CPF – จ.ขอนแก่น อบรมผู้เลี้ยงหมูรายย่อย รับมือโรค ASF

CPF จับมือกรมปศุสัตว์ ส่งเสริมความรู้เรื่องโรค ASF ในสุกร ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงรายย่อยในจังหวัดขอนแก่น ก่อนปูพรมอบรมทั่วประเทศ ป้องกันโรค ASF ในหมู  เตรียมพร้อมซ้อมแผนรับมือเข้มแข็ง

วันที่ 2 ส.ค. 2562 นายสมศักดิ์ จังตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรม ” “เข้าใจ รู้ทัน ร่วมป้องกันโรค ASF ในสุกร” แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อย ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นกว่า 260 คน เป็นจังหวัดที่ 10 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ภาครัฐและเอกชน ร่วมมือกันสร้างภูมิคุ้มกันโรคระบาดให้กับผู้เลี้ยงหมูรายย่อย

 

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า จังหวัดขอนแก่น ให้ความสำคัญและร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องป้องกันโรคระบาด ASF ในสุกร ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ อย่างเต็มที่ เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูในจังหวัดขอนแก่น รวมไปถึงป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมต่ออุตสาหกรรมปศุสัตว์ในระดับจังหวัดและระดับประเทศ เพราะเกษตรกรรายย่อย เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่สุด

น.สพ.ชาญประเสริฐ พลซา ปศุสัตว์จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า กรมปศุสัตว์ได้สั่งการให้ทุกพื้นที่เข้มงวดการเฝ้าระวังป้องกันโรค และเตรียมพร้อมรับมือโรค ASF ในสุกร ปศุสัตว์ พร้อมกับร่วมมือ CPF  จัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับโรค กับผู้เลี้ยงหมูรายย่อย สามารถป้องกันและรับมือกับโรค ตลอดจนระบบการป้องกันโรคของฟาร์ม จากบริษัท เบอริงเกอร์ อินเกลไฮม์ แอนิมอล เฮลท์ (ประเทศไทย)

สำหรับโรค ASF ในสุกร ไม่ติดต่อสู่คน ขณะนี้ยังไม่พบการระบาดของโรคในประเทศไทย  หากพบสุกรแสดงอาการป่วยคล้ายโรคระบาด ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที หรือ Call Center ศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (War Room) จังหวัดขอนแก่น กรมปศุสัตว์ DLD 4.0

น.สพ. จตุรงค์ โยธารักษ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส CPF กล่าวว่า บริษัท ฯ ได้ร่วมกับกรมปศุสัตว์ สำรวจพื้นที่จังหวัดขอนแก่น พบว่า เกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย เลี้ยงหมูเป็นอาชีพเสริม ควบคู่กับทำการเกษตร และมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการป้องกันโรคดังกล่าวไม่มากพอ หรือเกษตรกรรายย่อย ที่มีความรู้เรื่องการป้องกันโรค แต่ก็ไม่มีแหล่งซื้อหายาฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่ CPF  ได้แจกน้ำยาฆ่าเชื้อ พร้อมให้ความรู้เรื่องการป้องกันโรค แก่เกษตรกรรายย่อยในแต่ละพื้นที่

น.สพ.ดำเนิน จตุรวิธวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านธุรกิจสุกร CPF กล่าวว่า หมูของ CPF  อยู่ในฟาร์มระบบปิด และมีระบบป้องกันโรคอย่างเข้มงวด ไม่พบการระบาดของ ASF แต่บริษัท ฯ ได้ยกระดับการป้องกันฟาร์มของบริษัทให้เข้มข้นยิ่งขึ้น โดยอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรคอนแทรคฟาร์มมิ่งของบริษัททั้ง 100% และเพิ่มการซ้อมแผนฉุกเฉินในฟาร์มที่มีฟาร์มอื่นๆอยู่ในรัศมีใกล้เคียง เพื่อเตรียมความพร้อมหากพบการระบาด

ทั้งนี้ CPF  แบ่งฟาร์มมาตรฐานของบริษัทและเกษตรกรออกเป็น 3 กลุ่มได้แก่  1.) กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำ หรือ ฟาร์มที่ไม่มีฟาร์มอื่นอยู่ใกล้เคียงในรัศมี 5 กม. 2.) กลุ่มที่มีความเสี่ยงปานกลาง หรือฟาร์มที่มีฟาร์มอื่นอยู่ใกล้เคียงในรัศมี 1-5 กม. 3.) กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ฟาร์มของบริษัทที่มีฟาร์มอื่นอยู่ใกล้เคียงในรัศมีน้อยกว่า 1 กม.

การซักซ้อมแผนฉุกเฉินในกลุ่มฟาร์มที่มีความเสี่ยงสูง โดยจำลองสถานการณ์การเกิดโรคภายในฟาร์ม ฝึกซ้อมขั้นตอนการจัดการโรค ASF อย่างละเอียดทุกขั้นตอน เช่น การสวมชุดของเจ้าหน้าที่ที่รัดกุม การเคลื่อนย้ายสุกรที่เป็นโรค โดยป้องกันสารคัดหลั่งจากตัวสุกรไม่ให้ตกตามรายทาง ภายในฟาร์ม การจัดการเส้นทางขนย้ายสัตว์ไปยังบ่อฝัง การเผาทำลายเสื้อผ้าของเจ้าหน้าที่หลังเสร็จสิ้นภารกิจ รวมถึงการจัดเตรียมที่พักสำรองสำหรับเจ้าหน้าที่ฉุกเฉิน ทั้งนี้เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายได้เห็นภาพจริงในการปฏิบัติ อันจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการรับมือ ASF ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