ส่องครึ่งปีกองทุน ‘อสังหาฯ’ แชมป์- ชิงขายทำกำไรกอง ‘หุ้นบิ๊กแคป’ พุ่ง

HoonSmart.com>> “มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช” เผยครึ่งแรกปี 62 กองทุนรวมแจกกำไรถ้วนหน้า กลุ่ม “อสังหาฯ ผลตอบแทนสูงสุด กองทุนในประเทศ แชมป์ 20% รองลงมาอสังหาฯ นอก 14.74% เงินไหลเข้าลงทุน 2 กลุ่มกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท ด้านกองทุนหุ้นบิ๊กแคปไทยเงินไหลออกกว่า 2.8 หมื่นล้านบาท ฉวยจังหวะ SET INDEX พุ่งแรงชิงขายทำกำไร ภาพรวมทั้งอุตสาหกรรมเงินเข้ากองทุนรวม 9 หมื่นล้านบาท หนุน AUM โต 6.2% แตะ 5.3 ล้านล้านบาท

น.ส.ชญานี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ภาพรวมผลตอบแทนเฉลี่ยกองทุนรวมไทยในรอบ 6 เดือนปี 2562 ทุกกลุ่มกองทุนให้ผลตอบแทนเฉลี่ยเป็นบวก โดยกลุ่มสินทรัพย์เสี่ยงให้ผลตอบแทนค่อนข้างโดดเด่น นำโดยกลุ่ม Property Indirect ที่ลงทุนในกลุ่มเกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ อยู่ที่ 20.9% รองลงมากลุ่มหุ้นเทคโนโลยี Global Technology 19.3%

ด้านกองทุนหุ้นจีนช่วงไตรมาส 2/62 เริ่มปรับตัวลงเล็กน้อยผลตอบแทนเฉลี่ย -2.5% แต่ยังให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสะสมปีนี้ 15.4% นอกจากนี้ยังมีกองทุนหุ้นในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น อินเดียหรือประเทศแถบเอเชียแปซิฟิคที่มีผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบเล็กน้อยตามสภาวะตลาดในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา


อย่างไรก็ตามหากดูในช่วง 1 ปี จะพบว่า 3 อันดับแรกเป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐานทั้งสิ้น นำโดยกลุ่ม Property Indirect ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงสุด 27.3%, Property – Indirect Global กลุ่มที่ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศ 11.3% Global Infrastructure 7.8% และสำหรับกลุ่มกองทุนกลุ่มใหญ่ของตลาดกองทุนรวมไทยก็ยังถือว่าให้ผลตอบแทนค่อนข้างดี เช่น กองทุนหุ้นใหญ่ (Equity Large-Cap) กองทุนผสม (Aggressive Allocation) 5.1%, กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น (Short Term Bond) 1.6%, และกองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market) 1.2%

“การลงทุนในไตรมาส 2 เข้าสู่ความผันผวนอีกครั้งหลังจากจากฟื้นตัวในไตรมาสแรก โดยตลาดกังวลเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวหรือขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ทำให้มีความคาดหวังว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะลดดอกเบี้ยในปีนี้ เพื่อรักษาการเติบโตของเศรษฐกิจ ขณะที่ผลกระทบจากสงครามการค้า เริ่มส่งผลให้การส่งออกของไทยไม่ขยายตัวตามที่คาด และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยังคงดอกเบี้ยไว้ที่ 1.75% ด้านตลาดหุ้นไทยมีความผันผวนในช่วงเดือนเม.ย.และพ.ค.ก่อนที่จะปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องในเดือนมิ.ย. โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ รวมผลตอบแทนเงินปันผล (SET TR) เพิ่มขึ้น 12.8% จากสิ้นปีที่ผ่านมา”น.ส.ชญานี กล่าว

สำหรับกองทุนหุ้นไทย (ไม่รวม LTF, RMF) แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กองทุนหุ้นใหญ่ (Equity Large-Cap) กองทุนหุ้นขนาดกลางและเล็ก (Equity Small/Mid-Cap) และ TH Sector Focus Equity (ซึ่งเป็นกลุ่มใหม่ที่จะรวมกองทุนที่เน้นลงทุนในอุตสาหกรรมใด ๆ เป็นหลักเช่น การเงิน/ธนาคาร พลังงาน เป็นต้น) ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 3 แสนล้านบาท เติบโต 3.8% จากสิ้นปี 2561 มาจากผลการดำเนินงานกองทุนเป็นหลัก ซึ่งเป็นไปตามตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งปีแรกที่ปรับตัวขึ้น

