ก.ล.ต.-ตลท. จับมือ สมาคมนักวิเคราะห์ เพิ่ม 100 บทวิเคราะห์คุณภาพ

HoonSmart.com>>รวมพลังพัฒนาตลาดทุนไทยระยะยาว สำนักงานก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ฯ สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน ร่วมเปิดโครงการจัดทำบทวิเคราะห์คุณภาพให้ครอบคลุมหลักทรัพย์มากขึ้น ตั้งเป้าผลิต 100 บทวิเคราะห์ ใน 3 ปี คุณสมบัติเบื้องต้น หุ้นนอก SET 100  มาร์เก็ตแคปกว่า 3,000 ล้านบาท ส่วนธีมกำลังหารือ หุ้นในดัชนีหุ้นยั่งยืน ธุรกิจ Well-being มีโอกาสสูง ช่วยเพิ่มสภาพคล่อง ลดความผันผวนราคาหุ้นขนาดกลาง-เล็ก พัฒนานักวิเคราะห์ คาดเริ่มเผยแพร่ในไตรมาส 4 ปีแรกประเดิม 40 บทวิเคราะห์

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต. ให้ความสำคัญกับเรื่องตลาดทุนมีข้อมูลที่เพียงพอสำหรับผู้ลงทุน เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน บทวิเคราะห์หลักทรัพย์ที่จัดทำ โดยผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ถือเป็นข้อมูลสำคัญ ที่สามารถใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเงินระยะยาวได้ อย่างไรก็ดี บทวิเคราะห์ในปัจจุบันมักกระจุกตัวในหลักทรัพย์ขนาดใหญ่

ดังนั้น คณะกรรมการ ก.ล.ต. เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2562 จึงมีมติอนุมัติการสนับสนุนโครงการจัดทำบทวิเคราะห์ ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยฝ่ายละ 50% ของเงินลงทุนรวม 24 ล้านบาท มอบหมายให้สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุนเป็นผู้บริหารจัดการโครงการ เพิ่มบทวิเคราะห์คุณภาพให้ครอบคลุมหลักทรัพย์มากขึ้น โดยมีบริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้จัดทำบทวิเคราะห์ของบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กที่ไม่ได้รับความสนใจมาก่อน

ความร่วมมือในครั้งนี้ นอกจากจะทำให้ตลาดทุนมีข้อมูลที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นแล้ว ยังเป็นการเพิ่มโอกาสให้นักวิเคราะห์หลักทรัพย์หน้าใหม่และส่งเสริมอุตสาหกรรมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ให้พัฒนายิ่งขึ้นไปอีก เพื่อการเติบโตของตลาดทุนที่ยั่งยืน

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการนี้มี 3 เป้าหมาย คือครอบคลุม คุณภาพ และเข้าถึง ในส่วนครอบคลุม ขยายให้มีบทวิเคราะห์ในกลุ่มที่น่าสนใจ แต่ยังไม่ครอบคลุม อาทิหุ้นในดัชนีหุ้นยั่งยืน (SETTHSI) หุ้นในธุรกิจ Well-being อุตสาหกรรมที่น่าสนใจ ส่วนเรื่องคุณภาพ ส่งเสริมบทวิเคราะห์ให้มีคุณภาพได้มาตรฐานของสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน เป็นข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจลงทุน และ เข้าถึง เผยแพร่บทวิเคราะห์ผ่าน media platform ต่าง ๆ ทั้งช่องทางของกลุ่มตลาดหลักทรัพย์และพันธมิตร

นอกจากนี้ตลาดยังมีแผนจัดทำแหล่งรวมศูนย์บทวิเคราะห์และข้อมูลเกี่ยวกับหลักทรัพย์ ให้ทุกคนได้เข้ามาใช้ประโยชน์ ไม่ได้จำกัดเฉพาะนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ รวมถึงการจัดสัมมนา เพื่อให้ผู้ลงทุนได้มีโอกาสรับฟังข้อมูล และเข้าถึงข้อมูลจากบทวิเคราะห์หลักทรัพย์ได้เพิ่มขึ้น ความร่วมมือจากองค์กรพันธมิตรครั้งนี้ สะท้อนความมุ่งมั่นของทุกภาคส่วนที่ร่วมพัฒนาคุณภาพตลาดทุนไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

