คลังหั่นเป้าศก.ปีนี้โตแค่ 2.4% แบงก์แห่ลดอกเบี้ย ตปท.ไม่รีบซื้อหุ้น

HoonSmart.com>>คลังหั่นเป้าเศรษฐกิจปี 67 เหลือโต 2.4% จากเดิมคาด 2.8% หวังดิจิทัลวอลเล็ตดันทะลุ 3% ปรับลดส่งออกโตเพียง 2.3%จาก 4.2% หลังมี.ค.ติดลบ 10.9% หดตัวครั้งแรกในรอบ 8 เดือน แนะธปท.รีบลดดอกเบี้ย BBLนำลด MRR 0.25%ให้ลูกค้าทั่วไป  KTB ลดทุกประเภทให้กลุ่มเปราะบาง บล.เมย์แบงก์โรดโชว์ 23 สถาบันในสิงคโปร์-มาเลเซีย เทน้ำหนักลดหุ้นไทย เหตุไม่โต-มูลค่าสูง ชอบแบงก์-สุขภาพ-ท่องเที่ยว-นิคมฯ เชียร์ AOT,ADVANC,KTB,BCP,SCCC,TASCO  

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 อยู่ที่ 2.4% (ช่วงคาดการณ์ที่ 1.9-2.9%) ลดลงจากที่เคยคาดไว้ที่ 2.8% มูลค่าการส่งออกเหลือโต 2.3% จากเดิมคาดโต 4.2% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ 0.6% จากเดิมคาดไว้ที่ 1.0% หลังจากเห็นตัวเลขเดือนมี.ค. มีสัญญาณชะลอตัวจากการส่งออกสินค้าที่หดตัวมากกว่าที่คาดไว้ การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชนที่หดตัวจากเดือนก่อน อย่างไรก็ตามภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวต่อเนื่อง

ปัจจัยสำคัญ คือ การส่งออกสินค้าในเดือนมี.ค.หดตัวมากกว่าที่คาดไว้ มูลค่าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ อยู่ที่ 24,960.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 10.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง ทองคำ และยุทธปัจจัย หดตัว 5.6% เนื่องจากฐานสูงจากช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้สินค้าในหมวดน้ำตาลทราย ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัว 45.6% 16.7% 12.4% และ 11.8% ตามลำดับ

ส่วนภาคการเกษตรก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ที่มาจากสถานการณ์เอลนีโญ รวมถึงภาคการคลังที่ยังใช้การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2566 ไปพลางก่อน จนถึงเกือบปลายเดือนเม.ย.2567

อย่างไรก็ตาม โครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล ที่คาดว่าจะเริ่มใช้ได้ประมาณไตรมาส 4หากทำได้ตามกรอบที่วางไว้  คาดว่าจะมีผลต่อ GDP ปีนี้เพิ่มขึ้นอีกราว 1.2-1.8% หรือประมาณการเพิ่มเป็น 3-3.3%

“คาดกนง.จะลดดอกเบี้ยอย่างน้อย 0.25% ในช่วงเหลือของปีนี้ หลังเห็นข้อมูลเศรษฐกิจใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องส่งออก กับภาคอุตสาหกรรมที่ยังชะลอตัว ส่วนเงินบาทอ่อนค่านั้น มองว่าจะส่งผลดี เพราะเป็นประโยชน์กับภาคการส่งออก และภาคการท่องเที่ยว ขณะที่ผู้นำต้องมีการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สำหรับเม็ดเงินไหลเข้า-ออกของตลาดทุน มองว่า บาทอ่อนเป็นแค่ปัจจัยหนึ่ง แต่ปัจจัยหลัก คือเรื่องความเชื่อมั่น ความมั่นใจในการถือครองหุ้นมากกว่า สะท้อนจากราคาทองคำที่ปรับเพิ่มขึ้น  คาดว่าปลายปีนี้ เงินบาทมีโอกาสจะปรับแข็งค่าขึ้นได้”โฆษกกระทรวงการคลังกล่าว

