THAI ขาดทุน 1.1 หมื่นล. รายจ่ายบาน-น้ำมันแพง

HoonSmart.com>>การบินไทยแจงปี 2561 ขาดทุนเพิ่มขึ้นเฉียดพันล้านบาท พุ่งขึ้น 451% ราคาน้ำมันสูงสุดในรอบ 4 ปี กดดันค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 10% รายได้รวมเฉียด 2 แสนล้านบาท เติบโต 3.9% จัดทำแผนฟื้นฟูธุรกิจ เพื่อให้มีกำไรอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ทบทวนแผนการจัดหาเครื่องบินปี 2561-2565

บริษัท การบินไทย (THAI) เปิดเผยผลประกอบการประจำปี 2561 ขาดทุนสุทธิ 11,625 ล้านบาท ขาดทุนมากขึ้น 9,518 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 451% จากปี 2560 ที่มีขาดทุนสุทธิ 2,107 ล้านบาท

บริษัทฯมีกำไรก่อนหักต้นทุนทางการเงิน ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจําหน่ายผลขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์และเครื่องบินและผลขาดทุนจากการเปลี่ยนแปลงส่วนได้เสียในเงินลงทุน
(EBITDA) จำนวน 14,494 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 9,551 ล้านบาท หรือเท่ากับ 39.7% โดยมี EBITDA Margin 7.3% ลดลงจากปีก่อนที่ 12.5% ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น สูงสุดในรอบ 4 ปี การปรับประมาณการมูลค่าคงเหลือของเครื่องบินและเครื่องยนต์อะไหล่จาก 10% เป็น 6% ของมูลค่าต้ทุนเริ่มแรก ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ยังคงสูงอยู่ ทำให้บริษัทขาดทุนจากการดำเนินงาน 9,058 ล้านบาท ขณะที่ปีก่อนมีกำไร 2,856 ล้านบาท

บริษัทมีรายได้รวม 199,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7,554 ล้านบาท หรือ 3.9% แต่มีค่าใช้จ่ายรวม 208,558 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19,468 ล้านบาทหรือ 10.3% เป็นผลจากค่าน้ำมันเครื่องบินเพิ่มขึ้น 9,881 ล้านบาทหรือ 19.7% จากราคาน้ำมันเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 30.1% ขณะที่มีต้นทุนทางการเงินสุทธิลดลง 215 ล้านบาท หรือ 4.7% จากการบริหารเงินสดและการปรับโครงสร้างทางการเงินอย่างต่อเนื่อง

ในปี 2561 อุตสาหกรรมการบินของโลกยังคงมีแนวโน้มขยายตัว ปริมาณความต้องการเดินทางของผู้โดยสารยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่แนวโน้มการขยายตัวเริ่มลดลงเล็กน้อย โดยสมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) แสดงการขยายตัวของปริมาณการขนส่งด้านผู้โดยสารเท่ากับ 6.5% ต่ำกว่าปีก่อนที่ 7.6%สาเหตุหลักเกิดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในครึ่งปีหลังและราคาบัตรโดยสารที่เพิ่มขึ้นจากต้นทุนราคาน้ำมันเครื่องบินที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ความต้องการเดินทางชะลอตัวลง

อย่างไรก็ตามสายการบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีปริมาณการขนส่งผู้โดยสารเติบโตสูงสุดที่ 8.6% ขณะที่เส้นทางภายในประเทศอินเดียมีอัตราการเติบโตของปริมาณการขนส่งผู้โดยสารสูงสุด 4 ปีติดต่อกัน ทั้งนี้ปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสารรวมทั้งระบบเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6.1% และมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ย 81.9% สูงกว่าปีก่อนที่เฉลี่ย 81.4% การขนส่งสิค้ายังคงเติบโตจากปริมาณการค้าโลกที่เพิ่มขึ้น แต่มีแนวโน้มชะะลตัวลง ปริมาณการขนส่งพัสดุภัณฑ์เท่ากับ 3.5% ต่ำกว่าช่วงเวลาเดียวกันของของปีก่อน 9% อัตราส่วนการขนส่งพัสดุภัณฑ์เท่ากับ 49.1%สูงกว่าปีก่อนที่ 45.5%

ภาพรวมของอุตสาหกรรมการบินของไทยยังคงขยายตัวต่อเนื่องตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และแผนการขยายธุรกิจของหลายสารบิน และการเพิ่มจำนวนความถี่ของเที่ยวบินเป็นผลจากการปลดธงแดงของ ICAO ได้สำเร็จเมื่อเดือนต.ค.2560

บริษัทได้จัดทำแผนฟื้นฟูธุรกิจในปี 2561 เพื่อให้มีกำไรอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการให้บริการที่เทียบเคียงมาตรฐานชั้นนำ อ่ทิการพัฒนาประสิทธิภาพในการหารายได้ ได้แก่ การเพิ่มรายได้จากผู้โดยสารผ่านระบบ Revenue Management System (RMS),การขยายเครือข่ายเส้นทางบิน การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่มีความจำเป็นในการใช้งานและขายหุ้นในบริษัท โรงแรมรอยัลออคิด(ประเทศไทย) จำนวน 22.5 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 24% ในราคาหุ้นละ 41 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 922.5 ล้านบาท รับรู้กำไรจำนวน 657 ล้านบาท

บริษัทได้ทบทวนแผนการจัดหาเครื่องบินปี 2561-2565 ตามโครงการจัดหาเครื่องบินปี 2562-2567 เพื่อทดแทนเครื่องบินเก่าที่มีอายุใช้งานมากกว่า 20 ปี การปลดระวางเครื่องบินแบบโบอิ้ง 737-400 จํานวน 2 ลํา และดำเนินการขายเครื่องบินที่ปลดระวางแล้ว 2 ลำ ได้แก่ แอร์บัส A330-300 จำนวน 1 ลำและโบอิ้ง B 737-400 จำนวน 1 ลำ