TOP กำไร 5,863 ลบ. Q1/67 โต 28.7% กำไรสต็อกน้ำมัน

HoonSmart.com>> “ไทยออยล์” (TOP) เปิดกำไรไตรมาส 1/67 ที่ 5,863 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.7% จากงวดเดียวกันของปีก่อน กำไรจากสต๊อกน้ำมันหลังราคาน้ำมันดิบดูไบปรับตัวสูงขึ้น ด้านรายได้จากการขายอยู่ที่ 114,239 ล้านบาท EBITDA 10,949 ล้านบาท คาดไตรมาส 2 ราคาน้ำมันดิบยังสูงขึ้น ส่วนภาพรวมธุรกิจโรงกลั่นในครึ่งปีหลัง 67 มีแนวโน้มปรับสู่สมดุล

บริษัท ไทยออยล์ (TOP) เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2567 มีกำไรสุทธิ 5,862.94 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 2.62 บาท เพิ่มขึ้น 28.7% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 4,554.13 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 2.04 บาท

เมื่อเทียบกับ Q1/66 กลุ่มไทยออยล์มีปริมาณวัตถุดิบที่ป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตของกลุ่มลดลง เนื่องจากการหยุดเดินเครื่องนอกแผนของหน่วยกลั่นนํ้ามันดิบที่ 3 (Crude Distillation Unit 3: CDU-3) เป็นเวลา 13 วัน และมีรายได้จากการขายลดลง 1,704 ล้านบาท ตามราคาขายนํ้ามันสําเร็จรูปของหลายผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง รวมถึงปริมาณการขายลดลงเช่นกัน โดยกลุ่มไทยออยล์มีกําไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่มไม่รวมผลกระทบจากสต๊อกนํ้ามันลดลง 1.4 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สาเหตุหลักจากค่าการกลั่นที่ปรับตัวลดลง เนื่องจากส่วนต่างราคานํ้ามันอากาศยาน/นํ้ามันก๊าด และส่วนต่างราคานํ้ามันดีเซลกับนํ้ามันดิบดูไบที่ลดลง จากอุปทานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังจากการขนส่งจากเอเชียไปยังยุโรปทําได้ยากขึ้นจากเหตุการณ์โจมตีเรือขนส่งในทะเลแดง รวมถึงความต้องการใช้นํ้ามันทําความร้อนปรับตัวลดลง หลังยุโรปหันไปใช้ก๊าซที่มีราคาถูกเพิ่มมากขึ้น

กําไรขั้นต้นจากธุรกิจผลิตนํ้ามันหล่อลื่นพื้นฐานและยางมะตอยที่ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับ Q1/66 จากส่วนต่างราคานํ้ามันหล่อลื่นพื้นฐานกับนํ้ามันเตาที่ปรับตัวลดลงจากอุปทานของโรงผลิตนํ้ามันหล่อลื่นพื้นฐานกลุ่มที่ 2 และ 3 เข้ามากดดันตลาดมากขึ้น และความต้องการใช้นํ้ามันหล่อลื่นพื้นฐานในภูมิภาคยังไม่ฟื้นตัวมากนัก นอกจากนี้ กําไรขั้นต้นจากธุรกิจผลิตสารตั้งต้นสําหรับผลิตภัณฑ์สารทําความสะอาดปรับตัวลดลงเช่นกันจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ปรับตัวลดลงและอุปทานในตลาดสูงขึ้น

ในขณะที่กําไรขั้นต้นจากธุรกิจผลิตสารอะโรเมติกส์ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับ Q1/66 จากส่วนต่างราคาสารเบนซีนกับนํ้ามันเบนซิน 95 ปรับตัวสูงขึ้นจากอุปทานสารเบนซีนโลกตึงตัว

ด้านราคานํ้ามันดิบ จากราคานํ้ามันดิบดูไบเฉลี่ยที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้กลุ่มไทยออยล์มีกําไรจากสต๊อกนํ้ามัน เพิ่มขึ้น 3,421 ล้านบาท จากขาดทุนจากสต๊อกนํ้ามันใน Q1/66 ในขณะที่มีรายการปรับลดมูลค่าสินค้าคงเหลือนํ้ามันดิบและนํ้ามันสําเร็จรูปลดลง 617 ล้านบาท เมื่อรวมกับกําไรจากเครื่องมือทางการเงินที่เกิดขึ้นจริงสุทธิ(รวมเฉพาะรายการที่เกิดจากการป้องกันความเสี่ยงราคาสินค้าโภคภัณฑ์) ส่งผลให้กลุ่มไทยออยล์มี EBITDA เพิ่มขึ้น 2,767 ล้านบาทจาก Q1/66 โดยใน Q1/67

