บล.หยวนต้ายก 7 หุ้นได้ดี เงินเฟ้อติดลบหนุนลดดอกเบี้ย

HoonSmart.com>>พาณิชย์เผยเงินเฟ้อเดือน มี.ค. -0.47% แย่กว่าตลาดคาดที่ -0.4% หดตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ตามราคาอาหารและพลังงาน รวมเฉลี่ย 3 เดือน -0.79% ปรับคาดการณ์ปีนี้ 0-1% จากเดิม -0.3 ถึง 1.7% ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดเงินเฟ้อจะตีกลับเป็นบวกได้ตั้งแต่เดือนพ.ค.เป็นต้นไป  บล.หยวนต้ามองเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง บอนด์ยีลด์มีโอกาสลดลงบนความคาดหวังกนง.ปรับลดดอกเบี้ย ส่งผลดีต่อหุ้น SAWAD, GULF,SC ,NOBLE,3BBIF,LHHOTEL,TRUE  

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือนมี.ค.2567 อยู่ที่ 107.25 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ลดลง -0.47% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ใกล้เคียงตลาดคาดการณ์ -0.4% โดยยังคงลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับลดลงของราคาสินค้าในหมวดอาหารสด เช่น เนื้อสุกร ผักสด เนื่องจากผลผลิตในตลาดมีปริมาณมาก ประกอบกับฐานราคาที่สูงในเดือนมี.ค.2566 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ไตรมาสแรกเฉลี่ยลดลง -0.79%

ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่รวมสินค้าหมวดพลังงาน และอาหารสด เดือนมี.ค. อยู่ที่ 104.61 เพิ่มขึ้น 0.37% รวมไตรมาสแรกเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 0.44%

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า  (สนค.) กล่าวว่า ในเดือนมี.ค.67 สินค้าและบริการ ที่ราคาเพิ่มขึ้นจากเดือนก.พ.มีจำนวน 154 รายการ ได้แก่ นมสด, ผักกาดขาว, ผักคะน้า, มะนาว, ส้มเขียวหวาน, น้ำหวาน, ค่าเช่าบ้าน, น้ำมันเชื้อเพลิง, สุรา เป็นต้น

สินค้าและบริการที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลง 170 รายการ ได้แก่ ค่าน้ำประปา, ค่าไฟฟ้า, ก๊าซหุงต้ม, หนังสือพิมพ์, ค่าที่จอดรถ เป็นต้น

สินค้าและบริการที่ราคาลดลง 106 รายการ ได้แก่ เนื้อสุกร, ไข่ไก่, กระเทียม, พริกสด, โฟมล้างหน้า, ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เป็นต้น

ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยยังอยู่ในกลุ่มประเทศที่อัตราเงินเฟ้อต่ำ เป็นอันดับ 4 จาก 136 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และยังคงต่ำที่สุดในอาเซียนจาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (ลาว, เวียดนาม, สิงคโปร์, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย)

ส่วนแนวโน้มเงินเฟ้อในไตรมาส 2/2567 คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาส 1 เนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า นอกจากนี้ ฐานค่าไฟฟ้าในต่ำในปีก่อน โดยเฉพาะเดือนพ.ค.2566 เนื่องจากรัฐบาลดำเนินมาตรการช่วยค่าครองชีพประชาชนในการปรับลดราคาค่าไฟฟ้าลงค่อนข้างมาก ประกอบกับภาคการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จึงทำให้ราคาสินค้าในหมวดที่เกี่ยวข้องปรับตัวสูงขึ้น

“คาดว่าอัตราเงินเฟ้อไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ปีนี้ จะอยู่ที่ประมาณ 0.5-0.6% โดยเฉพาะเดือนเม.ย. เงินเฟ้อยังอาจติดลบได้อยู่ แต่คงลบน้อยมาก หรือถ้าบวกก็บวกไม่มาก (ประมาณ -0.05 ถึง 0.05%) แต่ภาพรวมทั้งไตรมาส 2 คาดว่าจะกลับมาเป็นบวก และไตรมาส 3 ก็คงอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน ที่ราว 0.5-0.6%” นายพูนพงษ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับอยู่ในระดับต่ำได้ ได้แก่ 1. ฐานราคาเนื้อสุกรที่สูงในไตรมาส 2  ปีก่อน แม้ปีนี้ราคาจะมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ยังสูงเพิ่มขึ้นได้ช้า จากมีปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก 2. เศรษฐกิจยังขยายตัวในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง  3. การแข่งขันที่สูงขึ้นของผู้ประกอบการค้าส่ง-ค้าปลีกขนาดใหญ่ รวมทั้งการเติบโตของการค้าอีคอมเมิร์ซ ทำให้มีการใช้นโยบายส่งเสริมการขาย โดยเฉพาะการปรับลดราคาสินค้าอย่างต่อเนื่อง

“กระทรวงพาณิชย์ ได้ปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปี 2567 ใหม่ มาอยู่ที่ 0.0-1.0% หรือค่ากลางที่ 0.5% จากเดิม -0.3 ถึง 1.7% ค่ากลางที่ 0.7%  เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีการทบทวนเป้าหมายใหม่อีกครั้ง”

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองเงินเฟ้อทั่วไปเดือน มี.ค. -0.47% แต่ลดลง จากเดือน ก.พ. ซึ่งอยู่ที่ -0.77% โดยยังคงมองอาจพลิกกลับมาเป็นบวกได้ในเดือนพ.ค.2567 เป็นต้นไป หากภาครัฐทยอยลดการอุดหนุนราคาพลังงาน แต่ท่ามกลางราคาพลังงานในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้นและภาระต้นทุนพลังงานและหนี้สินที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ภาครัฐอาจจำเป็นต้องทยอยปรับเพิ่มราคาพลังงาน และอาจส่งผลให้เงินเฟ้อกลับมาเป็นบวกได้ คาดทั้งปี 2567 เงินเฟ้อทั่วไป คาดว่าเฉลี่ยอยู่ที่ 0.8%

ปัจจุบันค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย. อยู่ที่ 4.18 บาท/หน่วย และมีแนวโน้มจะถูกตรึงไว้ในระดับเดิมในงวดต่อไป ขณะที่การตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไว้ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร และราคาก๊าซหุงต้มที่ 423 บาท/ถังขนาด 15 กก.ได้สิ้นสุดแล้วเมื่อสิ้นเดือน มี.ค. 2567 แต่ทางภาครัฐได้พยายามตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ ลิตร ต่อไปในช่วงสงกรานต์

ด้านบล.หยวนต้า(ประเทศไทย) มองเงินเฟ้อเดือน มี.ค. ที่ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) ไทยมีโอกาสอ่อนตัวลง จากความคาดหวังในการปรับลดดอกเบี้ยของ กนง. ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อ SAWAD, GULF,SC,NOBLE,3BBIF, LHHOTEL,TRUE เป็นต้น