ด้านนายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เดือนมี.ค. มูลค่าส่งออกอยู่ที่ 24,960 ล้านดอลลาร์ ลดลง 10.9% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของก่อน แย่กว่าที่ตลาดคาดหดตัว 4.0-5.9% โดยเป็นการพลิกกลับมาหดตัวครั้งแรกในรอบ 8 เดือน สาเหตุสำคัญมาจากการเทียบกับฐานที่สูงในเดือนมี.ค. 2566 รวมถึงสภาพอากาศร้อนจัด ทำให้ปริมาณผลผลิตผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียนชะลอออกสู่ตลาดไปเป็นเดือนเม.ย. จากปีก่อนเดือนมี.ค.ปริมาณทุเรียนออกสู่ตลาดมาก

อย่างไรก็ดี  การส่งออกมีมูลค่าสูงถึงระดับ 24,960 ล้านดอลลาร์ ถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี อยู่ที่เดือนละ 21,800 ล้านดอลลาร์  จึงไม่ได้เป็นปัญหาแต่อย่างใด และเชื่อว่าในเดือนเม.ย.ส่งออกจะกลับไปเป็นบวกได้อย่างแน่นอน
“เดือนมี.ค. มูลค่าการส่งออกถือว่ายังสูงที่ระดับ 24,690 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี อยู่ที่เดือนละ 21,800 ล้านดอลลาร์ แต่ที่หดตัวถึง 10% เพราะมาจากฐานสูงในช่วงเดียวกันของปีก่อน และเชื่อว่าเม.ย. จะเป็นบวกแน่นอน” นายพูนพงษ์กล่าว

ส่วนการนำเข้าเดือนมี.ค. มีมูลค่า 26,128 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 5.6% ทำให้ไทยขาดดุลการค้า 1,163 ล้านดอลลาร์

การส่งออกในไตรมาส 1/2567 มีมูลค่ารวม 70,995 ล้านดอลลาร์ ลดลงเล็กน้อยที่ 0.2% การนำเข้ามีมูลค่า 75,470 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 3.8% ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 4,475 ล้านดอลลาร์ โดยกระทรวงพาณิชย์ ยังคงเป้าหมายการส่งออกทั้งปี 67 ไว้ที่ 1-2% หากในช่วง 9 เดือนที่เหลือ สามารถทำได้ 24,046 ล้านดอลลาร์/เดือน จะทำให้การส่งออกทั้งปีเติบโตได้ 1% แต่หาก ทำได้ถึง 24,362 ล้านดอลลาร์/เดือน ก็จะขยายตัวได้ 2%

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า ทิศทางการส่งออกในไตรมาส 2 ภาคเอกชนยังมองเป็นบวก คาดว่าจะมีมูลค่าราว 71,000 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากเงินบาทอ่อนยังเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุน  โดยเฉพาะสินค้าเกษตร เพราะในเดือนเม.ย. เงินบาทอ่อนอยู่ในช่วง 36-37 บาท/ดอลลาร์

ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง-ข้าว-ยางโต 

บล.กรุงศรี ระบุว่า แม้ส่งออกเดือนมี.ค. โตต่ำกว่าคาด -10.9% แต่หากมองรายสินค้า กลุ่มที่ยังเป็นบวก คือ อาหารสัตว์เลี้ยง บวกต่อหุ้น ITC AAI นอกจากนี้ กลุ่มที่ยังมียอดดี คือ ข้าว+30.6% ยางพารา +36.9% ดีต่อกลุ่มค้าปลีกฐานราก เน้น CPALL,CPAXT และBJC

BBL นำลดดอกเบี้ย MRR 0.25% ให้ลูกค้าทั่วไป

บล.ทิสโก้ระบุว่า  ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เป็นธนาคารแรกที่ลดอัตรา MRR ลง 0.25%. ให้กับผู้กู้ทุกราย ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มเปราะบาง เท่านั้น ซึ่งผลกระทบต่อ BBL ยังคงมีจำกัดในกรณีของธนำคำรกรุงเทพ  เพราะในไตรมาสที่ 4/2566  สินเชื่อรายย่อยมีมูลค่า 3.21 แสนล้านบาท คิดเป็น 12% ของสินเชื่อรวม  โดย 10% ของสินเชื่อรายย่อย หรือ 2.57 แสนล้านบาท เป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัย คาดได้ว่าใช้อัตราดอกเบี้ย MRR ทั้งหมด ขณะที่สินเชื่อ SME ที่ใช้อัตรา MRR น้อย คาดประมาณการผลกระทบจากการลดอัตรา MRR ที่ 321 ล้านบาท (2.57 แสนล้านบาท x 0.25% x 1/2 ปี) คิดเป็น 0.2% ของรายได้ดอกเบี้ยขั้นต้นประมาณการปี 2567  และ 0.6% ของกำไรสุทธิหลังหักภาษีประมาณการปี 2567
ขณะที่เพิ่มแรงกดดันให้กับคู่แข่งมากขึ้น

