คอลัมนิสต์ : เศรษฐกิจโต แต่ทำไมยังรู้สึกว่าจน

สันติ กีระนันทน์

ในช่วงที่เป็นเวลาครบ 4 ปีที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเขามาบริหารประเทศ ก็มีความพยายามในการแก้ปัญหาที่คั่งค้างมากมาย พร้อมทั้งพยายามให้เกิดการปฏิรูป เพื่อนำประเทศชาติไปสู่การเติบโตอย่างมั่นคง ให้ประชาขนมีความมั่งคั่ง และเป็นความยั่งยืนต่อไปในอนาคต และเมื่อเวลาเนิ่นนานไปเรื่อย ๆ เสียงเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งก็หนาหูขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยความหวังของคนทั่วไปที่ต้องการพ้นสภาพที่รู้สึกไม่สบายใจและไม่สบายกระเป๋า เพราะรู้สึกว่าปากท้องของตัวเองยังไม่ได้รับการตอบสนอง รู้สึกว่ายังยากจนและแม้กระทั่งรู้สึกว่ายากจนลงกว่าเดิมด้วยซ้ำไป ทั้งที่รัฐบาลก็พยายามแสดงตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นขององค์ประกอบทางเศรษฐกิจหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการส่งออก การลงทุนภาคเอกชน ตลอดจนการท่องเที่ยวที่ในปัจจุบันนี้ มีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาประเทศไทยมากมายอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แล้วทำไมประชาชนทั่วไปยังรู้สึกว่าตนเองยังยากจนอยู่

ผมนำเรื่องนี้มาชวนคุย เพราะว่า InfoGraphic ที่แสดงให้เห็นประกอบนี้ จะเห็นได้ว่า ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2561 นี้ GDP เติบโตถึง 4.8% และสภาพัฒน์ (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ก็ได้ปรับประมาณการ GDP growth ในปีนี้ ขึ้นไปมากกว่า 4% เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่คำถามที่ถูกถามอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งผลของการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน (poll) ก็ยังระบุออกมาอย่างไม่ขาดสายว่า ประชาชนยังไม่พอใจกับการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ เพราะรู้สึกว่า “ข้าวยากหมากแพง” หรือ รายได้ของตัวเองยังไม่ค่อยจะพอกินพอใช้ ซึ่งการแสดงตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ กับความรู้สึกจากการสำรวจจากคนทั่วไปของประเทศ ทำไมถึงได้แสดงภาพที่สวนทางกันอย่างนั้น

ถ้าไม่วิเคราะห์อะไรเลย ก็คงจะเชื่อว่า ตัวเลขที่แสดงจากภาครัฐต้องไม่เป็นความจริง แสดงตัวเลขเพื่อชวนเชื่อเท่านั้น หรือหากเชื่อด้านตรงกันข้าม ก็ต้องโจมตีว่า การสำรวจความคิดเห็นของ poll สำนักต่าง ๆ นั้น ต้องไม่มีความเที่ยงตรง เชื่อถือไม่ได้ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นความเชื่อด้านใด ก็ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจระหว่างกัน และแบ่งแยกความคิดเป็นฝักเป็นฝ่าย ต่างคนก็ต่างว่าร้ายซึ่งกันและกัน และแทนที่จะพยายามหาคำอธิบายเพื่อหาทางออกที่ทำให้เกิดประโยชน์ร่วม ก็เอาเรี่ยวแรงไปในการโฆษณาชวนเชื่อหาพรรคพวกของตัวเองเพิ่มขึ้น ก็สร้างความขัดแย้งกันต่อไปไม่รู้จบ

โครงสร้างประชากรไทย
ไม่ได้ต้องการทำให้เห็นว่า แนวโน้มของประชากรไทยเข้าสู่ภาวะ aging หรือเป็นสังคมผู้สูงอายุ เพราะก็จะนำไปสู่ความไม่สบายใจว่า ประเทศไทยแก่ก่อนรวย ในขณะที่ประเทศอื่นเขารวยก่อนแก่ ก็จะสร้างความขัดแย้งในอารมณ์กันต่อไปอีก แต่เรื่องโครงสร้างประชากรไทยในที่นี้ อยากจะแสดงให้เห็นประชากรในภาคเกษตรกับประชากรนอกภาคเกษตรของประเทศไทย ถึงแม้ว่าจะเป็นข้อมูลที่ไม่ได้ทันสมัยจนถึงปัจจุบันในปี 2561 ก็ตาม แต่ก็คงทำให้เห็นภาพของประเทศไทยได้ตามสมควร

