ฝ่ายวิจัย ASP เตรียมปรับลดคำแนะนำลงทุนหุ้นกลุ่มพลังงานทดแทน เป็น “น้อยกว่าตลาด” ชี้โอกาสเติบโตมีจำกัด และผลตอบแทนการลงทุนในอนาคตลดลง
น.ส.นลินรัตน์ กิตติกำพลรัตน์ ผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส เปิดเผยกรณีที่กระทรวงพลังงานจะเดินหน้ารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในช่วง 5 ปีข้างหน้า (2561-2565) แต่เปลี่ยนนโยบายมารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่ราคาขายต่ำกว่าหรือเท่ากับราคาที่รับซื้อจากสายส่ง คือ อัตรา 3.6 บาทต่อหน่วย ว่า ฝ่ายวิจัย ASP ประเมินว่า การเติบโตของกลุ่มพลังงานทดแทนจะจำกัดมากขึ้น จึงมีแนวโน้มที่จะปรับลดคำแนะนำกลุ่มพลังงานทดแทนเป็น “น้อยกว่าตลาด” จากเดิม “เท่ากับตลาด”
“แม้ภาครัฐยืนยันจะเปิดประมูลรับซื้อไฟฟ้าในช่วง 5 ปีข้างหน้า ที่ราคา 3.66 บาท/หน่วย แต่เชื่อว่าผู้ประกอบการจะสนใจเข้าร่วมประมูลลดลงเมื่อเทียบกับอดีตที่ราคาขายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าโซลาร์อยู่ที่ 5.66 บาท/หน่วย ในขณะที่ภาพรวมกลุ่มพลังงานทดแทน ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว จากกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เพียงพอต่อความต้องการใช้ ปัจจุบันมีกำลังการผลิตจากพลังงานทดแทน 8.6 พันเมกะวัตต์ คิดเป็น 43.9% ของกำลังการผลิตตามแผนพัฒนา”น.ส.นลินรัตน์ระบุ
น.ส.นลินรัตน์ กล่าวว่า ปัจจุบันราคารับซื้อไฟฟ้าพลังงานโซลาร์เซลล์ ในโครงการ SPP Hybrid Firm 300 เมกะวัตต์อยู่ที่ 3.66 บาท/หน่วย และราคารับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานลมเฉลี่ยอยู่ที่ 6 บาท/หน่วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าจากนี้ไปผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ของโครงการที่จะเปิดรับซื้อไฟฟ้าในอนาคตจะลดลง
นอกจากนี้ ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ฉบับปี 2558-2579 ที่กำหนดการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ 1.96 หมื่นเมกะวัตต์ แต่ตอนนี้เหลือกำลังการผลิตอีกราว 1.1 หมื่นเมกะวัตต์ในระยะเวลา 19 ปี คิดเป็นกำลังผลิตที่จะเกิดขึ้นเฉลี่ยเพียงปีละ 580 เมกะวัตต์เท่านั้น
“ขณะนี้กระทรวงงานอยู่ระหว่างทบทวนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2018) คาดแล้วเสร็จเดือน ก.ย.นี้ โดยแผยดังกล่าวจะเน้นไปที่การจัดหาพลังงานให้เพียงพอกับความต้องการใช้ โดยคำนึงถึงเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปและราคาขายไฟฟ้าที่ไม่เป็นภาระของประชาชน”น.ส.นลินรัตน์กล่าว