ตลท.เตือนศึกษาข้อมูล 16 หุ้น SP ส่วน IFEC ห่วงราคาดิ่ง เจอฟอร์ซเซลซ้ำ

HoonSmart.com>>ลุ้นระทึก!! 1 ก.ค. ปล่อยผี 16 หุ้น SP นาน และ 3 หุ้น ก่อนเข้าไอซียู ตลาดหลักทรัพย์ย้ำเตือนผู้ถือหุ้น-นักลงทุนศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจซื้อขาย “ทวิช” ประธาน IFEC คาดหุ้นหยุดมานาน 2 ปี ราคาเปิดผันผวน ไม่สะท้อนพื้นฐาน หวั่นฟอร์ซเซลซ้ำเติม  สร้างความเสียหายหนัก บริษัทยันเร่งแก้ธุรกิจกลับมาปกติ “ธนภัทร ” ผู้ถือหุ้นใหญ่ POLAR กว้านซื้อ 244 ล้านหุ้น ให้ราคา 15 สตางค์ พ่อแจงลูกชายมั่นใจทีมทำงาน ฟื้นฟูบริษัทได้ ส่วน EARTH เปิดมูลค่ายุติธรรม 2 เหมืองถ่านหิน อินโดฯ ก.ล.ต.เตือนนักลงทุนให้ระมัดระวังการใช้ข้อมูล  GSTEL คาด พ.ย.กลับมาซื้อขายปกติ บล.ดีบีเอสฯ ชู PRO-BLISS-BUI มีแรงเก็งกำไร 

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เตือนผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจซื้อขายหุ้น 16 บริษัท ที่ถูก SP มานาน ซึ่งเปิดให้ซื้อขายชั่วคราววันที่ 1-31 ก.ค.นี้ ด้วยบัญชีแคชบาลานซ์ นักลงทุนต้องวางเงินสด 100% ก่อนสั่งซื้อ ราคาวันแรกไม่มีสูงสุดและต่ำสุด (ซิลลิงและฟลอร์ )

นอกจากนี้ ยังเปิดให้ซื้อขายหุ้น บริษัท อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง (IEC), บริษัท แอล.วี.เทคโนโลยี (LVT) และบริษัท ยานภัณฑ์ (YNP) ในวันที่ 1 ก.ค. – 9 ก.ค. ก่อนที่จะยกเลิกสถานะการเป็นบริษัทจดทะเบียนในวันที่ 10 ก.ค.2562

นายทวิช เตชะนาวากุล ประธานกรรมการ บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น (IFEC) เปิดเผยว่า นักลงทุนและผู้ถือหุ้น IFEC ต้องพิจารณาและใช้ความระมัดระวังในการซื้อขายหุ้น  หลังจากติดเครื่องหมาย SP มานานกว่า 2 ปี ซึ่งราคาเปิดอาจผันผวน ไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน

“ผมรู้สึกเห็นใจ ผู้ที่ติดหุ้น IFEC มานานกว่า 2 ปี จำเป็นต้องขาย ซึ่งราคาครั้งสุดท้ายก่อน SP อยู่ที่ 3.10 บาท วันแรกที่เปิดขาย ราคาหุ้นปรับตัวลงหนัก ก็จะมีหุ้นที่ถูกบังคับขาย (ฟอร์ซเซล) ออกมา ทำให้ราคาหุ้นยิ่งปรับตัวลงมากกว่าปกติ ดังนั้น ขอให้นักลงทุนตัดสินใจลงทุนด้วยความรอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายมากกว่านี้” นายทวิช กล่าว

ก่อนหน้านี้ นายทวิช ให้ความมั่นใจว่าจะไม่ขายหุ้นออกมาในช่วงเปิดขายดังกล่าว

ทางด้านบริษัท IFEC ออกแถลงการณ์ แนะนำผู้ถือหุ้นและนักลงทุนให้ศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดรอบคอบก่อนทำการซื้อ-ขาย เนื่องจากหุ้นหยุดพักมานาน อาจจะทำให้ราคาหุ้นผันผวนสูง ส่งผลกระทบหรือก่อให้เกิดความเสียหายได้

