่ 14 ก.พ.  GULF มีการขายล่วงหน้า(ชอร์ตเซล) 1.55 ล้านหุ้น มูลค่า 293 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 18.56% ของปริมาณการขายหุ้น GULF ในตลาด ไม่รวมการชอร์ตเซล GULF-R อีก 4.72 แสนหุ้น ส่วน BGRIM มีชอร์ตเซลลดลงเหลือจำนวน 2.81 ล้านหุ้น สัดส่วน 8.73% ขณะที่ GPSC ชอร์ตเซล 2 ล้านหุ้น 6.22% GPSC-R อีก 3 ล้านหุ้น สัดส่วน 9.66%

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สรุปการซื้อขายหลักทรัพย์ในปี 2562 พบว่า มีการใช้โปรแกรมเทรดสัดส่วน 26.65% ของการซื้อขายทั้งตลาด และมีการชอร์ตเซลถึง 377,012 ล้านบาท พุ่งขึ้น 133.79% จากปี 2561 และมีการใช้มาร์จิ้น 64,124 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,517 ล้านบาท กว่า 5.80% เทียบกับ 60,607 ล้านบาท