กนง.ประเมินสถานการณ์-จังหวะเหมาะขึ้นดอกเบี้ย

กนง.ประเมินสถานการณ์ตามพัฒนาการของข้อมูลเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน และจังหวะเหมาะสมก่อนเริ่มปรับนโยบายการเงินให้เข้าสู่ภาวะปกติในอนาคต

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 14 พ.ย.2561 โดยคณะกรรการมีมติ 4 ต่อ 3 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี โดยกรรมการ 3 ท่าน เห็นควรให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เป็น 1.75% โดยคณะกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่านโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในระดับปัจจุบันยังจำเป็นต่อการสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยเศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความเสี่ยงด้านต่ำจากผลกระทบของมาตรการกีดกันทางการค้าที่มีความไม่แน่นอนสูง รวมทั้งภาคท่องเที่ยวที่ชะลอตัวลง และต้องติดตามความเข้มแข็งของการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนที่จะเป็นแรงส่งของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า

ขณะที่กรรมการส่วนหนึ่งเห็นว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจมีความชัดเจนเพียงพอและมีแนวโน้มชะลอตัวลงไม่มาก จึงเห็นว่าการลดระดับความผ่อนคลายของนโยบายการเงินอย่างค่อยเป็นค่อยไปในปัจจุบันจะไม่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจมากนัก แต่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว

ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยคณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันได้เอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเคลื่อนไหวสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ และเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ าแม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง เป็นผลจากปัจจัยด้านอุปทานและปัจจัยเชิงโครงสร้างเป็นสำคัญ ด้วยเหตุผลดังกล่าว กรรมการส่วนหนึ่งจึงเห็นว่าการคงการผ่อนคลายของนโยบายการเงินในระดับปัจจุบันต่อไปอาจไม่ช่วยให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น

สำหรับระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ต้องติดตามความเสี่ยงบางจุดซึ่งอาจสร้างความเปราะบางให้กับเสถียรภาพระบบการเงินในอนาคต คณะกรรมการฯ ประเมินว่าความเสี่ยงด้านการแข่งขันในตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยได้รับการดูแลในระดับหนึ่งแล้วผ่านการปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย

อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงที่คณะกรรมการฯ จะติดตามต่อไป ได้แก่ (1) พฤติกรรมการก่อหนี้ของภาคครัวเรือนแม้ว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ทยอยปรับลดลงแต่ยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่คุณภาพสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยยังไม่ปรับดีขึ้น สินเชื่อรถยนต์มีแนวโน้มเร่งตัว อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำอาจส่งผลกระทบต่อฐานเงินออมในอนาคต และ (2) พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นอื่น ๆในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานานซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่่ำกว่าที่ควร (underpricing of risks) เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ยังให้ผลตอบแทนแก่สมาชิกในอัตราสูง ทำให้สินทรัพย์ขยายตัวในอัตราสูงต่อเนื่องและเป็นแรงกดดันให้ต้องแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น รวมทั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดใหญ่มีบทบาทในระบบสหกรณ์มากขึ้นผ่านการให้กู้ยืมระหว่างกัน

นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่มีการระดมทุนมากขึ้นในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ทั้งจากสินเชื่อธนาคารและตราสารหนี้ เพื่อขยายการลงทุนทั้งในกิจการเดิมและกิจการที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลัก รวมถึงกิจการในต่างประเทศ จึงควรติดตามและประเมินความเสี่ยงใกล้ชิดมากขึ้น

คณะกรรมการฯ เห็นว่าการดูแลระบบการเงินให้มีเสถียรภาพจำเป็นต้องใช้เครื่องมือเชิงนโยบายผสมผสานกันทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบายและมาตรการเพื่อดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macroprudential measures) เพื่อให้การดูแลเสถียรภาพระบบการเงินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดี มาตรการเพื่อดูแลเสถียรภาพระบบการเงินไม่สามารถใช้ทดแทนการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมได้ เนื่องจากเป็นเพียงมาตรการเสริมเพื่อดูแลความเสี่ยงเฉพาะจุด

ทั้งนี้ กรรมการส่วนหนึ่งกังวลต่อความเสี่ยงของเสถียรภาพระบบการเงินที่เริ่มสะสมความเปราะบางมากขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยมองว่าความเปราะบางในระบบการเงินเริ่มกระจายเป็นวงกว้างมากขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นเวลานาน ส่งผลให้ประชาชนและภาคธุรกิจประเมินความเสี่ยงของภาวะการเงินในอนาคตต่ำกว่าที่ควร จึงเห็นว่านโยบายการเงินควรมีบทบาทในการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินควบคู่กับมาตรการเพื่อดูแลเสถียรภาพระบบการเงินเฉพาะจุด

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ได้อภิปรายเกี่ยวกับเงื่อนไขและจังหวะเวลาที่เหมาะสมของการเริ่มปรับนโยบายการเงินให้เข้าสู่ภาวะปกติในอนาคต โดยเห็นว่าหากเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่องและอัตราเงินเฟ้อเคลื่อนไหวสอดคล้องกับกรอบเป้าหมาย ความจำเป็นที่จะต้องใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบันจะเริ่มทยอยลดลง และการรักษา policy space เพื่อรองรับความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจะมีความสำคัญมากขึ้น

คณะกรรมการฯ จะประเมินสถานการณ์ตามพัฒนาการของข้อมูล (data-dependent) ทั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน ประกอบการดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมในระยะต่อไป