สำหรับธนาคารโดยรวม หากลด MRR ให้ลูกค้าทั่วไป ผลกระทบก็ยังคงมีจำกัด  ส่วนใหญ่ระหว่าง 0.2-0.6% (เฉลี่ย 0.3%) ของรายได้ดอกเบี้ยขั้นต้น และ 0.6-1.8% (เฉลี่ย 1.2%) ของกำไรสุทธิหลังหักภาษีประมาณการปี  2567  จึงคงคำแนะนำ “ซื้อ” สำหรับ TTB และ KKP โดยมูลค่าที่เหมาะสมเท่ากับ 2.50 และ 60.00 บาท

KTB ลด MRR-MLR-MOR 0.25% ให้กลุ่มเปราะบาง สินเชื่อรวมกว่า 2 แสนล้านบาท   

ธนาคารกรุงไทย (KTB) ขานรับมาตรการภาครัฐ เร่งบรรเทาความเดือดร้อนกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวไม่เต็มที่  โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR MLR และ MOR 0.25% เป็นเวลา 6 เดือน มีผลตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค.-15 พ.ย.2567 ให้กับลูกค้ากลุ่มเปราะบางกว่า 3 แสนบัญชี วงเงินสินเชื่อรวมกว่า 2 แสนล้านบาท ให้มีโอกาสปรับตัวและฟื้นตัว

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกรุงไทยพร้อมสนับสนุนแนวนโยบายของภาครัฐในการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง  โดยประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR MLR และ MOR 0.25% ต่อปี เป็นเวลา 6 เดือนให้กับลูกค้ากลุ่มเปราะบาง 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. ลูกค้าสินเชื่อบุคคลรายย่อยที่ยังอยู่ในมาตรการความช่วยเหลือของธนาคารฯ ทั้งสินเชื่อบ้าน และสินเชื่อส่วนบุคคล 2.ลูกค้าสินเชื่อบ้านที่มีวงเงินไม่เกิน 2 ล้านบาท และ 3. ลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการ SME รายย่อยที่มีรายได้กิจการต่อเดือนไม่เกิน 2 ล้านบาทและมีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 10 ล้านบาท

“ธนาคารช่วยลดภาระทางการเงินให้กับลูกค้าได้มากกว่า 3 แสนบัญชี คิดเป็นวงเงินสินเชื่อรวมมากกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งธนาคารจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้อัตโนมัติสำหรับลูกค้ากลุ่มเปราะบางทั้ง 3 กลุ่มที่มียอดสินเชื่อกับธนาคาร ณ 31 มีนาคม 2567 โดยลูกค้าไม่ต้องลงทะเบียน หรือติดต่อธนาคารแต่อย่างใด”นายผยงกล่าว

ด้านตลาดทุน บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) เปิดเผยผลการไปโรดโชว์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้พบนักลงทุนสถาบัน 23 รายในสิงคโปร์และกัวลาลัมเปอร์ประเทศมาเลเซีย พบว่านักลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในโหมดรอดูสถานการณ์ตลาดหุ้นไทย เพื่อรอความชัดเจนของปัจจัยบวกต่างๆ ส่งผลให้มีนักลงทุนไม่กี่รายที่ Overweight   และอีก 2-3 รายมีมุมมองเป็นกลาง ขณะที่นักลงทุนเกือบทั้งหมด Underweight ตลาดหุ้นไทย เนื่องจากมองว่ายังขาดการเติบโตและ valuation ค่อนข้างแพง

