3 เดือนเงินไหลเข้ากองทุน 3.9 หมื่นล. ทำกำไรหุ้นไทย-LTF

HoonSmart.com>>มอร์นิ่งสตาร์ฯ เผยไตรมาส 1/62 กองทุนรวมโต 3.5% แตะ 5.2 ล้านล้านบาท เงินไหลเข้าสุทธิ 3.9 หมื่นล้าน ซบเทอมฟันด์ต่างประเทศทะลุแสนล้านรับยิลด์ดี ฟากกองหุ้นไทยยอดซื้อสุทธิแผ่ว ฉวยจังหวะขายทำกำไร ส่วน LTF ไหลออกกว่า 6 พันล้าน ด้านผลตอบแทนกองทุนบวกทุกกลุ่ม เว้นทองคำติดลบ

บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผยภาพรวมการลงทุนในกองทุนรวมช่วงไตรมาส 1 ปี 2562 เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นจากการฟื้นตัวของตลาดทั่วโลกจากความคืบหน้าการเจรจาการค้าของสหรัฐและจีน รวมถึงท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐผ่อนคลายลงโดยชะลอขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยเพิ่มขึ้น 4.8% จากสิ้นปีที่ผ่านมา ส่งผลให้มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (NAV) กองทุนรวมทั้งระบบเพิ่มขึ้น 3.5% มาอยู่ที่ 5.2 ล้านล้านบาท โดยมีเงินไหลเข้าสุทธิรวม 3.9 หมื่นล้านบาท เป็นเงินไหลเข้าสุทธิในประเภทกองทุนรวมตราสารหนี้ 7.1 หมื่นล้านบาท และไหลออกจากกองทุนรวมตราสารทุน 1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/61 มีเงินไหลเข้าตราสารทุนสูงกว่า 8 หมื่นล้านบาท

ในช่วงไตรมาส 1/62 นักลงทุนให้ความสนใจกองทุนตราสารหนี้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะกองทุนรวมตราสารหนี้แบบกำหนดระยะเวลา (Term fund) ในกลุ่มกองทุนต่างประเทศ (Foreign Investment Bond Fix Term) มีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุด 1.1 แสนล้านบาท มากกว่ากองทุนเปิดตราสารหนี้ทั่วไป เป็นผลจากผลตอบแทนของกองทุนเฉลี่ย 1.9-3.2% สูงกว่ากองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นซึ่งปกติจะให้ผลตอบแทนสูงกว่า จึงทำให้มีเงินไหลออกมากสุดในกลุ่ม Short Term Bond จำนวน 3.7 หมื่นล้านบาท เป็นการไหลออกสุทธิ 11 เดือนติดต่อกัน รวมกว่า 1.9 แสนล้านบาท แสดงให้เห็นว่านักลงทุนยังคงหลีกเลี่ยงการลงทุนตราสารหนี้ระยะสั้นอย่างต่อเนื่อง


ส่วนกลุ่มที่มีเงินไหลออกสุทธิสูงสุดได้แก่กลุ่มกองทุนประเภท Equity Large-Cap ของกองทุนหุ้นไทย ซึ่งรวมกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ไหลออกจำนวน 3.2 พันล้านบาท ซึ่งเกิดจากเงินค่าขายกองทุน LTF เป็นหลัก

สำหรับกองทุนหุ้นไทย ไม่รวมกองทุน LTF, RMF ปัจจุบันมีมูลค่าทรัพย์สินรวมเกือบ 3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.2% จากสิ้นปีที่แล้ว โดยกองทุนหุ้นกลุ่ม Equity Large-Cap มีมูลค่าทรัพย์สินเติบโต 5.8% และมีเงินไหลเข้าสุทธิ 2.5 พันล้านบาท ต่างกับปีที่แล้วที่มีเงินไหลเข้าสูงจากสภาวะตลาดขาขึ้นในไตรมาสแรก ส่วนกองทุนกลุ่ม Equity Small/Mid-Cap สินทรัพย์เติบโต 1.9% แต่มีเงินไหลออกสุทธิ 1.1 พันล้านบาท

