บลจ.ยูโอบี มองศก.โลกเสี่ยงถดถอย-หุ้นสวิงครึ่งปีหลัง 1,580-1,750 จุด

HoonSmart.com>>บลจ.ยูโอบี หวั่นสงครามการค้าลุกลามบานปลาย ฉุดเศรษฐกิจโลกถดถอยในปี 63 แนะเพิ่มลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ “ตราสารหนี้-กองทุนอสังหาริมทรัพย์” ส่วนหุ้นเน้นคุณภาพสูง รบมือความผันผวนหนักขึ้น มองกรอบดัชนีครึ่งปีหลัง 1,580-1,750 จุด

บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) แถลงข่าวภาพรวมธุรกิจของบริษัทและมุมมองการลงทุน โดยมีอรพรรณ ตัณฑประศาสน์ ผู้อำนวยการอาวุโส (1) ฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์และสื่อสารองค์กร สายพัฒนาธุรกิจ , วนา พูลผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและรัชดา ตั้งหะรัฐ กรรมการผู้จัดการ สายพัฒนาธุรกิจ ร่วมให้ข้อมูล

นายวนา พูลผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บลจ.ยูโอบี มองว่าสภาวะการลงทุนทั่วโลกกำลังเผชิญกับภาวะความเสี่ยงจากหลักจากสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งมีท่าทีว่าจะยืดเยื้อและหากขยายวงกว้างมากขึ้น จะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกมีโอกาสเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ภายในปี 63 กรณีดังกล่าวอยู่บนสมมติฐานที่เลวร้ายสุด หากสหรัฐฯ เก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนทั้งหมด 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ในอัตรา 25% และเก็บภาษีรถยนต์นำเข้าจากยุโรปในอัตรา 25% ขณะที่ยุโรปและจีนมีมาตรการตอบโต้กลับมา

พร้อมกับประเมินผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของสหรัฐฯ ปี 62 มีโอกาสกลับไปติดลบ 0.6% และปี 63 ติดลบ 2% ,จีน ปี 62 และปี 63 ติดลบ 1%, กลุ่มยุโรป ปี 62 ติดลบ 0.5% และปี 63 ติดลบ 1.6%,และญี่ปุ่น ปี 62 ติดลบ 0.9% และปี 63 ติดลบ 1.1%

อย่างไรก็ตามธนาคารกลางในประเทศต่างๆ เล็งเห็นถึงความเสี่ยงของการเจรจาการค้า จึงเริ่มดำเนินการผ่อนคลายนโยบายทางการเงิน โดยตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้งในปีนี้ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศไทย หากเฟดลดอกเบี้ยไม่เกิน 2 ครั้งภายในปีนี้คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะคงอัตราดอกเบี้ยเช่นเดิม ส่วนเศรษฐกิจไทยในปีนี้คาดว่าเติบโต 3% กว่า แต่ยังต้องติดตามผลกระทบจากสงครามการค้ายืดเยื้อ

น.ส.อรพรรณ ตัณฑประศาสน์ ผู้อำนวยการอาวุโส (1) ฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์และสื่อสารองค์กร สายพัฒนาธุรกิจ บลจ.ยูโอบี เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดหุ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้คาดดัชนีเคลื่อนไหวแคบๆ อัพไซด์จำกัด มองกรอบดัชนี 1,580-1,750 จุด และปลายปีน่าจะอยู่แถว 1,700 จุดต้นๆ ซึ่งปัจจุบันราคาหุ้นไม่ได้ถูกแล้ว มีโอกาสปรับฐานรอบใหม่ได้ ขณะที่มุมมองนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อตลาดหุ้นไทยอยู่ในระดับปานกลาง กำไรบริษัทจดทะเบียนและเศรษฐกิจไม่ได้เติบโตจนน่าดึงดูด

น.ส.รัชดา ตั้งหะรัฐ กรรมการผู้จัดการ สายพัฒนาธุรกิจ บลจ.ยูโอบี กล่าวว่า ทิศทางการลงทุนบลจ.ยูโอบี ยังคงต้องติดตามความรุนแรงจากภาวะสงครามการค้าอาจเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งต้องติดตามดูว่าจีนจะตอบโต้การขึ้นภาษีและการแบนบริษัทจีนในการทำธุรกิจกับบริษัทของสหรัฐฯอย่างไร ตลาดหุ้นจะผันผวนตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วง ทำให้การให้น้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้ และกองทุนอสังหาริมทรัพย์ เป็นทางเลือกที่น่าสนใจในการลดความเสี่ยงและความผันผวน

ทางด้านการลงทุนในหุ้น แนะนำลงทุนในกองทุนที่มีการกระจายตัวของสินทรัพย์ และเน้นหุ้นคุณภาพสูงเป็นหลัก สำหรับการลงทุนในรายประเทศหรืออุตสาหกรรมเฉพาะตัว จะมีความผันผวนสูงแต่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่โดดเด่นได้ในจังหวะการลงทุนที่ถูกต้อง จึงเหมาะสำหรับการลงทุนแบบยืดหยุ่นที่จัดสรรการลงทุน ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การลงทุนระยะยาว และแสวงหาโอกาสในการลงทุนช่วงสั้นถึงกลาง (Satellite)

