คอลัมน์ความจริงความคิด : ทำไมดอกเบี้ยถึงสำคัญ

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

หากถามว่า “ตัวเลขเศรษฐกิจไหนที่นักลงทุนเฝ้าจับตากันมากที่สุด?” คำตอบก็คงหนีไม่พ้น “ดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ” หรือ ที่เราเรียกกันว่า “FED fund rate” ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 5.25 – 5.50% จากเดิมคาดการณ์กันว่า FED จะลดดอกเบี้ยในเดือนมีนาคม แต่ปัจจุบันก็เลื่อนมาคาดว่าจะลดในเดือนมิถุนายน ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐจากเดิมที่คิดว่าสดใสเหมือนรถวิ่งทางเลียบ ก็มีการขึ้นลงตามการคาดการณ์ว่า FED จะลดดอกเบี้ยเมื่อไหร่และเท่าไหร่

สำหรับดอกเบี้ยนโยบายของไทยก็มีเหมือนกัน คืออัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมในตลาดซื้อคืนพันธบัตร (Repurchase rate) ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ใช้ในการซื้อขายพันธบัตรที่มีสัญญาซื้อคืน/ขายคืนพันธบัตรที่ใช้เป็นหลักทรัพย์วางประกัน ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตร ธปท. พันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน ทั้งนี้ ธปท.ใช้อัตราดอกเบี้ยธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน (RP 1 วัน) เป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายทางการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ (Inflation targeting) โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะกำหนดโดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปัจจุบันอยู่ที่ 2.5%

เมื่อ กนง. ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งย่อมปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เงินฝากในทิศทางเดียวกัน ถ้าอัตราดอกเบี้ยนโยบายถูกปรับขึ้นสูง อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของธนาคารพาณิชย์ทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อ อย่างเช่น MOR MLR MRR ก็จะปรับตัวสูงขึ้นตาม ในทางกลับกันถ้าอัตราดอกเบี้ยนโยบายถูกปรับลดลง ธนาคารพาณิชย์ก็จะลดอัตราดอกเบี้ยด้วยเช่นกัน เมื่ออัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์เปลี่ยนแปลง พฤติกรรมของประชาชนและธุรกิจเปลี่ยนแปลงตาม

อย่างเช่น หากดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากสูงขึ้น คนก็จะกู้น้อยลง ฝากมากขึ้น การใช้จ่ายก็จะลด ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อลดลง แต่หากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากลดลง คนก็เลือกเอาเงินไปใช้จ่าย หรือ เอาไปลงทุน เช่น กองทุน หุ้น หุ้นกู้ หรืออสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ เพราะมองว่าฝากเงินได้ดอกเบี้ยน้อย ปริมาณเงินที่ไหลเวียนในระบบเพิ่มขึ้นจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ เป็นต้น ดังนั้น ในช่วงนี้ เราถึงเห็นข่าวที่ภาครัฐพยายามเรียกร้องให้ กนง. ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั่นเอง

ไม่เพียงดอกเบี้ยจะมีผลต่อภาวะเศรษฐกิจ ในทางกลับกันภาวะเศรษฐกิจก็มีผลต่อภาวะดอกเบี้ยด้วยเช่นกัน ถ้าเศรษฐกิจเติบโตต่ำ เงินเฟ้อต่ำ ปริมาณความต้องการใช้เงินน้อย ดอกเบี้ยจะต่ำ และหุ้นปรับตัวลง ในทางกลับกัน ถ้าเศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงเติบโตสูง เงินเฟ้อสูง ปริมาณความต้องการใช้เงินก็จะสูง ดอกเบี้ยก็จะเพิ่มสูงขึ้นพร้อมกับราคาหุ้น

และอัตราดอกเบี้ยนอกจากจะมีผลต่อภาวะเศรษฐกิจแล้ว ยังมีผลต่อค่าเงินอีกด้วย โดยมีทฤษฎีที่กล่าวถึงผลของดอกเบี้ยต่อค่าเงิน ดังนี้

1.ประเทศที่มีดอกเบี้ยที่แท้จริงสูง (อัตราดอกเบี้ยนโยบายจริง คำนวณได้จากการเอาตัวเลขอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ กนง. ประกาศตั้งแล้วลบด้วยอัตราเงินเฟ้อ ยกตัวอย่างเช่น หากอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.5% และอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 1% แปลว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริง จะอยู่ที่ 1.5%) มีโอกาสที่สกุลเงินจะแข็งค่า เพราะเมื่อประเทศมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ย จะมีนักลงทุนต่างชาติแห่เข้ามาซื้อพันธบัตรรัฐบาล ส่งผลให้สกุลเงินในประเทศแข็งค่า ในทางกลับกันถ้าดอกเบี้ยที่แท้จริงลดลง นักลงทุนต่างชาติก็จะแห่ขายตราสารที่เคยลงทุนไว้ และแลกเงินออก ส่งผลให้ค่าเงินอ่อน

2.ดอกเบี้ยเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการเงินและนโยบายการเงินเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนมีการเปลี่ยนแปลง ตัวอย่างเช่น การใช้นโยบายเพิ่มปริมาณเงิน (Quantitative Easing) พร้อมกับการลดอัตราดอกเบี้ยลงต่ำผิดปกติ เช่น 0% หรือติดลบ (Negative Interest Rate) อย่างที่ประเทศญี่ปุ่นกำหนดดอกเบี้ยนโยบายติดลบมาตลอด 17 ปี สิ่งที่มักเกิดตามมาคือ สกุลเงินของประเทศที่ใช้นโยบายลักษณะนี้จะอ่อนค่า ในทางกลับ ทฤษฎีนี้ประเทศที่พิมพ์เงินออกมาน้อย หรือขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดสภาพคล่องในปัจจุบัน จะมีเงินเฟ้อที่ต่ำ และสกุลเงินที่แข็งค่า

เนื่องจากการลงทุน คือ การจ่ายเงินในปัจจุบันเพื่อผลตอบแทนในอนาคต ดังนั้นหากใครสามารถคาดการณ์อนาคตได้แม่นยำ ก็จะสามารถบริหารจัดการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า การเข้าใจและคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยจึงมีความสำคัญและมีประโยชน์สำหรับผลตอบแทนการลงทุนของเราอย่างมาก