ศก.ลงต่อปี’63-ค่าบาทแข็ง 29.20 กสิกรชี้ฯเงินเข้าไหล บล.หั่นเป้ากำไรบจ.

HoonSmart.com>>เศรษฐกิจปี 2562 ว่าแย่ ปีหน้าธนาคารกสิกรไทยคาดลงต่อ โตแค่ 2.7% ส่งออกติดลบหนักขึ้น 2% ค่าเงินบาทแข็งสิ้นปีมีโอกาสเห็น 29.20 บาท สงครามการค้าลากยาว ต่างชาติยังคงสนใจเข้ามาลงทุนในไทย-เอเชีย  มาตราการกระตุ้นของรัฐบาลได้ผลไม่มากเหมือน 20 ปีก่อน เงินเคยหมุน 14 เท่า ปัจจุบันเหลือ 6 เท่า ปตท.คาดราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย  55-65 เหรียญสหรัฐ บล.เอเซียพลัส-หยวนต้าพร้อมใจกันปรับเป้ากำไรบจ. ดัชนีปี 62- 63  ล่าสุด 9 เดือนปีนี้ บริษัททั้งตลาดกำไรรวม 6.46 แสนล้านบาท ลด 15.4%  

 

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยในงานสัมมนา “ส่องทิศทางเศรษฐกิจปีชวด”ว่า ธนาคารกสิกรไทยประมาณการเศรษฐกิจปี 2563 จะขยายตัว 2.7% ลดลงจากปีนี้ที่คาดว่าจะเติบโต 2.8% เนื่องจากการส่งออกติดลบ 2% มากกว่าปีนี้ที่คาดว่าจะติดลบ1% เป็นผลมาจากสงครามการค้าที่ยังคงยืดเยื้อ และการย้ายฐานการผลิตจากจีนมาไทย ยังส่งผลไม่ได้เต็มที่ เห็นได้จากส่วนแบ่งตลาดการส่งออกของไทยจากปี 2561 อยู่ที่ 1.46% ปีนี้ลดลงมาอยู่ที่ 1.38%

ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาทในปี 2563จะแข็งค่ามากขึ้น คาดกรอบเคลื่อนไหวอยู่ที่ 29.70 – 29.75 บาท/ดอลลาร์ ในครึ่งปีแรก และ 29.20-29.25 บาทในสิ้นปี จากสิ้นปี 2562 คาดว่าจะอยู่ที่ 30.50 บาท บนสมมุติว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 2 ครั้ง ๆ ละ 0.25 บาท ครั้งแรกน่าจะเกิดขึ้นในครึ่งปีแรก  และเดือนก.ย. ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิมที่ 1.25%

“เศรษฐกิจในปี 2563 ยังอยู่ในเกณฑ์ที่เติบโตต่ำ เนื่องจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ดุลบัญชีเดินสะพัดจะยังเกินดุล 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เงินบาทยังคงแข็งค่าต่อไปในระยะยาว ส่วนสงครามการค้ายังไม่ถูกแก้ไข สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น มองว่าเป็นการตั้งรับมากกว่า และหากใช้นโยบายการคลังมากต่อไป ไทยอาจจะไม่ได้รับการปรับขึ้นอันดับเครดิตจากมูดี้ส์ ” นายกอบสิทธิ์ระบุ

ด้านนายสรรค์ อรรถรังสรรค์ ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลออกมาหลายครั้ง ได้ผลไม่มากเหมือนในอดีต เมื่อ 20 ปีก่อน เงินเคยหมุน 14 เท่า ตอนนี้หมุนไม่ถึง 6 เท่า ปัจจัยสำคัญเกิดจากโครงสร้างประชากร มีผู้สูงอายุมากขึ้น ขณะที่มีผู้ในวัยแรงงานน้อยลง ส่งผลให้เงินสะพัดลดลง

ส่วนเศรษฐกิจในปี 2563 มีความเสี่ยงอยู่ เช่น การเจรจาการค้ายังไม่ยุติ หากจบเฟสที่ 1 ยังมีอีกหลายระยะ รวมถึงเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลงจาก 2.3% เหลือ 1.8% ทำให้เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วชะลอลงด้วย ส่วนเอเชีย ประเทศที่พึ่งพากำลังซื้อในประเทศ เช่น อินเดีย ฟิลิปินส์ยังเติบโตได้ ขณะที่ไทยและสิงคโปร์ พึ่งพาการส่งออก มีโอกาสโตเร่งตัวขึ้นจากฐานที่ต่ำในปี 2562 รวมถึงการใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำในหลายประเทศ ทำให้นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนในเอเชียและไทยต่อไป