นายวนา กล่าวเพิ่มว่า สำหรับผลดำเนินงานบลจ.ยูโอบี ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 62 มูลค่าทรัพย์สินสุทธิเติบโตขึ้นมาอยู่ที่ 2.24 แสนล้านบาท หรือเติบโต 7% สูงกว่าอุตสาหกรรมเติบโตเพียง 5% และคาดว่าสิ้นปีอยู่ที่ 2.6 แสนล้านบาท เติบโต 15% จากสิ้นปีที่ผ่านมา โดยช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาธุรกิจกองทุนรวมเติบโตกว่า 4% จากกการออกกองทุนใหม่ 5 กองทุน มียอดซื้อในช่วง IPO รวมทุกกองทุนกว่า 3,492 ล้านบาท ข้อมูล ณ 30 เม.ย.2562

สำหรับกองทุนรวมเดิมของบลจ. ยูโอบี ที่มีการเติบโตที่โดดเด่นตั้งแต่ต้นปี 2562 ประกอบด้วย 3 กองทุน ได้แก่ กองทุนเปิด โกลบอล ควอลิตี้ โกรท ฟันด์ (UGQG) มี AUM เพิ่มขึ้น 213% หรือจำนวน 465 ล้านบาท กองทุนเปิด ยูไนเต็ด โกลบอล ไดนามิค บอนด์ ฟันด์ (UDB) มี AUM เพิ่มขึ้น 67% หรือหรือจำนวน 1,566 ล้านบาท และกองทุนเปิด ยูไนเต็ด เฟล็กซิเบิ้ล อินคัม ฟันด์ (UFIN) มี AUM เพิ่มขึ้น 48% หรือจำนวน 3,048 ล้านบาท ข้อมูล ณ สิ้นเดือนเม.ย. 2562

นายวนา กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 17-25 มิ.ย.62 บลจ.ยูโอบี เปิดเสนอขายกองทุนเปิด ยูไนเต็ด ไดนามิค บอนด์ คอมเพล็กซ์ รีเทิร์น ฟันด์ 3Y2 (UDBC3Y2) อายุ 3 ปี เป็นกองทุนตราสารหนี้ ที่แบ่งโครงสร้างการลงทุนของกองทุนออกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนที่ 1) เงินต้น กองทุนจะกระจายการลงทุนในตราสารหนี้ทั่วโลก อายุประมาณ 3 ปี โดยมีกลยุทธ์การลงทุนครั้งเดียวเพื่อช่วยลดความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง และส่วนที่ 2 กองทุนจะลงทุนในสัญญาวอร์แรนท์ (Call Warrant) ที่มีการจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับมูลค่าหน่วยลงทุนของกองทุน Jupiter Dynamic Bond L EUR Acc ซึ่งกองทุนถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันความเสี่ยงตลาดขาลง ในขณะที่ยังคงมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีจากการลงทุนในตราสารหนี้

ด้านธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบลจ. ยูโอบี ในช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่ต้นปีนั้น บริษัทได้รับความไว้วางใจให้บริหาร กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สำหรับลูกจ้างประจำของส่วนราชการ ซึ่งจดทะเบียนแล้ว (กสจ.) ประเภทกองทุนผสม และได้บริหารเงินลงทุนเพิ่มในส่วนตราสารทุน สำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ทำให้ธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีการเติบโตโดยประมาณ 21% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2561

ส่วนของธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล บลจ.ยูโอบี ได้รับความเชื่อมั่นให้บริหารกองทุนส่วนบุคคล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเภทกองทุนผสม (ตราสารหนี้ – ตราสารทุน) ซึ่งทางบลจ.ยูโอบี มุ่งมั่นที่จะบริหารจัดการทรัพย์สินของกองทุนให้มีผลการดำเนินงานที่ดีและสม่ำเสมอเพื่อสร้างผลตอบแทนอย่างยั่งยืนให้กับผู้ลงทุน ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของบลจ.ยูโอบีเสมอมา

“บลจ.ยูโอบี ยังให้ความสำคัญกับนวัตกรรมที่จะเสริมสร้างความสะดวกให้กับผู้ลงทุน ในการเร่งพัฒนาบริการออนไลน์เพื่อตอบโจทย์ผู้ลงทุนรุ่นใหม่ในโลกดิจิตอล โดยบริการการรับชำระเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนด้วยระบบ “QR code” จะพัฒนาเสร็จสิ้นสมบูรณ์ภายในไตรมาส 2 นี้ เพื่อรองรับการชำระค่าซื้อหน่วยลงทุนได้จากธนาคารชั้นนำหลายแห่ง บริการรับชำระค่าซื้อหน่วยลงทุนด้วยระบบ QR Code นี้ ถือเป็นอีกหนึ่งการพัฒนานวัตกรรมที่ไม่หยุดนิ่งของบลจ. ยูโอบี เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของผู้ลงทุน”นายวนา กล่าว

นอกจากนี้บลจ.ยูโอบี มีแนวทางการดำเนินธุรกิจที่เน้นการรักษา และดูแลลูกค้าในแต่ละ segment อย่างชัดเจน เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ตรงกับความต้องการและวัตถุประสงค์ในการลงทุนของลูกค้าแต่ละกลุ่มอย่างแท้จริง อีกทั้งมีการสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนกับลูกค้าแต่ละกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นการจัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งในรูปแบบสัมมนาการให้ความรู้ คำแนะนำทางการเงินและกองทุนรวม รวมไปถึงการจัดกิจกรรม ความบันเทิงต่างๆ เพื่อเป็นการสร้างความหลากหลาย ซึ่งที่ผ่านมาทางบลจ. ยูโอบี ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้ามาโดยตลอด

อ่านประกอบ

สงครามการค้า-หุ้นผันผวน บลจ.ยูโอบี คัด 6 กองทุนเด่น