“โครงการนี้จะช่วยให้การคำนวณราคาได้ดีขึ้น ทราบราคาที่แท้จริง วัดความสำเร็จจากมีการเสนอซื้อและเสนอขายมากขึ้น เพิ่มสภาพคล่อง ช่วยยกระดับบริษัทหลักทรัพย์และการบริการ สร้างแหล่งรายได้ใหม่ ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับลูกค้า”นายภากรกล่าว

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) กล่าวว่า โครงการนี้จะดำเนินการต่อเนื่อง 3 ปี โดยผลิต 100 บทวิเคราะห์ แบ่งเป็น 40 บทวิเคราะห์ในปีแรก และเพิ่มขึ้นในปีที่ 2-3 เป็น 70 และ 100 บทวิเคราะห์ตามลำดับ โดยจะต้องเขียนบทวิเคราะห์รายงานความคืบหน้าในทุกไตรมาส และจะเผยแพร่ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ก.ล.ต. IAA สำนักวิจัย และ บล. ผู้ผลิตบทวิจัยต่อไป คาดว่าเริ่มเผยแพร่ในไตรมาส 4/2562

ส่วนเกณฑ์การเลือกหลักทรัพย์ในการวิเคราะห์ครั้งนี้ สมาคมฯทำหน้าที่ในการคัดเลือกหุ้นที่มีคุณภาพ เพื่อให้ได้มาตรฐานที่ต้องการ หุ้นที่เข้าเกณฑ์จะต้องไม่อยู่ใน SET100 และมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) มากกว่า 3,000 ล้านบาท ไม่มีสำนักวิจัยเขียนวิเคราะห์ทางปัจจัยพื้นฐาน หรือมีเพียงรายเดียว และมีธีมที่น่าสนใจ ส่วนจะเป็นธีมใด ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของบริษัทหลักทรัพย์

“เดิมเคยฝันว่าอยากให้เกิดโครงการนี้ แต่ไม่ตอบโจทย์ทั้งหมด ปัจจุบันมีนักวิเคราะห์ดูแล 250 บทวิเคราะห์พื้นฐาน เท่ากับ 30% ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด อีก 70 %ไม่มีใครดูแล ตลาดหุ้นสิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกาก็มีปัญหาเดียวกัน แต่ตลาดหุ้นไทยต่างกันที่มีรายย่อยมาก ของเค้าสถาบันดูแลกันได้ ทำให้ราคาทำงาน นอกจากนี้อยากเห็นการเพิ่มนักวิเคราะห์ที่มีคุณภาพ ขณะที่บริษัทจดทะเบียนเพิ่มขึ้นทุกปี และมีหลักทรัพย์หลายประเภทเกิดขึ้น “นายไพบูลย์กล่าว

สมาคมนักวิเคราะห์ฯ จะเป็นผู้บริหารจัดการโครงการ และจะคัดเลือกทีมวิจัยจากบล.ที่มีคุณภาพพร้อมเข้ามารับช่วงการผลิตบทวิเคราะห์ และสมาคมจะเป็นผู้ตรวจทานควบคุมคุณภาพก่อนนำส่งเข้าสู่ IAA Consensus เพื่อให้ผู้สนใจเข้าใช้ประโยชน์ต่อไป ทั้งนี้ คุณสมบัติของทีมวิจัยจาก บล. ผู้ร่วมโครงการ ต้องมีทีมงานนักวิเคราะห์ที่มีใบอนุญาต และปฏิบัติหน้าที่ด้านวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานไม่ต่ำกว่า 4 คน เพื่อให้มีความยั่งยืนที่จะดำเนินการรับช่วงผลิต รวมทั้งต้องมีกระบวนการตรวจทานควบคุมคุณภาพภายในทีมวิจัยก่อนส่งออกบทวิเคราะห์