ปัจจุบันบริษัทอยู่ในช่วงดำเนินการตามแผนฟื้นฟูคือ 1.เร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีต 2.พัฒนาธุรกิจเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในอนาคต ทำให้หุ้นและธุรกิจกลับมาดำเนินงานปกติ จึงเห็นว่าการกลับมาซื้อ-ขายชั่วคราวในขณะที่สถานะงบการเงินและปัญหาต่างๆ ยังไม่คลี่คลาย อาจทำให้เกิดกระแสการตกใจขาย หรือ แพนิค เซล และราคาที่สะท้อนออกมาจะไม่ใช่ราคาที่เกิดจากมูลค่าจริง ฉะนั้น บริษัทจึงขอแนะนำให้ผู้ถือหุ้นและนักลงทุนศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อป้องกันและรักษาสิทธิประโยชน์ของตนเอง

ขณะที่ผู้ถือหุ้นรายย่อยของ IFEC และบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ (EARTH) มอบอำนาจทนาย ยื่นหนังสือศาลปกครองกลาง ขอคุ้มครองชั่วคราวการเปิดซื้อขายหุ้นที่ถูก SP วันที่ 1-31 ก.ค. 2562 เพราะเห็นว่าเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ไม่เป็นธรรมกับนักลงทุน อาจไม่ได้ข้อมูลทั่วถึง ส่งผลให้เกิดความเสียหายได้ จากราคาหุ้นระยะแรกลดลงอย่างมาก และเกิดการเข้าเทคโอเวอร์ได้

ส่วนบริษัท โพลาริส แคปปิตอล (POLAR) นายธนภัทร ตันติเสเวกุล ผู้ถือหุ้นใหญ่ อันดับ 2  รายงานสำนักงาน  ก.ล.ต. ว่า วันที่ 27 มิ.ย. 2562 ได้ซื้อหุ้น POLAR จำนวน 2.87% ทำให้มีหุ้นทั้งหมด 10.86% โดยซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้น 4 ราย รวม 244 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 0.15 บาท ซึ่งเป็นราคาปิดครั้งสุดท้าย ใช้เงินลงทุนประมาณ 36.6 ล้านบาท

สำหรับนักลงทุนที่ขายหุ้นครั้งนี้ ได้แก่ นายสมเกียรติ เกื้อกูลพิทักษ์ จำนวน 160 ล้านหุ้น, น.ส.ธัญญรัตน์ 32 ล้านหุ้น นางสุวรรณา แซ่ลี้ 27 ล้านหุ้น และนายอุรุชา 25 ล้านหุ้น

นายอนุวิทย์ ตันติเสเวกุล กรรมการ POLAR กล่าวว่า บุตรชายซื้อหุ้นเพิ่ม เนื่องจากมีความมั่นใจทีมทำงาน สามารถฟื้นฟูบริษัทได้ และเร็วๆ นี้บริษัทจะวางทรัพย์ชำระหนี้ต่อศาลล้มละลายกลาง มูลหนี้ 3.6 ล้านบาทเศษ เต็มจำนวน ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย ม. 135 (3) ก่อนการประชุมเจ้าหนี้ 9 ก.ค.นี้

“ตามคำสั่งศาลมีนบุรี มีคำพิพากษาให้ชำระหนี้ บริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง มูลหนี้ 4 แสนบาท และดอกเบี้ยกว่า 2 แสนบาท รวม 6 แสนบาทเศษ ซึ่งเจ้าหนี้มีสิทธิอุทธรณ์” นายอนุวิทย์ กล่าว

นายทิศชวน  นานาวราทร ประธานกรรมการ POLAR กล่าวว่า ในปี  2559 บริษัทมีสินทรัพย์ 5,044 ล้านบาท มากกว่าหนี้สิน 19 เท่า แต่หลังจากนั้นทรัพย์สินหลายรายการถูกขายออกไป  แต่เงินไม่ได้เข้าบริษัท ขณะนี้อยู่ระหว่างการฟ้องร้องเรียกทรัพย์คืนหลายคดี มีเพียงที่ดินจังหวัดพังงาเท่านั้นที่ซื้อมาในราคาที่สูง ปัจจุบันมีเงินสดเพียง 6 แสนบาทเศษเท่านั้น ทำให้งบการเงินปี 2560- 2561 ไม่สามารถจัดทำได้  ต้องให้ผู้สอบบัญชี บิ๊กโฟร์ ตรวจสอบพิเศษ ส่วนหนี้ที่มีเจ้าหนี้ 2 ราย มูลหนี้จริง 263 ล้านบาท มั่นใจว่า บริษัทจะออกจากศาลล้มละลายได้ ส่วนเจ้าหนี้ 10 ราย มูลหนี้ 3,649 ล้านบาท ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ยกคำขอรับชำระแล้วนั้น  ทั้ง 10 คน มีสิทธิ์อุทธรณ์ คดียังไม่ถึงที่สุด