ส่วนกองทุน LTF ในไตรมาสแรกมีเงินไหลออกสุทธิ 6.4 พันล้านบาท น้อยกว่าไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้วที่ 1.4 หมื่นล้านบาท ส่วนกองทุน RMF เงินไหลเข้าสุทธิ 1.5 พันล้านบาท ซึ่งหลัก ๆ มาจาก RMF – Equity 925 ล้านบาท และ RMF – Fixed Income 511 ล้านบาท

นอกจากนี้กองทุนออกใหม่ได้รับความสนใจค่อนข้างมาก โดยเฉพาะกลุ่มกองทุนผสม แบบ Aggressive Allocation ออกใหม่ 10 กอง มูลค่าเงินไหลเข้าสุทธิ 1.1 หมื่นล้านบาท จากจำนวนกองทุนออกใหม่ 30 กองทุน รวม 1.9 หมื่นล้านบาท ส่วนกองทุนเปิดใหม่ประเภทตราสารทุนมีเงินไหลเข้าสุทธิรวม 8.3 พันล้านบาท โดยกลุ่มที่มีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุดได้แก่ กลุ่ม Property Indirect – Global ซึ่งมีกองทุนเปิดใหม่เพียง 1 กองคือ TMB EASTSPRING Asia Pacific Property มีเงินไหลเข้าที่ 4.9 พันล้านบาท

ด้านผลตอบแทนกองทุนหุ้นไทยกลุ่ม Equity Large-Cap ให้ผลตอบแทนสูงสุด 9.4% และ ต่ำสุดที่ 0.7% เฉลี่ยอยู่ที่ 4.4% คล้ายกับกลุ่ม Equity Small/Mid-Cap เฉลี่ย 4.8% โดยให้ผลตอบแทนสูงสุด 10.0% และต่ำสุด 0.5% ทั้งนี้ แม้กองทุนหุ้นไทยกลุ่ม Equity Large-Cap จะมีผลตอบแทนเฉลี่ย 3 เดือนที่ 4.4% และผลตอบแทนรวมเงินปันผล (SET TR) 5.8% แต่ยังให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 1 ปี ติดลบที่ -7.4% ขณะที่ SET TR -4.8%

สำหรับผลตอบแทนเฉลี่ยกองทุนรวมไทยในไตรมาส 1/62 ที่ผ่านมาเกือบทุกกลุ่มให้ผลตอบแทนเฉลี่ยเป็นบวกยกเว้นกลุ่มกองทุนทองคำ -0.6% ส่วนกลุ่มที่มีผลตอบแทนเฉลี่ยสูงสุด คือ กลุ่มกองทุนน้ำมัน ผลตอบแทน 24.0% ตรงข้ามกับไตรมาสที่แล้วเฉลี่ยติดลบสูงสุด-37.0% สะท้อนความผันผวนของราคาน้ำมันในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา

กลุ่มกองทุนที่มีอันดับผลตอบแทนเฉลี่ยรองลงมาได้แก่กลุ่ม China Equity 18.3%, Global Technology 16.9%, Europe Equity 12.6%, US Equity 12.3% เป็นไปตามการฟื้นตัวของตลาดหุ้นโดยเฉพาะหุ้นสหรัฐฯ และจีนจากหลายปัจจัยเช่น การเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และจีนเรื่องการใช้ภาษีกับสินค้าของทั้ง 2 ประเทศ หรือการชะลอการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed

หากดูผลตอบแทนเฉลี่ยสะสม 1 ปี กลุ่มกองทุน Property Indirect ให้ผลตอบแทนสูงสุด 17.1% ตามมาด้วยกลุ่มที่ลงทุนในต่างประเทศเช่น Property – Indirect Global 11.2%, Global Infrastructure 9.2%, Global Health Care 9.1%, US Equity 5.7%

ในทางตรงกันข้ามกองทุนกลุ่มที่ลงทุนในหุ้นภูมิภาคเอเชียให้กลับผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบสูงสุด เช่น ASEAN Equity -13.3%, Equity Small/Mid-Cap -10.2%, Asia Pacific ex-Japan equity -9.3%, Emerging Market Equity -9.2%