ความจริงความคิด : กฎหมายที่คนเช่าซื้อรถยนต์ควรรู้

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP

ครั้งที่แล้ว คุยกันเรื่องแบงค์ชาติประกาศ ปรับปรุงการคิดดอกเบี้ยและการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมใน 3 เรื่องที่คุ้มครองประโยชน์ผู้ใช้บริการสถาบันการเงิน คือ ค่าปรับการไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนด (prepayment charge), ให้คืนค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิต กรณีผู้ใช้บริการยกเลิกการใช้บัตร, และ ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนค่างวด (installment) ให้คิดเฉพาะส่วนที่เป็นเงินต้นของค่างวดนั้น

ก็มีบางคนสงสัย ทำไมดอกเบี้ยเช่าซื้อรถไม่ปรับบ้าง จริงๆเรื่องนี้ทางคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561 ซึ่งมีผลบังคับใช้ 1 ก.ค. 2561 วัตถุประสงค์หลักเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคที่เช่าซื้อรถออกมาแล้ว

เนื้อหาหลักๆ ที่น่าสนใจก็มี

1.อัตราดอกเบี้ยที่ใช้ในสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เป็นอัตราคงที่ต่อปี (Flat Interest Rate) คือคิดอัตราเดียวจากยอดเงินต้นทั้งก้อน สมมติรถซื้อราคา 500,000 บาท เราวางเงินดาวน์ 30% หรือ 150,000 บาท จะมียอดจัดทั้งหมด 350,000 บาท

ระยะเวลาผ่อนชำระ 48 งวด (หรือ 4 ปี) ในอัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปี จะมีวิธีคำนวณดังนี้
ดอกเบี้ย 5% ของ 350,000 บาท เท่ากับ 350,000 x 5% = 17,500 บาทต่อปี
ในระยะเวลา 4 ปีจะต้องจ่ายดอกเบี้ยรวมทั้งสิ้น 17,500 x 4 = 70,000 บาท
เมื่อรวมเข้ากับยอดจัด 350,000 บาท เท่ากับคุณมียอดรวมที่จะต้องจ่ายทั้งหมด 350,000 + 70,000 = 420,000 บาท

สรุปแล้ว เราต้องจ่ายทั้งหมดเดือนละ 420,000 ÷ 48 = 8,750 บาท นั่นเอง

วิธีนี้ทำให้หลายคนเข้าใจผิด คิดว่าสินเชื่อเช่าซื้อรถคิดดอกเบี้ยถูก จึงผ่อนรถกันใหญ่ แต่จริงๆแล้วไม่ได้ถูกเลย เพราะทุกงวดที่จ่ายจะมีจ่ายเงินต้นออกด้วย แต่เพราะดอกเบี้ยคิดจากเงินต้นทั้งก้อน จึงเท่ากับว่าดอกเบี้ยไม่ได้ลดตามเงินต้นเลย ดังนั้นดอกเบี้ยที่เราจ่ายจริงแพงกว่าดอกเบี้ยที่ไฟแนนซ์คิดมาก กฎหมายใหม่นี้จึงกำหนดให้ไฟแนนซ์ระบุอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี (Effective Interest Rate) ไว้ด้วย เพื่อผู้ที่ต้องการผ่อนรถจะได้มีข้อมูลพิจารณาอย่างถูกต้อง

2.เมื่อเราได้จ่ายค่าเช่าซื้อและค่าใช้จ่ายครบถ้วนแล้ว กรรมสิทธิ์ในรถที่เช่าซื้อจะตกเป็นของเราทันที ไฟแนนซ์ต้องดำเนินการจดทะเบียนรถให้เป็นชื่อของเราภายใน 30 วันนับแต่วันที่ไฟแนนซ์ได้รับเอกสารที่จำเป็นสำหรับการจดทะเบียนครบถ้วนจากเรา หากไฟแนนซ์ไม่ปฏิบัติตาม ไฟแนนซ์จะถูกปรับโดยคิดจากมูลค่าเช่าซื้อในอัตราเท่ากับอัตราเบี้ยปรับที่เราต้องชำระในกรณีที่เราผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ ส่วนค่าธรรมเนียมการโอนทะเบียนรถที่กรมการขนส่งทางบกเราเป็นคนต้องชำระนะ

3.ถ้างวดไหนเราผิดนัดชำระค่างวด ไฟแนนซ์ห้ามคิดเบี้ยปรับในกรณีที่เราผิดนัดชำระค่างวดตามสัญญาเช่าซื้อเกินกว่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี (Effective Interest Rate) บวกร้อยละ 3 ต่อปี แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี (ประกาศฉบับก่อนหน้าที่กำหนดไม่เกิน MRR+10% หรือประมาณ 16-17% ต่อปี)

4.กรณีถ้ามีงวดไหนที่เราจ่ายหนี้ช้า ถูกค่าเบี้ยปรับชำระค่างวดล่าช้า หรือมีค่าใช้จ่ายใดๆเกิดขึ้น แล้วงวดถัดมาเราจ่ายค่างวดปกติ ถ้าไฟแนนซ์จะนำเงินค่างวดที่เราจ่ายในงวดต่อมา มาหักชำระค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ ในการทวงถามหนี้ค่าเช่าซื้อ ค่าเบี้ยปรับชำระค่างวดล่าช้า ไฟแนนซ์มีหน้าที่ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้เราทราบก่อนภายใน 7 วันนับแต่วันที่เราได้รับแจ้ง