“จากผลตอบแทนเฉลี่ยในช่วงครึ่งปีแรกของกองทุน Equity Large-Cap และ Equity Small/Mid-Cap อยู่ที่ 10.4% และ 11.8% ตามลำดับ จึงทำให้มีแรงขายหน่วยลงทุนออกมาโดยเฉพาะในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา มีเงินไหลออกสุทธิจากกองทุนหุ้นใหญ่ 1.6 หมื่นล้านบาท ทำให้ครึ่งปีแรกมีเงินไหลออก 2.87 หมื่นล้านบาท ถือเป็นครั้งแรกของไตรมาสที่เงินไหลออกจากกองทุนหุ้นไทยค่อนข้างมาก”น.ส.ชญานี กล่าว

น.ส.ชญานี กล่าวว่า สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมในครึ่งปีแรกกองทุนรวมมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 5.3 ล้านล้านบาท เติบโต 6.2% จากสิ้นปี 2561 โดยมีเงินไหลเข้ากว่า 9 หมื่นล้านบาท ซึ่งไหลเข้ากลุ่มตราสารหนี้ 1.2 แสนล้านบาท โดยกลุ่มกองทุนเทอมฟันด์ต่างประเทศ หรือ Foreign Investment Bond Fix Term มีเงินไหลเข้าสูงสุด 1.63 แสนล้านบาท เนื่องจากมีการเปิดกองทุนใหม่ในกลุ่มนี้ค่อนข้างมาก ซึ่งในช่วงเดือนเม.ย.-มิ.ย.ออกใหม่กว่า 100 กองทุน

รองลงมากองทุนรวมผสม (Aggressive Allocation) 2.79 หมื่นล้านบาท อันดับสามกลุ่มกองทุนตราสารหนี้ระยะกลางและสั้น (Mid/long term bond) 1.45 หมื่นล้านบาท หลังจากมีเงินไหลออกสุทธิอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 ของปีที่แล้ว ทั้งนี้เกิดจากเงินที่ไหลเข้ามายังกองทุน TMB Aggregate Bond

“เฉพาะไตรมาส 2 เงินไหลเข้ากองทุนรวมกว่า 5.1 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะกองทุนรวมตราสารหนี้ 5.4 หมื่นล้านบาท เป็นเงินไหลเข้าในกลุ่ม Foreign Investment Bond Fix Term ที่ 5.2 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกันมีเงินไหลออกจากกลุ่ม Term Fund อื่นๆ (Bond Fix Term, Global High Yield Bond Fix Term, Roll Over Bond, และ High Yield Bond Fix Term) รวม 1.3 หมื่นล้านบาท ส่วนสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ กองตราสารเงิน มีเงินไหลเข้าประมาณ 7.2 พันล้านบาท”น.ส.ชญานี กล่าว

สำหรับตราสารทุนมีเงินไหลเข้าสุทธิเพียงเล็กน้อย 330 ล้านบาท โดยกลุ่มกองทุนหุ้นส่วนใหญ่มีเงินไหลออกสุทธิ ยกเว้นกลุ่มที่ลงทุนเกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์คือ Property – Indirect Global และ Property Indirect ที่มีเงินไหลเข้าสุทธิรวมกันราว 2.5 หมื่นล้านบาทในไตรมาสที่ผ่านมา รวมมทั้งมีเงินไหลออกจากกองทุนตลาดเงิน, กองทุนผสม, และ Commodities

ด้านเงินไหลออกในครึ่งปีแรกสูงสุดในกลุ่มตราสารหนี้ระยะสั้น (Short Term Bond) ประมาณ 3.7 หมื่นล้านบาท รองลงมากองทุนหุ้นใหญ่ (Equity Large-Cap) กว่า 2.87 ล้านบาท โดยเป็นเงินไหลออกในไตรมาส 2 สูงถึง 2.5 หมื่นล้านบาท และอันดับสามกองทุนรวมผสมลงทุนในต่างประเทศ (Global Allocation) มูลค่า 2.78 หมื่นล้านบาท

อ่านประกอบ

หุ้นมิ.ย.พุ่งนักลงทุนขาย LTF หนัก ครึ่งปีเท 1.4 หมื่นล.-คาดรอซื้อ Q4