” เงินจะไหลเข้ามาในเอเชีย ซึ่งประเทศไทยน่าสนใจ เพราะยากที่จะเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลง โครงสร้างทำให้เกินดุลการค้าและดุลบริการต่อไป รวมถึงอัตราผลตอบแทนจากตราสารหนี้สูง “นายสรรค์กล่าว

นางสาวพีรพรรณ สุวรรณรัตน์ ผู้ชำนาญงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุนอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า มาตรการที่ธปท.ออกมาเพื่อบรรเทาการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อต้นเดือนพ.ย.ก็ใช้ไม่ได้ผล เพราะผู้ส่งออกมีต้นทุนทางการเงิน จึงไม่สามารถพักเงินดอลลาร์ไม่นำเข้าอย่างที่ผ่อนคลายให้ ส่วนการอนุมัติให้นำเงินออกไปลงทุนยังต่างประเทศมากขึ้น แต่นักลงทุนยังไม่มีความรู้ ไม่มีศักยภาพที่จะออกไปลงทุน และหากไปแล้วได้เงินกลับมาแปลงเป็นเงินบาท อาจจะขาดทุนจากการแข็งค่า อย่างไรก็ตาม มาตรการที่ธปท.ออกมาจะทำให้โครงสร้างดีในระยะยาว

“ในปี 2563 เศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงสูง แนวโน้มเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวน้อยเหมือนในปีนี้ เอเชียโตมากกว่า ค่าเงินบาทแข็งต่อไป คาดสิ้นปีมีโอกาสเห็น 29.25 บาทต่อดอลลาร์ “นางสาวพีรพรรณกล่าว

ทีมนักวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันของ กลุ่ม บริษัทปตท. (PTT) ร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) คาดราคาน้ำมันดิบดูไบปี 2563 อยู่ที่ 55 – 65 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลความต้องการใช้น้ำมันดิบโลกเพิ่มขึ้น 1.0 – 1.3 ล้านบาร์เรล/วัน ปริมาณการผลิตของโลกน่าจะเพิ่มขึ้น 1.7 ล้านบาร์เรล/วัน ต้องจับตาการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และพันธมิตร ที่จะมีการประชุมในวันที่ 5-6 ธ.ค.นี้ จะตัดสินใจขยายเวลาการปรับลดกำลังผลิตน้ำมันที่ระดับ 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน ออกไปหรือไม่ จากที่จะสิ้นสุดในเดือนมี.ค.2563 รวมถึงจับตาการเลือกตั้งของสหรัฐ และสงครามการค้าด้วย

นักวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส และ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ปรับลดประมาณกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียน (บจ.)ในปี 2562 และ 2563 โดยนายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เอเซีย พลัส ปรับลดเป้ากำไรบจ.ปีนี้จาก 9.99 แสนล้านบาทเหลือ 9.63 แสนล้านบาท จากการลดลง ของ 50 บริษัท ประมาณ 4.88 หมื่นล้านบาท และปรับเพิ่ม 14 บริษัท ประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท ส่วนเป้าหมายกำไรทั้งปี 2563 ลดจาก 1.05 ล้านล้านบาท เป็น 1 ล้านล้านบาท มองกำไรต่อหุ้น (EPS) จะอยู่ที่ 92.11 บาท จากเดิม 100.6 บาทและปี2563 อยู่ที่ 95.71 บาท จากเดิม 105.5 บาท ส่งให้เป้าหมายดัชนีตลาดหลักทรัพย์ลดลงจาก 1,655 จุดมาอยู่ที่ 1,612 จุด ส่วนปี2563 คาดการณ์ไว้ที่ 1,700 จุด

นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ผลงานบจ. 9 เดือนแรกปีนี้ มียอดขายรวม 8,623,725 ล้านบาท ลดลง 1.3% โดยมีกำไรจากการดำเนินงานหลัก 660,734 ล้านบาท ลดลง 24.6% และมีกำไรสุทธิ 645,647 ล้านบาท ลดลง 15.4%  ขณะที่ไตรมาส 3 มียอดขายรวม 2,850,489 ล้านบาท ลดลง 6.1% กำไรจากการดำเนินงานหลัก 203,654 ล้านบาท ลดลง 28.9% และมีกำไรสุทธิ 201,347 ล้านบาท ลดลง 18.3% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน

“กำไรที่ลดลงมาจากอัตรากำไรจากการดำเนินงานลดลงมาอยู่ที่ 7.7% จากระดับ 10.0% ขณะที่อัตรากำไรสุทธิจาก 8.2% มาอยู่ที่ 7.0% ” นายแมนพงศ์ กล่าว