จากกราฟที่แสดงนี้ จะเห็นได้ว่า ประชากรไทยที่อยู่ในภาคเกษตร มีประมาณ 36% – 38% หรืออาจจะคิดง่าย ๆ เป็นตัวเลขกลม ๆ ประมาณ 40% ของประชากรไทยทั้งหมด ซึ่งแน่นอนว่าที่เหลืออีกประมาณ 60% ก็คือประชากรที่อยู่นอกภาคเกษตรกร อันอาจจะแบ่งออกไปตามอาชีพ ทั้งรับจ้าง ประกอบกิจการของตัวเองทั้งที่เป็นอุตสาหกรรม หรือเป็นบริการ และรวมไปถึงคนที่อยู่ในเมืองที่ไม่ได้ทำการเกษตร และประชากรไทยที่เป็นข้าราชการ ทั้งหมด 60% นั้น แยกย่อยไปตามสาขาอาชีพและวิชาชีพได้อีกหลากหลาย ซึ่งหากแยกย่อยออกไปแล้ว ก็จะพบว่า 40% ที่เป็นภาคเกษตรนั้น อาจจะนับได้ว่าเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ และถ้าจำได้ เมื่อคราวก่อนที่ผมชวนคุยถึงเรื่องวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมนั้น ตัวเลขที่แสดงถึง contribution to GDP ที่มาจากภาคเกษตรนั้น มีอยู่ประมาณไม่เกิน 10% ของ GDP

อาจจะตีความได้ว่า คนส่วนใหญ่ของประเทศ (คือเกษตรกร) แต่สามารถสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวม (ซึ่งตีความว่า สร้างรายได้ให้เกิดกับตัวเองด้วย) ได้เพียงไม่ถึง 10% แปลอีกชั้นว่า คนส่วนใหญ่ของประเทศยังยากจนอยู่นั่นเอง แม้ว่าประเทศดูเหมือนจะรวยเพิ่มขึ้น แต่คนส่วนใหญ่ของประเทศกลับจน (แบบสัมพัทธ์) ลงไปเสียอีก
หมายความว่า ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มากอย่างที่ไม่ได้เห็นมานานแล้ว (เพราะฐานของ GDP ประเทศไทยใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ) แต่กระจุกอยู่ในกลุ่มวิสาหกิจขนาดใหญ่และคนส่วนน้อยของประเทศ ในขณะที่คนส่วนใหญ่ของประเทศยังค่อนข้างยากจนอยู่ กล่าวคือ ตัวเลขเศรษฐกิจที่รัฐบาลแสดงถึงการเติบโตอย่างสวยงามนั้น ก็เป็นจริง และผลการสำรวจความคิดเห็นที่คนส่วนใหญ่ยังบอกว่าตัวเองจนนั้น ก็เป็นความจริงอีกเช่นเดียวกัน หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง ก็อาจจะบอกว่า ปัญหาเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันนี้ ไม่ใช่เรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจ (เพียงอย่างเดียว และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่วัดด้วยผลผลิตมวลรวม หรือ GDP นั้น ก็ไม่ได้แปลว่าจะทำให้โตได้ง่าย ๆ เพราะฐานของ GDP หรือขนาดของเศรษฐกิจของประเทศไทย ก็ไม่ได้เล็กมากอย่างเมื่อก่อนแล้ว) แต่เป็นปัญหาเรื่องช่องว่างของรายได้ หรือช่องว่างการกระจายรายได้ที่มีความกว้างค่อนข้างมาก ที่มักจะมีคนกล่าวว่า “รวยกระจุก จนกระจาย”

การรับรู้ของผู้คน
ถ้าเราลองถามตัวเองดูว่า เวลาเรารับรู้เรื่องราวที่สร้างความเจ็บปวดให้เรา กับเวลาที่เรารับรู้เรื่องราวที่สร้างความสุขให้เรานั้น ความรู้สึกอะไรที่กระทบจิตใจรุนแรงกว่า และคงอยู่นานกว่า ผมเชื่อว่า ความรู้สึกด้านลบหรือเรื่องที่สร้างความเจ็บปวดให้เกิดขึ้นนั้น จะกระทบจิตใจรุนแรงกว่าและอยู่นานกว่า เรื่องนี้ ผลงานวิจัยเชิงประจักษ์ทางการเงินที่จำลองแบบการศึกษาด้วยเทคนิคเศรษฐมิติ ก็ได้แสดงให้เห็นไว้มากมายพอสมควรว่า คนปรกติทั่วไปนั้น รับรู้ negative impact รุนแรงกว่า positive impact

