GSTEL ลุ้นคำสั่งศาล 24 ธ.ค.นี้ อนุมัติฟื้นฟูกิจการ

“จีสตีล” ลุ้น คำสั่งศาลล้มละลายกลาง 24 ธ.ค.นี้ อนุมัติฟื้นฟูกิจการหรือไม่ ด้านฝ่ายบริหาร แจงความจำเป็นต้องฟื้นฟู เหตุส่วนทุนติดลบเกือบ 800 ล้านบาท แบกหนี้กว่า 1.7 หมื่นล้าน แบงก์เมินปล่อยกู้ เผยฝ่ายบริหารประคองสถานะบริษัท-พนักงานร่วม 800 คน อุ้มรายย่อยกว่าหมื่นราย

นายธีรชัย อรุณเรืองศิริเลิศ กรรมการอิสระ และกรรมการตรวจสอบ บริษัท จี สตีล ( GSTEL ) เปิดเผยว่า วันที่ 24 ธ.ค.นี้ ศาลล้มละลายกลาง จะอ่านคำพิพากษา ชี้ขาดว่าจะให้จีสตีล ฟื้นฟูกิจการหรือไม่ หากศาลมีคำสั่งอนุมัติให้ฟื้นฟูกิจการได้ ส่งผลให้บริษัทดำเนินการตามแผนปรับโครงสร้างหนี้ แก้ปัญหาหนี้แบบเบ็ดเสร็จ ธุรกิจเดินต่อได้คล่องตัว รักษาผลประโยชน์ผู้ถือหุ้นกว่า 1 หมื่นราย กรณีไม่ได้รับอนุมัติ จำเป็นต้องยื่นเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูอีกครั้ง รวมทั้งหาแหล่งเงินทุนที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ( Non Bank ) ช่วยเสริมสภาพคล่อง

สำหรับแผนปรับโครงสร้างหนี้ 1.7 หมื่นล้านบาท เป็นการฟื้นฟูแบบเบ็ดเสร็จ ตั้งแต่การแปลงหนี้เป็นทุน ขอลดยอดหนี้ (แฮร์คัท ) ขอยืดหนี้ เพื่อให้เหมาะกับสถานะการดำเนินธุรกิจของบริษัท ทั้งนี้ตามกระบวนการเข้าสู่แผนฟื้นฟูนั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาลล้มละลายกลาง

นายธีรชัย กล่าวถึง สถานะปัจจุบันของจีสตีล ไม่สามารถใช้แหล่งทุนจากสถาบันการเงินได้ เนื่องจากส่วนผู้ถือหุ้นติดลบกว่า 776 ล้านบาท และตั้งแต่ไตรมาส 4/2560 ต้องใช้เงินทุนจาก non bank ประคองธุรกิจ เพราะหากปิดกิจการผลกระทบที่ตามมาค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะผู้ถือหุ้นรายย่อยกว่า 1 หมื่นราย พนักงานเกือบ 800 คน

” อุตสาหกรรมเหล็ก ถือเป็นธุรกิจที่มีประโยชน์ต่อประเทศ มีแนวโน้มเติบโตตามโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและผู้มีส่วนได้เสียในวงกว้าง ในฐานะที่เป็นกรรมการตรวจสอบจึงให้ความสำคัญและติดตามอย่างใกล้ชิด เกี่ยวกับการควบคุมภายในและการบริหารความเสี่ยงของการดำเนินธุรกิจ
 
นางจุไรรัตน์ ปันยารชุน กรรมการอิสระจีสตีล  กล่าวว่า ปัญหาหนี้เรื้อรังของบริษัท มาจากผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งตั้งแต่ในปี 2541 จากการลอยตัวค่าเงินบาท ทำให้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ จากนั้นในปี 2546 บริษัทได้รับการอนุมัติให้ออกจากกระบวนการฟื้นฟู หลังออกจากแผนฟื้นฟู มาเจอวิกฤตเศรษฐกิจรอบ 2 ในปี 2551 จากวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ (วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์) จำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูอีกครั้ง เพื่อรักษาสถานะภาพการดำเนินธุรกิจให้คงอยู่ ซึ่งอุตสาหกรรมเหล็กเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำ จีสตีลเป็นโรงเหล็กครบวงจร ต้องใช้เงินทุนสูง การเข้าสู่แผนฟื้นฟู จะมีผลต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศ และยังช่วยลดการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศ

“ถ้า จี สตีล มีความจำเป็นต้องปิดกิจการลง การลงทุนจากกลุ่มนักลงทุนไทยเป็นไปได้ยากในภาวะปัจจุบันเพราะใช้ลงทุนสูงหลายหมื่นล้าน ถือว่ามีผลต่อภาพรวมอุตสาหกรรม”นางจุไรรัตน์ กล่าว

นางสาวสุนทรียา วงศ์ศิริกุล กรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านบัญชี และการเงิน จีสตีล กล่าวว่า หากบริษัทได้รับการอนุมัติฟื้นฟูกิจการ จะส่งผลให้กระบวนการผลิตสามารถกลับมาเป็นปกติได้ โดยบริษัทจำเป็นที่จะต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนเพื่อรักษาระดับการผลิตที่ระดับ 7-8
แสนตันต่อปี หรือคิดเป็นการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 60% มูลค่า ประมาณ 2,000 ล้านบาท คาดว่าภายใน 2 ปี บริษัทจะสามารถปรับโครงสร้างทางการเงิน (รีไฟแนนท์) กับสถาบันการเงิน เพื่อให้ต้นทุนทางการเงินลดลง เข้าถึงแหล่งเงินกู้สถาบันการเงินได้ มีโอกาสที่จะเพิ่มกำลังผลิตเป็น 1.2 ล้านตัน/ปี รองรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

นางสาวสุนทรียา กล่าวถึง การตรวจสอบคดีโกงเศษเหล็ก ว่า ขณะนี้ได้ข้อสรุปความเสียหายของปี 2560 เรียบร้อยแล้ว แต่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ(ปอศ) กำลังตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในปี 2558-2559 จะมีความเสียหายเกิดขึ้นหรือไม่