คอลัมน์ความจริงความคิด : ผ่อนหนี้ไม่ไหว ระวังถูกยึดทรัพย์

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP

อ่านบทวิเคราะห์แบงค์ชาติเกี่ยวกับหนี้ครัวเรือน พบข้อมูลที่น่าสนใจ คือ หนี้ครัวเรือนของไทยยังอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 77.8 ต่อ GDP หรือร้อยละ 114.6 ต่อรายได้ประชาชาติ (ณ ไตรมาส 3 ปี 2561) โดยถือเป็นอันดับต้น ๆ ของภูมิภาค แม้อัตราการขยายตัวของหนี้ครัวเรือนของไทยจะค่อนข้างทรงตัว และเมื่อพิจารณาประกอบกับข้อสรุปจากงานวิจัยของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งได้ศึกษาข้อมูลจากบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติพบว่า “คนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น เป็นหนี้นานขึ้น และเป็นหนี้มากขึ้น” กล่าวคือ

(1) คนไทยเริ่มเป็นหนี้เร็วขึ้น และเป็นหนี้เสียตั้งแต่อายุยังน้อย โดยครึ่งหนึ่งของคนอายุประมาณ 30 ปี มีหนี้จากสินเชื่ออุปโภคบริโภคและ/หรือหนี้บัตรเครดิต ขณะที่หนึ่งในห้าของคนที่เป็นหนี้เสียกระจุกอยู่ในกลุ่มลูกหนี้ที่ช่วงอายุ 29 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มคนวัยทำงานและอยู่ในช่วงสร้างรากฐานครอบครัว

(2) คนไทยเป็นหนี้นาน โดยปริมาณหนี้ต่อหัวเร่งขึ้นสำหรับคนในช่วงอายุประมาณปลาย 20 เข้า 30 ปี และยังคงอยู่ในระดับสูงตลอดอายุการทำงาน ที่สำคัญระดับหนี้ไม่ได้ลดลงแม้จะเข้าสู่วัยใกล้เกษียณ สะท้อนถึงปัญหาความมั่นคงในชีวิต

(3) คนไทยมีหนี้มูลค่ามากขึ้น โดยค่ากลางหรือ median ของหนี้ต่อหัวเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว จากประมาณ 70,000 บาท ณ สิ้นปี 2553 มาอยู่ที่ประมาณ 150,000 บาท ณ สิ้นปี 2559

นอกจากนี้ กว่าร้อยละ 16 หรือประมาณ 3 ล้านคนมีสถานะค้างชำระเกินกว่า 90 วัน ซึ่งเป็นกลุ่มลูกหนี้ที่ต้องถูกเจ้าหนี้ติดตามทวงถามหรืออยู่ระหว่างกระบวนการทางกฎหมาย

เมื่อไม่สามารถชำระหนี้ได้ ก็ต้องถูกฟ้องร้อง ถ้าเจ้าหนี้ดำเนินการฟ้องร้องจนชนะคดีแพ่ง แล้วหลังจากนั้นถ้าลูกหนี้ไม่ไปชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ตามระยะเวลาที่ศาลกำหนด เวลานั้นศาลจึงจะออกหมายบังคับคดีให้มีการยึดทรัพย์ หรืออายัดทรัพย์ของลูกหนี้ได้

คำว่า “ยึด” มีความหมายกว้างๆ ว่าการกระทำการใดๆ ต่อทรัพย์สินของบุคคลที่ถูกยึดเพื่อให้ทรัพย์สินนั้นได้เข้ามาอยู่ในความควบคุม ดูแล หรือครอบครองของผู้ดำเนินการยึดทรัพย์สินนั้น ส่วนคำว่า “อายัด” มีความหมายกว้างๆ ว่า การสั่งให้บุคคลที่ถูกอายัดทรัพย์สิน หรือบุคคลภายนอกมิให้จำหน่าย จ่าย โอน หรือกระทำนิติกรรมใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือสิทธิเรียกร้องที่ได้สั่งอายัดไว้ ตัวอย่างของทรัพย์สินของลูกหนี้ที่โดนยึด หรืออายัดได้ตามกฎหมาย