แต่ถ้าไฟแนนซ์ไม่มีหนังสือดังกล่าว ไฟแนนซ์ไม่มีสิทธินำเงินค่างวดต่อมานั้นมาหักชำระค่าใช้จ่ายดังกล่าว และไฟแนนซ์จะถือว่าเราผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อที่นำมาชำระเต็มจำนวนในงวดนั้นไม่ได้ และเมื่อไฟแนนซ์ได้หักเงินค่างวดเพื่อจ่ายค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายแล้ว ไฟแนนซ์มีหน้าที่ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้เรานำเงินในส่วนที่ขาดของค่างวดเช่าซื้อนั้น มาชำระให้ครบถ้วนภายใน 15 วันนับแต่วันที่เราได้รับหนังสือดังกล่าว หากเรามิได้ชำระเงินส่วนที่ขาดให้ครบถ้วนภายในระยะเวลาดังกล่าวให้ถือว่าเราผิดนัดเฉพาะเงินค่างวดเช่าซื้อบางส่วนที่ยังมิได้ชำระนั้น

5.ในกรณีเราผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อรายงวด 3 งวดติด ๆ กัน และไฟแนนซ์มีหนังสือบอกกล่าวเราให้ใช้เงินรายงวดที่ค้างชำระนั้นภายในเวลาอย่างน้อย 30 วันนับแต่วันที่เราได้รับหนังสือ และเราละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามหนังสือบอกกล่าวนั้น ไฟแนนซ์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้

6.ในอีกด้านหนึ่ง กรณีที่เราจะขอชำระเงินค่าเช่าซื้อทั้งหมดในคราวเดียวเพื่อปิดบัญชีค่าเช่าซื้อ ไฟแนนซ์จะต้องให้ส่วนลดแก่เราในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ ตัวอย่างเช่น ยอดเงินกู้ซื้อรถยนต์ 240,000 บาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3% ผ่อนจ่ายเดือนละ 10,600 บาท (แบ่งเป็นเงินต้น 10,000 บาท ดอกเบี้ย 600 บาท) จำนวน 24 งวด ต่อมาพอขึ้นปีที่ 2 เราต้องการปิดบัญชี ซึ่งเราได้จ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยไปแล้ว 12 เดือน ยังคงเหลืออีก 12 เดือนที่ยังค้างชำระ เงินต้นของงวดที่เหลือ (10,000 x 12 เดือน) เท่ากับ 120,000 บาท ดอกเบี้ยของงวดที่เหลือ (600 x 12 เดือน)เท่ากับ 7,200 บาท เราจะได้ส่วนลด 50% ของดอกเบี้ยงวดที่เหลือ (7200 x 50%) (3,600) บาท ดังนั้น คงเหลือเงินที่ต้องชำระคืน 123,600 บาท (แต่ถ้าเป็นกรณีเราโปะหนี้ให้มากขึ้นโดยหวังว่าดอกเบี้ยจะลดเหมือนสินเชื่อบ้าน หนี้รถคิดดอกเบี้ยคงที่ไม่ลดดอกตามเงินต้นที่ลด ดังนั้นไม่ช่วยให้ดอกลดนะครับ แค่ช่วยให้เรามีภาระจ่ายงวดน้อยลงแค่นั้น เช่น เหลือ 10 งวด จ่ายทีเดียว 3 งวด ก็แค่ลดจำนวนงวดที่เราต้องจ่ายต่อเป็น 7 งวด แต่ไม่ลดดอกเบี้ยหรือค่างวดนะครับ)

7.เมื่อสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงไม่ว่ากรณีใด ๆ และไฟแนนซ์ได้กลับเข้าครอบครองรถ ทั้งนี้ก่อนนำรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ออกขายโดยวิธีประมูลหรือวิธีขายทอดตลาดที่เหมาะสม ไฟแนนซ์ต้องมีหนังสือแจ้งให้เราทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน เพื่อให้เราใช้สิทธิซื้อก่อนได้ตามมูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ โดยไฟแนนซ์จะต้องให้ส่วนลดแก่เราในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ แต่ถ้าเราไม่ใช้สิทธิดังกล่าวภายในระยะเวลานั้น ไฟแนนซ์ก็ต้องมีหนังสือแจ้งผู้ค้ำประกันทราบไม่น้อยกว่า 15 วันนับแต่วันที่สิ้นระยะเวลาการใช้สิทธิของเราเพื่อให้ผู้ค้ำประกันใช้สิทธินั้น โดยให้ผู้ค้ำประกันได้รับสิทธิเช่นเดียวกับเรา

8.กรณีที่ไฟแนนซ์นำรถออกขาย ถ้าได้ราคาเกินกว่ามูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ ไฟแนนซ์ต้องคืนเงินส่วนที่เกินนั้นให้แก่เรา แต่ถ้าได้ราคาน้อยกว่ามูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ เราต้องรับผิดส่วนที่ขาดนั้น

9.ไฟแนนซ์ต้องไม่เข้าสู้ราคาไม่ว่าโดยวิธีประมูลหรือวิธีขายทอดตลาดรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่ให้เช่าซื้อ ทั้งนี้ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม

คร่าวๆที่น่ารู้ ก็มีเท่านี้ แต่ถ้าใครอยากอ่านรายละเอียด ก็ไปหา ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561 ฉบับเต็มมาอ่านได้นะ โดยเฉพาะคนที่เช่าซื้อรถหรือคิดจะเช่าซื้อ หรือ คิดจะปิดบัญชี ควรจะอ่านมากครับ