ผมหยิบเรื่องการรับรู้ของผู้คนมาเป็นอีกเหตุผลเพื่อพยายามอธิบายว่า ทำไมเมื่อเรารู้สึกว่าเรายังยากจน เราจึงรู้สึกได้มากกว่าเรารู้สึกว่าร่ำรวย คนที่ค่อนข้างอยู่ดีกินดีนั้น ก็ไม่ค่อยจะใส่ใจกับสภาพความเป็นอยู่ของตัวเองมากนัก เพราะไม่ได้มีความกังวลใจใด ๆ ว่าพรุ่งนี้จะมีกินหรือไม่ (กลับกังวลใจว่า พรุ่งนี้จะไปหาอะไรอร่อย ๆ กินดี) แตกต่างจากคนยากจนที่เกิดความกังวลใจแทบจะทุกขณะจิตว่า มื้อต่อไปจะมีกินหรือไม่ ดังนั้น หากคนส่วนใหญ่ของประเทศยังไม่ได้อยู่ในสภาพอยู่ดีกินดี และเมื่อมีใครสักคนมาจุดไฟโยนใส่ว่า “ข้าวยากหมากแพง” ย่อมจะเห็นคล้อยตาม และยิ่งเพิ่มความทุกข์ลงไปอีก แม้คนธรรมดาทั่วไปที่ไม่ถึงกับอดอยากแต่ก็ไม่ถึงกับมั่งมี เมื่อมีใครโยนไฟใส่เช่นนั้น ย่อมไม่ยากที่จะหวั่นไหวไปกับกระแส ดังนั้น การที่ได้ยินเสียงบ่นกันอยู่ทั่วไปว่า ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ถูกแก้ไข จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยากนัก เพราะต่อให้ตัวเลขทางเศรษฐกิจดีขึ้นเท่าไรก็ตาม หากยังมีปัญหาเรื่องการกระจายรายได้ (ดังที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านั้น) ผลกระทบที่เกิดกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ ประกอบกับเสียงบ่นใส่หูกันและกันที่ดังกระหึ่มไปทั่ว ยิ่งเพิ่มความรุนแรงของความรู้สึกว่า “เศรษฐกิจไม่ดี”

แก้ปัญหาอย่างไรดี
ผมคิดว่า ทางออกของเรื่องนี้ ก็คือ ต้องเพิ่มความสามารถในการหารายได้ให้กับประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ การที่รัฐบาลพยายามสนับสนุนให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สามารถเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันได้ และไม่ใช่เพียงแข่งขันในประเทศ แต่ยังสามารถแข่งขันออกไปในภูมิภาคได้ น่าจะเป็นทางออกทางหนึ่งในหลายมาตรการที่จะช่วยยกระดับให้คนส่วนใหญ่ของประเทศได้หลุดพ้นจากความยากจน คนที่อยู่ในภาคเกษตรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ก็ไม่ควรจะเป็นเกษตรกรขั้นพื้นฐานอีกต่อไป แต่ต้องได้รับการส่งเสริมและพัฒนาให้กลายเป็นนักธุรกิจการเกษตร เป็นผู้ประกอบการโดยเริ่มต้นตั้งแต่เป็นผู้ประกอบการรายย่อย และถ้าสามารถพัฒนาให้เป็นผู้ประกอบกลางขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่ต่อไป ก็จะกลายเป็นหัวขบวนที่ช่วยทำให้ห่วงโซ่คุณค่า (value chain) และห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ได้มีความแข็งแกร่ง ฉุดดึงให้คนที่อยู่ในห่วงโซ่เดียวกันให้เกิดความแข็งแรงขึ้นต่อไป

การวิพากษ์วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ และช่วยคิดหาทางแก้ไข ประกอบการช่วยกันลงมือเพื่ออนาคตที่ดีขึ้นของทุกคนในสังคมและประเทศชาติ จึงจะเป็นความคิดและการกระทำที่สร้างสรรค์ ดีกว่าการวิพากษ์วิจารณ์ที่ไม่ช่วยคิดหาทางแก้ไข ได้แต่บ่นว่ากันไปวัน ๆ ครับ