HoonSmart.com >> ผู้ว่า ธปท. แจงบาทแข็งค่าจากปัจจัยภายนอก ไม่ใช่เพราะขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ระบุตั้งแต่ต้นปีเงินทุนไหลออก ย้ำ ธปท.ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด พร้อมดูแลทันทีที่เห็นการเก็งกำไรระยะสั้นผิดปกติ
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นปี 2562 เงินบาทแข็งค่าขึ้น 3.93% ซึ่งอยู่ในระดับกลางๆ เมื่อเทียบกับสกุลเงินประเทศเกิดใหม่และประเทศในภูมิภาค ซึ่งเป็นผลจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังสูง แม้ว่าการส่งออกจะชะลอลงบ้างจากภาวะการค้าโลกที่ตึงเครียด แต่การนำเข้าชะลอลงด้วย ในขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวที่ลดลงในช่วงไตรมาส 3 ปรับดีขึ้นมากในช่วงปลายปี 2561 ต่อเนื่องมาถึงต้นปี 2562 ซึ่งเป็น high season นอกจากนี้ มีเงินลงทุนจากต่างชาติที่เข้ามาลงทุนระยะยาว (FDI) มากขึ้นด้วย
ทั้งนี้ในปี 2561 ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 3.7 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐแบ่งเป็นการเกินดุลการค้า 2.3 หมื่นล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐและเป็นการเกินดุลบริการ 1.4 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ
“อาจจะมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าการปรับดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. เมื่อปลายปี 2561 ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น เพราะมีเงินไหลเข้ามาในตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้น แต่สถานการณ์ในปีนี้ต่างจากปีก่อนๆ คือ ตั้งแต่ต้นปี 2562 มีเงินไหลออกจากตลาดพันธบัตรไทย 407 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่มีเงินไหลเข้าตลาดหุ้น 123 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ภาพรวมมีเงินทุนไหลออกสุทธิ 284 ล้านดอลลาร์สหรัฐ” นายวิรไท ระบุ
นอกจากนี้ ดอกเบี้ยนโยบายของไทย 1.75% ยังต่ำกว่าของสหรัฐที่อยู่ 2.25-2.5% และต่ำกว่าประเทศในภูมิภาค เวียดนาม 6.25% อินโดนีเซีย 6.75% ฟิลิปปินส์ 4.75% มาเลเซีย 3.25%
“หลังจาก midterm election มุมมองของนักลงทุนเกี่ยวกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เปลี่ยนไป จากหลายปัจจัยทั้งจากเหตุการณ์ government shutdown ที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ การที่นักลงทุนเทขายหุ้นจากมุมมองความเสี่ยงที่เปลี่ยนไป และการที่ธนาคารกลางของสหรัฐฯส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยช้ากว่าเดิม ในขณะที่ปัญหาความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนยังไม่คืบหน้า ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง และผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯปรับลดลง”
ขณะที่การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ทำให้สกุลเงินของประเทศเกิดใหม่แข็งค่าขึ้น ส่วนผลกระทบจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสถานะของแต่ละประเทศ”
นายวิรไท กล่าวอีกว่า “ที่ผ่านมา ธปท. ติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด โดยในระยะสั้นถ้าเห็นการเก็งกำไรที่ผิดปกติ หรือการเคลื่อนไหวผันผวนรุนแรงไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ก็เข้าดูแลเหมือนกับที่ผ่านมา”
อย่างไรก็ตาม เรื่องค่าเงินเป็นประเด็นอ่อนไหว เป็นเหมือนเหรียญสองด้าน ที่เวลาเงินบาทแข็งหรืออ่อน จะมีทั้งคนได้คนเสีย รวมทั้งเป็นประเด็นที่ถูกจับตา เราต้องระวังไม่ให้ไทยถูกจัดเป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน ซึ่งอาจจะถูกมาตรการกีดกัน สถานการณ์จะยิ่งแย่ลง
“โจทย์สำคัญไม่ใช่ว่าค่าเงินบาทควรอยู่ที่ระดับเท่าใด แต่ควรเป็นว่าระบบเศรษฐกิจของประเทศจะสามารถรองรับความผันผวนจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินได้อย่างไร ทั้งนี้ ถ้าพิจารณาตัวเลขความผันผวนของค่าเงินบาทถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศเกิดใหม่”
ในด้านเศรษฐกิจมหภาค สาเหตุของการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดส่วนหนึ่งเพราะการลงทุนของไทยที่ผ่านมาอยู่ในระดับต่ำ ไทยจำเป็นต้องเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยช่วงที่เงินบาทที่แข็งค่าถือเป็นโอกาสดีที่จะลงทุน นำเข้าเครื่องจักรเพื่อยกระดับศักยภาพการผลิต
สำหรับภาคธุรกิจ มีโจทย์หลายเรื่องที่ต้องร่วมกันคิด อัตราแลกเปลี่ยนเป็นส่วนหนึ่งของราคา ซึ่งปัจจุบันยังเน้นแต่การแข่งขันด้านราคาอยู่ค่อนข้างมาก การแข่งแต่ราคาอย่างเดียวอาจไม่ยั่งยืน จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพสินค้า และทำให้สินค้ามีจุดขาย มีความต่าง
“มองไปข้างหน้า ความผันผวนยังจะอยู่กับเรา การบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเป็นอีกเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ ซึ่งทำได้หลายวิธี เช่น การใช้เครื่องมือทางการเงินในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งจากข้อมูลพบว่า ผู้นำเข้าค่อนข้างมีวินัยมีการปิดความเสี่ยงต่อเนื่อง ในขณะที่ผู้ส่งออกมักจะเร่งทำตอนค่าเงินแข็ง ไม่ใช่ได้ทยอยทำ หรือ การเลือกใช้สกุลเงินท้องถิ่นหรือเงินสกุลของคู่ค้าเป็น invoice currency แทนการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบันแม้เราจะค้าขายโดยตรงกับสหรัฐเพียงประมาณ 10% แต่ในการซื้อขายส่วนใหญ่ยังอยู่ในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐกว่า 70%”
ธปท. ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องที่จะทำให้ระบบการเงินมีเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่เพียงพอเพื่อผู้ประกอบการสามารถเลือกใช้ได้เหมาะสม เช่น การทำให้ตลาด forward โปร่งใสขึ้นมากขึ้น โครงการ FX option ที่ผู้ประกอบการสามารถล๊อกเรท การมีบัญชีเงินฝากสำหรับเงินตราต่างประเทศ (FCD) สำหรับผู้ประกอบการที่ยังไม่ต้องการแลกเงินตราต่างประเทศเป็นเงินบาท รวมทั้งส่งเสริมให้มีการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการค้าขายให้มากขึ้น ซึ่งหนึ่งในโครงการที่ผลักดันคือการส่งเสริมให้ใช้ บาท-หยวนในมณฑลยูนาน