ทางด้านบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ (EARTH) ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมก่อนหุ้นเปิดซื้อขายชั่วคราว 1 ก.ค.2562 ว่าการประเมินมูลค่าเหมือง 2 แห่งที่อินโดนีเซีย ของบริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด (EY) บริษัทฯ ไม่รับรองรายงานฉบับดังกล่าว ด้วยเหตุผลมูลค่าการประเมินมีมูลค่าเท่ากับศุูนย์บาท ซึ่งเป็นการขัดแย้งกันอย่างใหญ่หลวงในตัวรายงานเอง ซึ่งยอมรับว่ามีปริมาณสำรองถ่านหินอยู่ครบถ้วนและกรรมสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย อีกทั้งยังมีข้อจำกัดมากมายในการอ่านตีความและใช้รายงานฉบับดังกล่าวให้แก่ ก.ล.ต.เลย แต่ปรากฎว่า ก.ล.ต.มีข้อมูลรายงานฉบับของ EY ที่บริษัทฯ ไม่รับรองและไม่เคยนำส่ง จึงไม่ทราบว่า ก.ล.ต.มีข้อมูลบริษัทฯ ได้อย่างไร

ส่วนมูลค่าเหมืองที่บริษัทฯ ได้ว่าจ้างให้ 2 ผู้ประเมิน เพื่อเปรียบเทียบราคา ได้มูลค่าประมาณ 25,100 ล้านบาท และประมาณ 29,000 ล้านบาท ยืนยันราคาและเพื่อความโปร่งใสในการประเมินมูลค่าเหมืองได้มีการเปิดเผยและนำส่งให้ ก.ล.ต.ไปอย่างครบถ้วนแล้ว

ขณะที่สำนักงาน ก.ล.ต. เตือนผู้ลงทุนให้ใช้ข้อมูลมูลค่ายุติธรรมเหมืองถ่านหิน 2 แห่งที่อินโดนีเซียตามที่ EARTH เปิดเผยด้วยความระมัดระวัง

นางสาววิไลลักษณ์ สกุลภักดี  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  บริษัท  โปรเฟสชันแนล เวสต์ เทคโนโลยี (1999) หรือ PRO ผู้ให้บริการบำบัดของเสียอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า  หลังจากเข้ามาถือหุ้นใหญ่ และบริหารงาน ร่วม  5 ปี  ได้ปรับปรุงธุรกิจแข็งแรง ผลประกอบการเติบโตต่อเนื่อง ทั้งรายได้และกำไร มีแผนยื่นกลับมาซื้อขายปกติในตลาดหลักทรัพย์ภายในเดือน มี.ค. 2563

บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ออกบทวิเคราะห์ สำรวจ 16 หุ้น SP คาดว่า จะมีการเก็งกำไรในหุ้น 3 บริษัทสูงกว่าบริษัทอื่นๆ ได้แก่ PRO, BLISS และ BUI เนื่องจากจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (SET) มีกำไรและมีส่วนผู้ถือหุ้นมากกว่า 300 ล้านบาทตามเกณฑ์ ผลการดำเนินงานล่าสุดปี 2561 PRO มีกำไรสุทธิ 33 ล้านบาทและมีส่วนผู้ถือหุ้นปี 2562 จำนวน 340 ล้านบาท BLISS มีกำไรสุทธิ 73 ล้านบาท ส่วนผู้ถือหุ้นปี 2562 จำนวน 1,636 ล้านบาท BUI มีกำไรสุทธิ 4 ล้านบาทและส่วนผู้ถือหุ้น 702 ล้านบาท อย่างไรก็ตามยังต้องติดตามคุณสมบัติอื่นๆ ว่าจะผ่านการพิจารณาหรือไม่ในอนาคต

สำหรับ GSTEL บริษัทคาดว่าจะกลับมาซื้อขายปกติได้ประมาณเดือน พ.ย.2562 หลังส่งบการเงินได้ทุกไตรมาส เตรียมแผนปรับโครงสร้างหนี้ใน 1 เดือน ส่วนหุ้นอื่นๆ ยังมีผลการดำเนินงานที่ขาดทุน คาดว่าต้องใช้เวลาพอสมควรในการแก้ไขคุณสมบัติให้เข้าเกณฑ์ จึงจะกลับเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้