ธนาคารกรุงศรี คาดเงินบาทสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวในกรอบ 32.65-33.00 บาทต่อดอลลาร์ จับตาเฟด-กนง. ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.65-33.00 ต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดแข็งค่าที่ 32.80 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 4.6 พันล้านบาท และขายพันธบัตร 1.0 พันล้านบาท
ส่วนเงินดอลลาร์แข็งค่าเทียบกับทุกสกุลเงินหลัก ขณะที่เงินยูโรเผชิญแรงขายจากความกังวลเรื่องการประท้วงในฝรั่งเศสรวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจที่บ่งชี้ถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจในเขตยูโรโซน โดยธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ประกาศยุติโครงการซื้อพันธบัตรใหม่ตามคาด แต่ให้คำมั่นว่าจะดำเนินนโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจยูโรโซนต่อไปท่ามกลางความไม่แน่นอนจากหลายปัจจัยนำโดยสงครามการค้า
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า ปัจจัยสำคัญอยู่ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) โดยตลาดคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยสู่ระดับ 2.25-2.50% ในการประชุมวันที่ 18-19 ธันวาคม จุดสนใจหลักจะอยู่ที่ประมาณการดอกเบี้ย (Dot Plots) ของเฟด รวมถึงการประเมินทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ และภาวะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นสูงกว่าระยะยาว หากเฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่ชะลอลงในปี 2562 เงินดอลลาร์อาจอ่อนค่าได้เล็กน้อย ในทางกลับกัน หากเฟดสร้างความประหลาดใจด้วยการคงไว้ซึ่งประมาณการเดิมที่ว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยราว 3 ครั้งในปีหน้า จะกระตุ้นให้นักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์อย่างมีนัยสำคัญ
ส่วนการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) และธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) นัดสุดท้ายของปีในสัปดาห์นี้ คาดว่าจะคงนโยบายไว้ตามเดิม นอกจากนี้ ปัจจัยชี้นำอื่นๆ ยังคงอยู่ที่กระแสข่าวเกี่ยวกับข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ราคาน้ำมันดิบ ความคืบหน้า Brexit รวมถึงการขาดดุลงบประมาณของอิตาลีและฝรั่งเศส
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ เราคาดว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 19 ธันวาคมจะมีมติไม่เป็นเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 1.75% โดยจะเป็นการปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 7 ปีเพื่อดูแลความเสี่ยงด้านเสถียรภาพและสร้างขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายในอนาคต ขณะที่แนวโน้มอุปสงค์ในประเทศขยายตัวต่อเนื่อง อนึ่ง หากกนง.ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในการประชุมครั้งนี้ อาจสร้างความสับสนต่อตลาดเกี่ยวกับเงื่อนไขและจังหวะเวลาในการปรับสมดุลนโยบายการเงินของไทย