ดาวโจนส์ปิดพุ่งกว่า 400 จุด เฟดส่งสัญญาณลดดอกเบี้ย 3 ครั้ง

HoonSmart.com>> ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนีดาวโจนส์ปิดพุ่งกว่า 400 จุด ทั้งสามดัชนีหลักปิด all-time high หลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คงอัตราดอกเบี้ยและยังคงสัญญาณปรับลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ ด้าน “ราคาน้ำมันดิบ WTI” ลดลง 1.79 ดอลลาร์ ปิด 81.68 ดอลลาร์ ฟาก “ตลาดหุ้นยุโรป” ปิดลบ แรงขายหุ้นกลุ่มสินค้าหรู นักลงทุนชะลอการลงทุนก่อนรู้ผลการประชุมเฟด

      
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average:DJIA) วันที่ 20 มีนาคม 2567 ปิดที่ 39,512.13 จุด เพิ่มขึ้น 401.37 จุด หรือ +1.03% หลังธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)คงอัตราดอกเบี้ยและยังคงสัญญาณการปรับลดอัตราดอกเบี้ยสามครั้งในปี 2024

ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,224.62 จุด เพิ่มขึ้น 46.11 จุด, +0.89%
ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 16,369.41 จุด เพิ่มขึ้น 202.62 จุด, +1.25%
      
ทั้งสามดัชนีหลักแตะระดับ all-time high ในวันพุธ หลังที่ประชุมเฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ 5.25-5.50% และยังคงยึดการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งภายในปีนี้

ดัชนี S&P 500 พุ่งทะลุระดับ 5,200 จากการเก็งว่าการสิ้นสุดวงจรการปรับขึ้นดอกเบี้ยในเชิงรุกของเฟด จะมีผลทางบวกต่อผลกำไรของบริษัท

เจ้าหน้าที่เฟด มองว่าอัตราดอกเบี้ย fed funds rate จะลดลงเหลือ 4.6% ภายในสิ้นปี 2024 ซึ่งบ่งชี้ว่าเฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.75% ในปีนี้ ซึ่งสอดคล้องกับที่ตลาดคาดการณ์

นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดยังคงย้ำว่า เจ้าหน้าที่เฟดต้องการเห็นข้อมูลเพิ่มเติมว่าเงินเฟ้อกำลังลดลง เและกล่าวว่า เป็นการเหมาะสมที่จะเริ่มผ่อนคลาย “ในบางช่วงของปีนี้

นายพาวเวลล์ กล่าวว่า เฟดระมัดระวังในการตัดข้อมูลบางชุดออก แต่ข้อมูลเงินเฟ้อในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ไม่ได้เปลี่ยนในภาพรวม คืออัตราเงินเฟ้อค่อยๆ ลดลง แม้สะดุดบ้างระหว่างทาง จนเหลือ 2%
      
นอกจากการประกาศนโยบายแล้ว เฟดยังเผยแพร่การคาดการณ์ทางเศรษฐกิจที่อัปเดตในสรุปการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจ (Summary of Economic Projections:SEP) ซึ่งคาดการณ์ว่า GDP ที่เป็นตัวเงินในปีนี้จะขยายตัว 2.1% เพิ่มขึ้นจากประมาณการเดิม 1.4%

หุ้นกลุ่มการเงินปรับตัวสูงขึ้นหลังการตัดสินใจของเฟด จากความคาดหวังว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตต่อไป หุ้นอเมริกันเอ็กซ์เพรส เพิ่มขึ้น 2.8% หุ้นมอร์แกน สแตนเลย์ บวก 3.1% หุ้นเจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค บวก 1.3% หลังจากที่ระหว่างชั่วโมงซื้อขายขึ้นไปที่ระดับ all-time high นับตั้งแต่การเสนอขายหุ้น IPO ในปี 1983

หุ้นกลุ่มที่มีความอ่อนไหวทางเศรษฐกิจซึ่งโดยทั่วไปจะได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจที่กำลังเติบโต ปรับขึ้นโดยกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย กลุ่มอุตสาหกรรม และกลุมต่างเพิ่มขึ้นประมาณ 0.5%

กลุ่มเทคโนโลยีปรับขึ้นเพราะนักลงทุนมองว่าจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง โดยกุ้นอัลฟาเบท หุ้นแอมะซอน หุ้นไมโครซอฟต์ และหุ้น Nvidia เพิ่มขึ้นประมาณ 1% หุ้นเมตาแพลตฟอร์ม เพิ่มขึ้น 1.9% หุ้นแอปเปิ้ลและหุ้นเทสลาบวก
      

ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบ โดยได้รับแรงกดดันจากการเทขายหุ้นกลุ่มสินค้าหรู และนักลงทุนชะลอการลงทุนก่อนการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)เสร็จสิ้นลง

ดัชนีกลุ่มสินค้าของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือนซึ่งเป็นหุ้นกลุ่มฟุ่มเฟือยนำการปรับลงของตลาด โดยลดลง 1.3%

หุ้น Kering ร่วงลง 11.9% สู่จุดต่ำสุดของดัชนี STOXX 600 หลังจากที่กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยของฝรั่งเศสเตือนว่า ยอดขายในไตรมาสแรกมีแนวโน้มลดลงประมาณ 10% โดยได้รับแรงกดดันจากแบรนด์ดัง Gucci เนื่องจากตลาดเอเชียอ่อนแอ

ในกลุ่มเดียวกันหุ้น LVMH , Burberry, Richemont และChristian Dior ลดลง ระหว่าง1.6%-3.2%

เยอรมนีรายงานดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนกุมภาพันธ์ลดลงเมื่อเทียบรายปี ขณะที่เงินเฟ้ออังกฤษชะลอตัวลงกว่าคาด

นักลงทุนผลการประชุมเฟด โดยจับตาไปที่การคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือ Dot Plot เพื่อประเมินทิศทางดอกเบี้ย

ในยุโรปเจ้าหน้าที่ธนาคารสหภาพยุโรป รวมทั้งนางคริสติน ลาการ์ด พยายามลดความคาดหวังการปรับลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง

ดัชนี STOXX 600 ปิดตลาดที่ 505.21 จุด ลดลง 0.02 จุด, -0.004%
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,737.38 จุด ลดลง 0.92 จุด, -0.012%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 8,161.41 จุด ลดลง 39.63 จุด, -0.48%
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 18,015.13 จุด เพิ่มขึ้น 27.64 จุด, +0.15%
     
ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนเมษายนลดลง 1.79 ดอลลาร์ หรือ 2.14% ปิดที่ 81.68 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนพฤษภาคม ลดลง 1.43 ดอลลาร์ หรือ 1.64% ปิดที่ 85.95ดอลลาร์ต่อบาร์เรล