ธนาคารกสิกรไทย แนะนำลูกค้า “ไพรเวทแบงก์” ปรับกลยุทธ์ลงทุนรับมือเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ช่วง Late Cycle ถ้ารับความเสี่ยงได้น้อยต้องลดสัดส่วนสินทรัพย์เสี่ยง ถือเงินสดเพิ่ม กระจายการลงทุน “จิรวัฒน์” ชี้ถ้ารับความเสี่ยงได้มาก แนะเดินหน้าลุยหุ้นนอกตลาด หุ้นได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของโลก
นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ในปี 2562 เป็นปีที่เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ระยะท้ายของวัฏจักรเศรษฐกิจ (Late cycle) หรือ เป็นช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตช้าลง หรือ ไม่เติบโต ก่อนที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจรวมกัน 1 ใน 3 ของโลกเข้าสู่จุดอิ่มตัว ทำให้ผลตอบแทนในสินทรัพย์ทุกประเภทมีแนวโน้มปรับลดลง
นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงอื่นๆ อีก เช่น ความผันผวนของตลาดทุนที่จะมีมากขึ้นจากความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้ต้นทุนการทำธุรกิจและการบริโภคสูงขึ้น และกลยุทธ์แข่งขันการเป็นผู้นำโลกในอนาคตระหว่างสหรัฐฯ กับจีน จะไม่หยุดแค่ข้อพิพาททางการค้า
นายจิรวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับคำแนะนำการลงทุนในปี 2562 จะแบ่งลูกค้าเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ ลูกค้าที่ค่อนข้างอ่อนไหวต่อภาวะตลาดระยะสั้น จะแนะนำให้สำรองสภาพคล่อง ปรับลดความเสี่ยงการลงทุนให้น้อยลง ให้ความสำคัญกับการกระจายความเสี่ยงในหลายๆ สินทรัพย์ โดยผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมคือพันธบัตรระยะยาวทั่วโลก หุ้นกู้แปลงสภาพ และลงทุนแบบคุ้มครองเงินต้น
“นอกจากนี้ ตลาดหุ้นในบางภูมิภาคยังน่าลงทุน แต่ต้องใช้กลยุทธ์ Long/Short หรือ ซื้อและขายสินทรัพย์พร้อมกัน โดยซื้อกลุ่มสินทรัพย์ที่คาดว่าผลตอบแทนจะดีกว่าอีกกลุ่มสินทรัพย์หนึ่งทั้งในตลาดขาขึ้นและลง หรือสร้างกลไกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีการควบคุมความเสี่ยง (Managed Volatility)” นายจิรวัฒน์ กล่าว
สำหรับลูกค้าที่ยอมรับความเสี่ยงสูง มีการลงทุนระยะยาว ไม่กังวลต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดทุนระยะสั้น ธนาคารยังแนะนำให้ลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงได้ โดยลงทุนในสินทรัพย์ทั่วโลก (Global Multi Asset) กองทุนตราสารหนี้ บริษัทนอกตลาด และหุ้นที่สอดคล้องไปกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในระยะยาว (Thematic Fund) เช่น AI, Next Gen Tech, และ SmartCity
“ต้นเดือน ม.ค. 2562 เราจะออกกองทุน Private Equity ที่ลงทุนในบริษัทที่มีศักยภาพสูงนอกตลาดหลักทรัพย์ ประมาณ 70 บริษัททั่วโลก บริหารจัดการโดย ลอมบาร์ด โอเดียร์ ซึ่งมีโอกาสให้ผลตอบแทนที่ดี แต่เป็นการลงทุนระยะ 5-7 ปี” นายจิรวัฒน์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายจิรวัฒน์ ยอมรับว่า ในปี 2562 มีความเป็นไปได้ที่ผลตอบแทนจากการลงทุนจะติดลบต่อเนื่องจากปี 2561 หรือ มีผลตอบแทนประมาณ 3-4% หากโยกมาลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ
พร้อมกันนี้ นายจิรวัฒน์ คาดว่า สินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) ของ กสิกรไทย ไพรเวทแบงก์ ในปี 2562 จะไม่เติบโตจากปี 2561 ที่มีอยู่ประมาณ 7.5 แสนล้านบาท เนื่องจากภาวะตลาดทุนไม่เอื้ออำนวย