อย่างไรก็ดีจากดัชนี SET Index ที่underperform 5.7%YTD เมื่อเทียบกับ MSCI Asia ex-Japan นักลงทุนส่วนใหญ่ จึงขอสำรวจโอกาสก่อน และจากผลประกอบการที่แข็งแกร่งของภาคธนาคารและบริษัทขนาดใหญ่ของไทยที่รายงานงบไปก่อนหน้านี้ ส่งผลให้นักลงทุนสนใจตลาดหุ้นไทยมากขึ้น

นักลงทุนสนใจประเด็น Digital Wallet และมุมมองดอกเบี้ย

ทุกครั้งที่มีประชุมออนไลน์นักลงทุนมักจะถามถึงโครงการ Digital Wallet  ซึ่งนายกรัฐมนตรีกำลังผลักดันอย่างหนักเพื่อทำให้นโยบายนี้เป็นจริง แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนหลายประการเกี่ยวกับแหล่งเงินทุนและการดำเนินการ (แอปที่พัฒนาขึ้นใหม่ หลักฐานรายได้ฯลฯ)

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเกี่ยวกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งนักลงทุนจำนวนมากเริ่มกังวลเกี่ยวกับความเป็นอิสระของธปท. โดยทางเมย์แบงก์ฯ มองว่าธปท.จะลดดอกเบี้ยปีนี้ 1 ครั้งและต้นปีหน้าอีก 1 ครั้ง โดยนักลงทุนชอบหุ้นธนาคารเป็นตัวแทนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและตลาดหุ้น และคิดว่าการจ่ายเงินปันผลที่สูงขึ้นอาจเป็นปัจจัยบวกหนุนการปรับประมาณการได้ นอกจากนี้สนใจกลุ่มดูแลสุขภาพ ท่องเที่ยวและนิคมอุตสาหกรรม

“เราชอบ AOT มากกว่าหุ้นโรงแรม เนื่องจากเรากังวลประเด็นจำนวนห้องพักโรงแรมในกรุงเทพฯ ที่เพิ่มสูง”

ขณะที่หุ้นรายตัว นักลงทุนต่างกระตือรือร้นที่จะสำรวจ TASCO และ SCCC ซึ่งแปลกใจมากที่นักลงทุนจำนวนมากในกัวลาลัมเปอร์ค่อนข้างคุ้นเคยกับ TASCO อย่างไรก็ดี เราไม่ได้มองว่านักลงทุนจะซื้อหุ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้ เนื่องจากยังต้องรอดูสถานการณ์กันไปก่อน  คาดว่าเมื่อมีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ และกำไรปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป หุ้นเหล่านี้ก็อาจจะ Outperform ได้

ส่วนตลาดหุ้นไทยวันที่ 29 เม.ย.67 ดัชนีแกว่งบวกลบแคบๆ ปิดที่ระดับ 1,361.97 จุด เพิ่มขึ้น 2.08 จุด หรือ +0.15% มูลค่าซื้อขาย 36,381.38 ล้านบาท  ขณะที่หลายตลาดในภูมิภาคปรับตัวขึ้นแรง

นักลงทุน 3 กลุ่มรวมกันซื้อ ต่างประเทศเก็บ 556.83 ล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ 436.96 บาท นักลงทุนไทยซื้อ  284.67 ล้านบาท ส่วน สถาบันไทยขายสุทธิ 1,278.46 ล้านบาท

นายศราวุธ เตโชชวลิต ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.อาร์เอชบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า หุ้นไทยแกว่งแคบ ขณะที่ตลาดในภูมิภาคเอเชียส่วนใหญ่จะปรับตัวขึ้นกันเกือบหมด รอดูการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 1 พ.ค.นี้  เนื่องจากตลาดได้รับแรงกดดันจากหุ้น DELTA หลังกำไรไตีรมาสแรกต่ำกว่าคาด และราคาน้ำมันก็ปรับตัวลงเล็กน้อยหลังจะมีการเจรจาข้อตกลงหยุดยิงระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส พร้อมให้ติดตามตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐที่จะออกมาในวันศุกร์นี้

แนวโน้มการลงทุนในวันพรุ่งนี้ (30 เม.ย.) ตลาดคงจะแกว่งแคบ โดยมีแนวรับ 1,355 จุด แนวต้าน 1,365 จุด