กลุ่มไทยออยล์มีผลขาดทุนจากการวัดมูลค่ายุติธรรมเครื่องมือทางการเงินจํานวน 147 ล้านบาท เทียบกับผลกําไรจากการวัดมูลค่ายุติธรรมเครื่องมือทางการเงินจํานวน 158 ล้านบาทใน Q1/66 นอกจากนี้ ใน Q1/67 มีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนสุทธิ 871 ล้านบาท เทียบกับกําไรจากเครื่องมือทางการเงินจํานวน 571 ล้านบาทใน Q1/66 เมื่อหักค่าเสื่อมราคา ต้นทุนทางการเงิน และค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ ส่งผลให้มีกําไรสุทธิเพิ่มขึ้น 1,309 ล้านบาทจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

สำหรับราคานํ้ามันดิบใน Q2/67 และ 2H/67 มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า หลังสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลางมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ล่าสุดกําลังการผลิตกว่า 20% ของโรงกลั่นในรัสเซียได้รับผลกระทบจากการโจมตีทางอากาศ ในขณะที่กลุ่ม OPEC+ คาดว่าจะคงอัตราการลดกําลังการผลิตต่อไปจนถึง Q4/67 อย่างไรก็ตาม ตลาดยังจับตานโยบายอัตราดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐฯ หลังล่าสุดยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25 – 5.50% และมีแนวโน้มที่จะยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงต่อไปจนถึงปลายปี 2567 เนื่องจากระดับเงินเฟ้อสหรัฐฯยังคงสูงกว่า 2% นอกจากนี้เศรษฐกิจจีนยังคงมีแนวโน้มอ่อนแอจากภาคอสังหาริมทรัพย์ แม้จะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลจีนผ่านการอัดฉีดเงินก็ตาม

ธุรกิจโรงกลั่นในช่วง Q2/67 มีแนวโน้มอ่อนตัวลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ Q1/67 หลังได้รับแรงกดดันจากโรงกลั่นใหม่หลายแห่ง เช่น Al-zour Duqm และ Dangote ดําเนินการผลิตอย่างเต็มกําลัง ส่งผลให้อุปทานเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังได้รับแรงกดดันจากค่าเรือขนส่งสินค้าที่อยู่ในระดับที่สูง ทําให้ให้อุปทานนํ้ามันสําเร็จรูปที่ส่งออกจากเอเชียไปยังยุโรปทําได้ยากขึ้น อย่างไรก็ตาม ธุรกิจโรงกลั่นยังได้รับแรงหนุนจากโรงกลั่นรัสเซียที่ยังคงอยู่ในระหว่างการปิดปรับปรุงจากการถูกโจมตีโดยยูเครน ซึ่งส่งผลให้ตลาดนํ้ามันดีเซลมีแนวโน้มตึงตัว ในขณะที่อุปสงค์นํ้ามันเบนซินปรับตัวสูงขึ้นจากช่วงฤดูกาลขับขี่ของสหรัฐฯ ท่ามกลางปริมาณสต๊อกนํ้ามันเบนซินและดีเซลโลกที่ยังคงอยู่ในระดับตํ่าเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง

ภาพรวมของธุรกิจโรงกลั่นในช่วง 2H/67 มีแนวโน้มปรับสู่สมดุลโดยอ่อนลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 1H/67 แต่ยังถือว่าสูงกว่าระดับก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 เนื่องจากโรงกลั่นขนาดใหญ่ เช่น Dangote (0.65 ล้านบาร์เรลต่อวัน) คาดว่าจะเริ่มดําเนินการผลิตเต็มประสิทธิภาพปี 2567 ส่งผลให้ตลาดนํ้ามันเบนซิน และดีเซลมีอุปทานมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ประเทศในตะวันออกกลางยังคงมีอุปสงค์การนํานํ้ามันเตาไปผลิตไฟฟ้าในขณะที่โรงกลั่นในเอเชียเข้าสู่ช่วงการปิดซ่อมบํารุงที่มากที่สุดในช่วงกลางปี 2567