“ปี 2562 แค่ AUM ไม่ลดลงก็ดีใจแล้ว ไม่ใช่ว่าเราไม่ทะเยอทะยาน แต่ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ การคาดหวังว่าจะเติบโตคงจะไม่เป็นจริง เพราะฉะนั้นในปี 2562 เราอาจจะไม่ตั้งเป้าหมายเติบโตเลย เพราะต่อให้ลูกค้านำเงินมาลงทุนเพิ่ม แต่มูลค่าสินทรัพย์สุทธิของลูกค้าอาจจะไม่เพิ่มขึ้น” นายจิรวัฒน์ กล่าว
ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2561 กสิกรไทย ไพรเวทแบงก์ มีลูกค้า 11,000 ราย เติบโตขึ้น 8% และ AUM ประมาณ 7.5 แสนล้านบาท เติบโต 0.2% เมื่อเทียบกับปี 2560
“ตลอดปี 2561 KBank Private Banking ได้นำเสนอกองทุนใหม่ ซึ่งเป็นการลงทุนในภูมิภาคที่มีศักยภาพ เน้นการกระจายความเสี่ยงและบริหารจัดการความผันผวนอย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า เช่น กองทุน K-EUSMALL กองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นขนาดกลางและเล็กของยุโรป (ไม่รวมสหราชอาณาจักร) และ กองทุน K-CCTV กองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นจีน A-Shares เน้นหุ้นจีนศักยภาพดีและมีแนวโน้มเติบโตสูง พร้อมใช้กลยุทธ์การบริหารความเสี่ยงเพื่อควบคุมความผันผวน และออกผลิตภัณฑ์ที่มีรูปแบบการคุ้มครองเงินต้น”
นอกจากนี้ ยังมีบริการที่ปรึกษาด้านการบริหารสินทรัพย์ครอบครัว เช่น การจัดทำธรรมนูญครอบครัว การวางแผนโครงสร้างการถือครองทรัพย์สินที่มีประสิทธิภาพ การวางแผนภาษี การวางแผนการส่งต่อทรัพย์สิน โดยขยายขอบเขตจากลูกค้าในกรุงเทพฯ ครอบคลุมลูกค้าในภูมิภาค 17 จังหวัดสำคัญทั่วประเทศ ลูกค้าประมาณ 550 ราย
บริการที่ปรึกษาด้านการบริหารสินทรัพย์นอกตลาดทุน (Non-capital Market Investment) เช่น
– Private Equity: Preferred Share ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือภายในธนาคาร ที่แนะนำ (refer) ลูกค้านักลงทุนพบกับเจ้าของโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่มีศักยภาพสูง เพื่อให้ลูกค้ามีทางเลือกการลงทุนมากขึ้น โดยมีส่วนร่วมในการระดมเงินลงทุนได้แล้วกว่า 560 ล้านบาท
– การให้บริการที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ โดยมีลูกค้ากว่า 80 ราย มีความสนในส่งที่ดินในครอบครองมาปรึกษาเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดินจากทีมผู้เชี่ยวชาญ โดยมีจำนวนที่ดินในฐานข้อมูลกว่า 600 แปลง รวมมูลค่ากว่า 15,000 ล้านบาท
– Land Loan for Investment เป็นการแนะนำให้ลูกค้าใช้ประโยชน์จากที่ดินในครอบครอง ซึ่งถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่ขาดสภาพคล่อง โดยนำมาเป็นหลักประกันสร้างสภาพคล่องเพื่อต่อยอดการลงทุนโดยมีลูกค้าสนใจนำที่ดินมูลค่ากว่า 6 พันล้านบาทเข้าโครงการ คิดเป็นวงเงินสินเชื่อกว่า 3 พันล้านบาท
– ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่ออกแบบพิเศษสำหรับลูกค้า Private Banking เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีการเชื่อมโยงกับเครื่องมือการลงทุน เพื่อเพิ่มผลตอบแทนให้กับลูกค้าและผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพที่พัฒนาขึ้นจากความเข้าใจความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง
บริการไพรเวทแบงกิ้งสำหรับลูกค้าจีนและลูกค้าที่สื่อสารด้วยภาษาจีนเป็นหลักที่อาศัยอยู่ในเมืองไทย ซึ่งเป็นปีแรกที่ธนาคารเริ่มรุกบริการไพรเวทแบงก์ลูกค้าจีน อย่างจริงจังเพื่อรองรับลูกค้าชาวจีนที่อาศัยอยู่ในไทย 10 ล้านคน โดยสร้างความเติบโตของจำนวนลูกค้า กว่า 164% AUM เติบโต 47% และรายได้เติบโต 56% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา