นักลงทุนชอบ KCG กำไรออลไทม์ไฮ รุก M&A เป้า 3 ปีผงาดผู้เล่นระดับภูมิภาค

HoonSmart.com>> “ดำรงชัย วิภาวัฒนกุล” ซีอีโอคนใหม่ “เคซีจี คอร์ปอเรชั่น” (KCG) เปิดวิสัยทัศน์โตยั่งยืน ปรับองค์กรให้คล่องตัวขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ดึงคนรุ่นใหม่เสริมทัพ ใช้พลังงานสะอาด ศูนย์กระจาย-คลังสินค้าครบวงจรเฟสแรกเสร็จเม.ย. รวดเร็ว ลดต้นทุน เดินหน้าพัฒนาสินค้าตามเทรนด์อาหารโลก เพิ่มกำลังผลิต หาโอกาสซื้อกิจการ รายได้โตสองหลัก หนุน All Time High บุกตลาดทั่วภูมิภาค เผยหุ้น KCG ไม่เคยต่ำจอง สถาบันขอข้อมูลหัวบันไดไม่แห้ง นักลงทุนแห่ถือมากถึง 3,000 ราย

นายดำรงชัย วิภาวัฒนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น (KCG) ผู้นำธุรกิจผลิต จัดจำหน่าย และนำเข้าเนย ชีส และผลิตภัณฑ์เพื่อการบริโภคชั้นนำจากทั่วโลก เปิดเผยว่า บริษัทฯได้วางยุทธศาตร์และกลยุทธ์การตลาดอย่างแข็งแกร่งและสอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ผลการดำเนินงานของปี 2566 สร้างสถิติเติบโตสูงสุดเป็นประวัติการณ์(ออลไทม์ไฮ) มีรายได้จากการขาย 7,157 ล้านบาท เติบโต 16.2% และกำไรสุทธิ 305.9 ล้านบาท เติบโต 26.9% จากปีก่อน คาดว่าการเติบโตยังคงออลไทม์ไฮ รายได้ขยายตัว Double Digit หรือปีละสองหลักอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดได้วางแผนงานเพื่อสานต่อความสำเร็จก้าวต่อไป ภายใต้วิสัยทัศน์ “Transition Towards Sustainable Growth” “สร้างองค์กรสู่การเติบโตที่มั่นคง ยั่งยืน และพร้อมสู่อนาคตที่กำลังเปลี่ยนแปลง” โดยกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาใน 2 มิติ ได้แก่ 1. ยุทธศาสตร์ด้านวัฒนธรรมองค์กรโดยยึดหลัก “Heart-driven – Expertise – Agile – Responsible – Teamwork” ด้วยความเชื่อมั่นว่าพนักงานเป็นส่วนสำคัญที่สุดที่จะร่วมขับเคลื่อนองค์กรให้บรรลุสู่เป้าหมายสูงสุด

2. ยุทธศาตร์ทางธุรกิจ เพื่อบรรลุเป้าหมายสร้างอาณาจักรอาหารตะวันตก เนยและชีส ให้เติบโตมั่นคงและยั่งยืน ภายใต้การขับเคลื่อน 7 แกนหลัก ได้แก่ 1.) มุ่งสร้างการเติบโตทางธุรกิจ (Growth), 2.) การพัฒนาบุคลากร (People), 3.) การขับเคลื่ององค์กรด้วยข้อมูลและเทคโนโลยี (Innovation Data & Tech), 4.) การขยายตลาดส่งออก (Export), 5.) ยกระดับศูนย์กระจายสินค้าและคลังสินค้าที่ทันสมัยและครบวงจร (Supply Chain & Inventory), 6.) ยกระดับการผลิตโดยใช้ระบบอัตโนมัติ (Production& Automation) และ 7.) การส่งเสริมสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน (Sustainable Development)

“การเข้าตลาดหลักทรัพย์ เป็นการสร้างแบรนด์ของ KCG ครั้งใหญ่ สามารถดึงคนรุ่นใหม่ที่เก่งๆ เข้ามาร่วมงานมากขึ้น นับตั้งแต่บริษัทเข้ามาจดทะเบียน ราคาหุ้นไม่เคยต่ำกว่าราคา IPO ที่ 8.50 บาท โดยมีนักลงทุนเข้ามาร่วมลงทุนด้วย 3,000 รายและนักลงทุนสถาบันให้ความสนใจมาขอข้อมูลตลอดเวลา เพราะเรามีการเติบโตออลไทม์ไฮ คาดว่าจะยังคงทำได้ต่อเนื่อง จากการเติบโตปกติ ทั้ง B2B และ B2C ขยายตัว 16% ส่งออกก็อยากโตสองหลัก ผ่านการพัฒนาสินค้าตอบโจทย์ของคนรุ่นใหม่ เพิ่มกำลังการผลิต และทำการตลาดอย่างใกล้ชิดกับลูกค้ารายใหญ่ 25 อันดับแรก นอกจากนี้ยังหาโอกาสเติบโตก้าวกระโดดจากการซื้อกิจการ (M&A) และร่วมลงทุน ตอนนี้คุยอยู่หลายราย เปิดรับหมดทั้งต้นน้ำ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบ จนถึงปลายน้ำที่สามารถต่อยอดธุรกิจของบริษัทได้ ขณะเดียวกันมองหาตลาดใหม่ๆ เน้นตลาดในภูมิภาคนี้ โดยมีเป้าหมายเป็นผู้เล่นระดับภูมิภาคนี้ภายใน 3 ปีนี้  บริษัทตั้งงบลงทุนปีละ 400 ล้านบาทในการปรับปรุง และขยายการลงทุน “นายดำรงชัยกล่าว

ล่าสุดวันที่ 22 มี.ค. 2567 ราคาหุ้น KCG ปิดที่ 9.35 บาท -0.25 บาทหรือ -2.60% สูงกว่าราคา IPO ที่ 8.50 บาท ขณะที่ตลาดโดยรวมลดลง

ด้านนายธวัช ธีระนุสรณ์กิจ รองกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส KCG กล่าวถึงเทรนด์อุตสาหกรรมอาหารว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา ได้สร้างอุบัติการณ์ใหม่ทางด้านโภชนาการอาหารทั่วโลก โดยพฤติกรรมของผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ซึ่งสร้าง 5 เมกะเทรนด์ในปี 2567 ได้แก่ 1. Health Beliefs เทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพและสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย 2. Naturally Functional เทรนด์อาหารที่มีการพัฒนาสารเสริมเชิงหน้าที่จากธรรมชาติหรือมีการเติมวิตามินเพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ 3. Weight Wellness เทรนด์อาหารสำหรับการดูแลรูปร่าง 4. Snackification เทรนด์นวัตกรรมอาหารว่างที่ทำให้สะดวกทานง่ายทุกที่และทุกเวลา และ 5. Sustainability เทรนด์ผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับโลก

ส่วนแนวทางการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในปี 2567-2572 บริษัทฯ วางกรอบการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสุขภาพและบริการใหม่ตามเทรนด์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นทั้งในประเทศไทยและระดับโลก เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถเจาะลึกถึงต้องการของผู้บริโภคกลุ่มที่มีไลฟ์สไตล์แตกต่างกัน รวมถึงการต่อยอดสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ทั้งที่ทำจากนม (Dairy Products) และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ไม่ได้ทำจากนม (Non-dairy) พร้อมทั้งร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและพันธมิตรบริษัทชั้นนำจากทั่วโลก เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดอย่างเหมาะสม

นายดนัย คาลัสซี รองกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส KCG กล่าวว่า หลังเข้าตลาดหุ้น บริษัทฯ ได้ลงทุนสร้าง ‘KCG Logistics Park’ หรือศูนย์กระจายสินค้าและคลังสินค้าแบบครบวงจร บนพื้นที่ 15 ไร่ โดยนำเทคโนโลยีมาจัดเก็บผลิตภัณฑ์ของ KCG ซึ่งครอบคลุมทั้ง 3 อุณหภูมิ ทั้งระบบแช่แข็ง (Frozen) ระบบแช่เย็น (Chill) และแบบอุณหภูมิห้อง (Ambient) มาใช้ ทำให้สินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์เนยและชีสมีความสดใหม่ และนำเทคโนโลยีระบบ VMI (Vendor Managed Inventory) มาใช้เพื่อควบคุมระดับสต็อก ลูกค้าไม่จำเป็นต้องลงทุนมากเหมือนที่ผ่านมา และการส่งสินค้าให้ทันเวลาตามความต้องการของลูกค้า ซึ่งช่วยให้สามารถบริหารจัดการต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฟสแรกคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนเม.ย.นี้ และคาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งโครงการภายในไตรมาสที่ 2/2567 ซึ่งเร็วกว่าแผนเดิมที่วางไว้

นอกจากนี้ บริษัทฯยังมีการขยายกำลังผลิตกลุ่มผลิตภัณฑ์ชีสในรูปแบบห่อเดี่ยวเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว จากเดิม 2,106 ตันต่อปี เป็น 4,212 ตันต่อปี ไปเรียบร้อยแล้วเมื่อเดือนต.ค. 2566 และอยู่ระหว่างการขยายกำลังการผลิตเนยจากเดิม 18,000 ตันต่อปี เป็น 23,000 ตันต่อปี ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2568

บริษัทฯ พร้อมเดินหน้าปรับระบบการขนส่งสินค้าด้วยการเพิ่มสัดส่วนการใช้รถไฟฟ้าพลังงานสะอาด (EV Truck) เป็น 30% ของจำนวนรถขนส่งทั้งหมด เพื่อสร้างระบบนิเวศที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในห่วงโซ่คุณค่าอย่างยั่งยืน  รวมถึงโรงงานมีการใช้โซลาร์เซลมาช่วยประหยัดพลังงานด้วย