ทรัพย์สินที่เจ้าหนี้สามารถยึดได้ ก็คือ ทรัพย์สินที่เราเป็นเจ้าของ เช่น

ของมีค่า เครื่องประดับทั้งหลาย

บ้าน ที่ดิน และถึงแม้ว่าจะยังติดจำนองอยู่ก็สามารถที่จะยึดได้เช่นกัน เพราะบ้านหรือคอนโดที่ติดจำนองอยู่ จะมีชื่อเราเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ดังนั้น จึงโดนเจ้าหนี้ยึดได้ ซึ่งเมื่อยึดมาแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีก็จะยื่นคำขอต่อศาลให้มีการขายทอดตลาดได้เลย แต่เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดจะต้องนำไปชำระให้เจ้าหนี้จำนองซึ่งเป็นผู้รับจำนองบ้าน หรือคอนโดนั้นก่อน (ในฐานะเจ้าหนี้มีประกัน) และถ้ามีเงินเหลือหลังจากที่เจ้าหนี้จำนองรายนั้นได้รับชำระหนี้ครบหมดแล้ว เจ้าหนี้รายอื่น (ซึ่งก็คือเจ้าหนี้ไม่มีประกัน เช่น เจ้าหนี้บัตรเครดิต หรือเจ้าหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลไม่มีประกัน) ถึงจะมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากเงินที่เหลือนั้น

รถยนต์ที่ลูกหนี้เป็นเจ้าของ และไม่ได้เป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพ ส่วนรถที่ติดไฟแนนซ์ยึดไม่ได้ เพราะลูกหนี้เป็นแค่ผู้ครอบครอง หากเราเป็นลูกหนี้ที่ครอบครอง และขับรถ หรือมอเตอร์ไซด์ที่ติดไฟแนนซ์อยู่ รถยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทไฟแนนซ์อยู่

เงินในบัญชีเงินฝาก ทรัพย์สินที่เป็นการลงทุน หรือเงินปันผลจากการลงทุน รวมถึงกรมธรรม์ประกันชีวิต

เงินเดือนจากการทำงานของลูกหนี้ที่เป็นพนักงานบริษัทเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจ แต่ต้องมีรายได้เกินกว่า 20,000 บาทต่อเดือน ถึงจะยึดได้ แต่ก็ไม่ใช่ทรัพย์สินของลูกหนี้ทุกอย่างจะยึดได้ กฎหมายก็ยังเมตตาให้ลูกหนี้สามารถดำรงชีพต่อไปได้ โดยกำหนดทรัพย์สินที่ไม่สามารถยึดได้

ของใช้ส่วนตัว เช่น เสื้อผ้า โต๊ะ เก้าอี้ ที่มีมูลค่ารวมกันไม่เกิน 50,000 บาท (หากเกินสามารถถูกยึดได้)

เครื่องมือในการประกอบอาชีพของลูกหนี้ ที่มีมูลค่ารวมกันไม่เกิน 100,000 บาท (หากเกินสามารถถูกยึดได้)

ทรัพย์สินที่โอนกันไม่ได้ตามกฎหมาย เช่น รถยนต์หรือจักรยานยนต์ที่ติดไฟแนนซ์

สัตว์ สิ่งของ เครื่องใช้ ที่จำเป็นต้องใช้ทำหน้าที่ช่วยเหลือแทนอวัยวะของลูกหนี้

เงินเดือน ค่าจ้าง บํานาญ บําเหน็จ เบี้ยหวัดของลูกหนี้ที่เป็นข้าราชการ จะไม่สามารถทำการยึดหรืออายัดได้ หรือหากเป็นเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจ แล้วเงินเดือนไม่ถึง 20,000 บาท ก็ยึดหรืออายัดไม่ได้เช่นกัน

เงินเบี้ยเลี้ยงชีพ

รายได้ที่บุคคลอื่นมอบให้เพื่อเลี้ยงชีพ แต่ต้องมีจำนวนไม่เกิน 20,000 บาทต่อเดือน (หากเกินสามารถถูกยึดได้)

บำเหน็จ หรือรายได้อื่น ๆ ในลักษณะเดียวกัน ของพนักงานที่ไม่ใช่หน่วยงานราชการ ที่มีจำนวนไม่เกิน 300,000 บาท (หากเกินสามารถถูกยึดได้)

เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ เงินกองทุนบำเน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

แต่แม้ว่า เจ้าหนี้จะไม่สามารถยึดหรืออายัดทรัพย์เราได้ทั้งหมด แต่เราก็ต้องอยู่อย่างลำบากพอดูเลยทีเดียว ดังนั้น ถ้าไม่จำเป็น อย่าเป็นหนี้ดีที่สุด